BOI ชูยุทธศาสตร์ ผูกซัพพลายเชนกับสหรัฐฯ ตั้งเป้าให้ไทยเป็นพันธมิตรดึงดูด 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ส.อ.ท. ชี้ ไทยยังมีหวัง! แนะไม่จำเป็นต้องลดภาษีทุกอุตสาหกรรม 0% แบบเวียดนาม
วันที่ 14 ก.ค. 2568 นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวในงานเสวนาโต๊ะกลม ‘กรุงเทพธุรกิจ Roundtable: The Art of (Re) Deal’ ถึงแนวทางการรับมือและดึงดูดการลงทุน หลังสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งประเทศไทยถูกกำหนดเพดานอัตราภาษีไว้ที่ 36% และยังอยู่ระหว่างการเจรจาว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบในหลายมิติ ทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจลงทุน
นอกเหนือจากอัตราภาษีตอบโต้ ยังมีภาษีนำผ่านสินค้า (Transshipment) ภาษีรายสินค้าตามมาตรา 232 เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act ซึ่งปัจจุบันมีการประกาศแล้วในอะลูมิเนียม ทองแดง รถยนต์ และชิ้นส่วนสำคัญบางชิ้น รวมถึงคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ที่ปัจจุบันได้รับการยกเว้นและในอนาคตอาจไม่แน่นอน
อย่างไรก็ดี อัตราภาษีมาตรา 232 นี้เท่ากันทุกประเทศ ทำให้ไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างประเทศ แต่เป็นต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นของภาคธุรกิจ ทำให้บางบริษัทอาจพิจารณาไปลงทุนตั้งฐานผลิตในสหรัฐฯ ที่มีอัตราภาษี 0%
อีกทั้งยังมีเรื่องการจำกัดการส่งออกชิป AI ซึ่งไทยอยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านภาษีไม่ใช่เครื่องตัดสินเพียงหนึ่งเดียวในการลงทุน ยังมีอีกหลายปัจจัยที่นักลงทุนพิจารณา
เพิ่ม ‘เครดิตภาษี’ บรรเทาผลกระทบ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการ Global Minimum Tax ที่ประกาศใช้เป็น พ.ร.บ.ภาษีส่วนเพิ่ม ที่เก็บภาษีขั้นต่ำ 15% ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้น BOI จึงเตรียมแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่ม ‘เครดิตภาษี’ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบ
นฤตม์ย้ำว่า ทิศทางการลงทุนของไทยจากนี้จะต้อง ‘ผูก Supply Chain กับสหรัฐฯ ให้มากขึ้น’ ทั้งการลงทุนสหรัฐฯ ในไทยและการลงทุนไทยในสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ‘ทำให้ไทยเป็นพันธมิตรใน Supply Chain ของสหรัฐฯ’ ในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และด้านดิจิทัล เพื่อให้สหรัฐฯ มองไทยเป็นฐานในการขยายตลาดเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ลงทุนในไทย 135 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 150,000 ล้านบาท และหากรวมบริษัทสหรัฐฯ ที่ลงทุนผ่านสิงคโปร์จะมากกว่า 200,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล ยานยนต์ และอาหาร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 5 ข้อเสนอที่ขุนคลังสหรัฐฯ เอ่ยปากชมไทย เผยเบื้องหลังกุนซือทีมไทยแลนด์…
- พิชัย เพิ่มข้อเสนอเปิดตลาดลดภาษี 0% ให้สินค้าสหรัฐฯ เฉียด 90% ของมูลค่าส่งออก…
- หมูไทยแพ้สหรัฐฯ ทุกทาง KResearch เตือน อาจเสียหายกว่า 112,330 ล้านบาท…
- ไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? วิกฤตขีดความสามารถในการแข่งขัน เมื่อบุญเก่าหมด…
เจาะ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ดึงสหรัฐฯ ลงทุนไทย
สำหรับทิศทางในอนาคต ประเทศไทยยังคงมุ่งเป้าไปที่บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี (Tech-based) โดยมี 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐฯ
- Semiconductor และ Advanced Electronics ตั้งแต่การผลิตชิป ซึ่งไทยโดดเด่นด้านการประกอบและทดสอบขั้นสูง รวมถึงการผลิตฮาร์ดดิสก์สำหรับ Data Center และชิ้นส่วนการผลิตโน้ตบุ๊ก
- Digital และ AI ทั้ง Data Center ระดับ Hyperscale และบริการ Cloud มาตรฐานสูง
