สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 6 โครงการ มูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ในกิจการยานยนต์ไฟฟ้า (EV)-โรงไฟฟ้า ฟาก บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM) ได้ 2 โครงการ กว่าหมื่นล้านบาท พร้อมเสนอสิทธิทางภาษีสูงถึง 8 ปี ในกิจการเรือ-ยานยนต์ EV หวังให้ไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค
ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ BOI เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งเสริมการลงทุน 6 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุน 35,687.43 ล้านบาท ดังนี้
- บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด กิจการผลิตน้ำตาลและน้ำเชื่อม เงินลงทุน 5,071.84 ล้านบาท ตั้งโครงการในจังหวัดสระแก้ว ตามนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยมีกำลังการผลิตน้ำตาลและน้ำเชื่อมปีละ 374,550 ตัน ผลิตเพื่อการส่งออก 1,777.45 ล้านบาทต่อปี
- บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ เงินลงทุน 3,247 ล้านบาท ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก ปีละประมาณ 5,000 คัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ปีละประมาณ 1,000 คัน เพื่อจำหน่ายในประเทศทั้งสิ้น
- บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำปราศจากแร่ธาตุ เงินลงทุน 6,000 ล้านบาท ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี ผลิตไฟฟ้า 157.32 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 75 ตันต่อชั่วโมง และน้ำปราศจากแร่ธาตุ 1,566 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
- บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 2 จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้า ไอน้ำ เงินลงทุน 5,400 ล้านบาท ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี ผลิตไฟฟ้า 157.32 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 75 ตันต่อชั่วโมง
- บริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้า และไอน้ำ เงินลงทุน 11,300 ล้านบาท ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จังหวัดระยอง ผลิตไฟฟ้า 290 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 120 ตันต่อชั่วโมง
- บริษัท บางกอก โคเจนเนอเรชั่น จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำปราศจากแร่ธาตุ เงินลงทุน 4,668.59 ล้านบาท ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ผลิตไฟฟ้า 162 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 90 ตันต่อชั่วโมง และน้ำปราศจากแร่ธาตุ 250 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดยังได้เห็นชอบประเภทกิจการให้การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม ประกอบด้วย กิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ, กิจการดูแลผู้สูงอายุ และกิจการวิจัยทางคลินิก พร้อมทั้งเปิดให้การส่งเสริมรอบใหม่อีก 2 ประเภทกิจการ คือ กิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และกิจการเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งขยายเวลา และปรับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการ ให้สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันในปัจจุบัน
สำหรับการเปิดให้การส่งเสริมการลงทุน EV รอบใหม่นั้น หลังจากหมดระยะเวลาการยื่นคำร้องตั้งแต่ปี 2561 ในครั้งนี้เปิดให้การส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร และรถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า จากเดิมที่มีการส่งเสริมเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าและรถโดยสารไฟฟ้าเท่านั้น โดยหวังว่าไทยจะสามารถเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคได้
ส่วนเงื่อนไข ประกอบด้วย 1. กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก แต่ให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมควบคู่ โดยกรณีที่มีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากลงทุนวิจัยและพัฒนาสามารถได้รับสิทธิเพิ่ม
ในกรณีที่ขนาดการลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตแบบ BEV จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 ผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐาน มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี และมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา
ขณะเดียวเดียวกัน ถ้ามีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid Electric Vehicle หรือ PHEV จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นต้น
ด้านกิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่, สามล้อไฟฟ้า, รถโดยสารไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้า จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี
ทั้งนี้ การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ทุกประเภท ผู้ลงทุนจะต้องเสนอแผนงานรวม เช่น โครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่, โครงการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า, แผนการนำเข้าเครื่องจักรและติดตั้ง, แผนการผลิตในระยะ 1-3 ปี เป็นต้น
นอกจากนี้ คณะกรรมการยังให้ความเห็นชอบปรับปรุงประเภทกิจการต่อเรือ หรือซ่อมเรือให้ครอบคลุมถึงการผลิตเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าด้วย โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
ดวงใจกล่าวว่า สำหรับยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กันยายน) พบว่า มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 1,098 โครงการ เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 22,720 ล้านบาท
สำหรับยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่ 58% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 556 โครงการ มูลค่าการลงทุน 128,980 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 37,550 ล้านบาท, อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร 26,880 ล้านบาท, อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 19,980 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการแพทย์ 14,710 ล้านบาท
ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 9 เดือน พบว่า มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 657 โครงการ ลดลง 1% โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 118,504 ล้านบาท ลดลง 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีการลงทุนเป็นอันดับ 1 รวม 139 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 37,545 ล้านบาท, จีน 129 โครงการ เม็ดเงิน 21,237 ล้านบาท, เนเธอร์แลนด์ 62 โครงการ มูลค่า 17,514 ล้านบาท
ลักษณะธุรกิจของ BGRIM
ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ
รายงาน: ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล