×

กูรูห่วงสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยชัดขึ้น หลังบอนด์ยีลด์ระยะสั้นวิ่งแซงระยะยาว หุ้นสหรัฐฯ ดิ่งหนัก

01.04.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจถดถอย

สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า สัญญาณความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ เริ่มชัดเจนมากขึ้น เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี อยู่ในระดับที่มากกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี

 

โดยขณะนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.331 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี อยู่ที่ 2.337 เปอร์เซ็นต์

 

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เมื่อใดก็ตามที่เส้นโค้งอัตราผลตอบแทนระยะสั้นและระยะยาวพลิกกลับสวนทางกัน เมื่อนั้นก็มีปัจจัยที่ทำให้เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังถดถอย ซึ่งลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2019 ก่อนการระบาดของไวรัสโควิดระลอกแรกในสหรัฐฯ ทำให้ทางการต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์ จนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงปี 2020

 

รายงานระบุอีกว่า มีความเป็นไปได้ถึง 98 เปอร์เซ็นต์ที่สหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในช่วง 2 ปีนับจากนี้

 

ด้านราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างหนักเมื่อวานนี้ (31 มีนาคม) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ เตรียมปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นเวลา 6 เดือน ในความพยายามสยบราคาน้ำมันและก๊าซธรมชาติที่พุ่งแรง

 

ทั้งนี้ถ้อยแถลงของผู้นำสหรัฐฯ ระบุชัดว่า การปล่อยคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์มากสุดเท่าที่เคยมีมาจะทำให้ปริมาณอุปทานมีมากเป็นประวัติศาสตร์ ใช้เป็นสะพานผ่านพ้นอุปสรรคไปจนถึงช่วงสิ้นปี 

 

โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 7.54 ดอลลาร์ ปิดที่ 100.28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 5.54 ดอลลาร์ ปิดที่ 107.91 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ในส่วนของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวานนี้ (31 มีนาคม) นับเป็นอีกหนึ่งวันที่เลวร้ายของนักลงทุน เนื่องจากตลาดร่วงลงอย่างมากจนปิดตลาดในแดนลบ กลายเป็นไตรมาสที่ดิ่งหนักที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี ท่ามกลางบรรยากาศวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย และปัญหาเงินเฟ้อสูงที่กระทบต่อราคาสินค้าและกดดันแนวทางตอบสนองของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)

 

โดยดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ปรับตัวลดลง 550.46 จุด หรือ 1.56 เปอร์เซ็นต์ ปิดที่ 34,678.35 จุด ขณะที่ดัชนี S&P ลดลง 72.04 จุด หรือ 1.57 เปอร์เซ็นต์ ปิดที่ 4,530.41 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 221.76 จุด หรือ 1.54 เปอร์เซ็นต์ ปิดที่ 14,220.52 จุด

 

ความเคลื่อนไหวของตลาดเมื่อวานนี้ยังได้รับแรงกดดันจากรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ Fed ให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 5.4 เปอร์เซ็นต์ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 1983 กระนั้นก็ยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ไว้ระดับ 5.5 เปอร์เซ็นต์

 

ส่วนดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.4 เปอร์เซ็นต์ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 1982

 

เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นไม่หยุดหย่อน ทำให้สถาบันการเงินชั้นนำอย่าง Morgan Stanley, J.P. Morgan และ Goldman Sachs ต่างคาดการณ์ว่า Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50 เปอร์เซ็นต์ในการประชุมเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนนี้

 

อ้างอิง:  

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X