- ยานยนต์ ทั้งรถยนต์ของสหรัฐฯ (Ford) และ Big Bike อย่าง Harley-Davidson ซึ่งมีการลงทุนในไทยอยู่แล้วและมีแผนอัปเกรดไปสู่ EV รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์
- อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio-Technology) ผสมผสานเทคโนโลยีสหรัฐฯ กับวัตถุดิบทางการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย รวมถึงไบโอเทคทางการแพทย์
- การเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ เชิญชวนบริษัทสหรัฐฯ มาตั้งสำนักงานใหญ่ (Regional Headquarters) หรือเป็นฐานศูนย์วิจัยในภูมิภาค (R&D)
ชู 5 แต้มต่อที่มากกว่าเรื่องภาษี
นฤตม์ระบุอีกว่า ภาษีไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการตัดสินใจของนักลงทุน แต่ยังมี 5 เรื่องหลักที่ประเทศไทย ‘ได้เปรียบภูมิภาค’
- โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งน้ำ ไฟ นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ และสนามบิน
- Supply Chain โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลัก เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
- บุคลากร ทั้งแรงงานฝีมือ วิศวกร ช่างเทคนิค รวมถึงมาตรการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญต่างชาติผ่าน Smart Visa และ Residence
- สิทธิประโยชน์และมาตรการจากภาครัฐ ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้
- การเข้าถึงตลาด (Market Access) ไทยมีตลาดในประเทศขนาดใหญ่เกือบ 70 ล้านคน มี FTA 17 ฉบับ ครอบคลุม 24 ประเทศ และกำลังเจรจากับ EU เกาหลี และแคนาดา
“หากไทยสามารถเจรจาภาษี Reciprocal Tariffs อยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ มั่นใจว่า 5 ปัจจัยนี้จะเป็นจุดแข็งของไทย และจะเป็นประเทศที่โดดเด่นที่สุดในภูมิภาค”
เอกชนแนะไทยไม่จำเป็นต้องลดภาษีทุกอุตสาหกรรม 0% แบบเวียดนาม
ด้าน นาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองถึงมิติการแข่งขันที่ไทยอาจจะเสียเปรียบคู่แข่ง อย่างมาเลเซียถูกเก็บภาษีเพียง 25% โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมถุงมือยาง ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ปริมาณมาก อาจไม่สามารถอยู่รอดได้อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ทั้งนี้ ส.อ.ท. พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ โดยยินดีจัดทำข้อมูลส่งให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบการพิจารณาลดอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าจากสหรัฐฯ บางกลุ่มอุตสาหกรรมเหลือ 0% เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่สหรัฐฯ แต่ย้ำว่าไม่จำเป็นต้องลดภาษีทุกอุตสาหกรรม 0% แบบเวียดนาม
ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ
- มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty – CVD)
- มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน (Soft Loan)
- มาตรการเยียวยาทางอ้อม บางบริษัทจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานเพื่อพยุงธุรกิจ
ดังนั้นในประเด็นค่าแรงซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ จึงขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาชะลอการปรับขึ้นค่าแรงออกไปก่อน
“ไม่อยากให้ฟังแล้วหมดความหวัง เพราะปัญหาเยอะ ธุรกิจที่ดีก็ยังมี จะเห็นจากวิกฤติต้มยำกุ้งในอดีต ไทยโชคดีที่มีอุตสาหกรรมเกษตรรองรับ แต่ในปัจจุบันราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ รัฐควรมีมาตรการช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition) เพื่อให้อุตสาหกรรมปรับตัวรองรับตลาดได้ ไม่ควรปล่อยให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงจนทำลายกันเองเหมือนที่เกิดขึ้นกับจีน” นาวากล่าว
ภาพ: Javier Ghersi / Getty Images