×

Boeing ขาดทุน 2.4 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 จากผลกระทบโควิด-19 และวิกฤตเครื่องบิน 737 MAX

30.07.2020
  • LOADING...

Boeing ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของโลกเผยผลประกอบการขาดทุน 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (เมษายนถึงมิถุนายน) จากวิกฤตที่เกิดขึ้นกับฝูงบิน Boeing 737 MAX และการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อยอดคำสั่งซื้อและการผลิตเครื่องบิน

 

ในประกาศที่ เดฟ คัลฮูน ซีอีโอของ Boeing ส่งถึงพนักงานบริษัท ระบุว่า ผลกระทบที่ยืดเยื้อของไวรัสทำให้บริษัทต้องประเมินการปรับโครงสร้างพนักงานเพิ่มเติม พร้อมส่งสัญญาณว่า Boeing อาจเดินหน้าปลดพนักงานกว่า 16,000 ตำแหน่ง หรือราว 10% ของพนักงานทั้งหมดตามที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนในตลาดวอลล์สตรีทไม่ได้ประหลาดใจกับตัวเลขผลประกอบการดังกล่าวมากนัก เพราะตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แลัวและรับมุมบวกที่ Boeing เริ่มเดินหน้าการผลิตเครื่องบินแล้ว หลังจากที่ปิดโรงงานไปหลายเดือนจากวิกฤตโรคระบาด โดย Boeing เพิ่งส่งมอบเครื่องบินให้ลูกค้าไป 10 ลำเมื่อเดือนที่แล้ว

 

แต่กระนั้นคัลฮูนเปิดเผยข่าวร้ายว่า Boeing ยังมีแผนลดกำลังการผลิตเครื่องบินพาณิชย์ลงอีก และอาจยุบโรงงานประกอบเครื่องบิน Boeing 787 Dreamliner ทั้งหมดและไปรวมอยู่ในโรงงานผลิตแห่งเดียวกันในอนาคตด้วย

 

“เราจำเป็นต้องประเมินหนทางที่คุ้มค่าที่สุดในการผลิตเครื่องบินตระกูล 787 รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการรวมสถานที่ผลิตในที่แห่งเดียวกัน” คัลฮูนกล่าว แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าว โดยปัจจุบัน Boeing ผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ในโรงงานที่ชาร์ลส์ตัน และโรงงานอีกแห่งใกล้กับซีแอตเทิล

 

ทั้งนี้ Boeing ยังเตรียมลดกำลังผลิตเครื่องบินตระกูล 787 เหลือเพียง 6 ลำต่อเดือน ในปี 2021 จากอัตราปัจจุบันที่ 10 ลำต่อเดือน นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนลดกำลังการผลิตเครื่องบินตระกูล 777 เหลือเพียงเดือนละ 2 ลำ จากเดิม 5 ลำต่อเดือน

 

ก่อนหน้านี้ Boeing เปิดเผยว่า บริษัทสามารถส่งมอบเครื่องบินพาณิชย์ให้ลูกค้าได้เพียง 20 ลำในไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดของ Boeing นับตั้งแต่ปี 1977

 

นอกจากนี้ Boeing ยังเผชิญมรสุมจากโรคระบาดที่กระทบดีมานด์การเดินทางทางอากาศ โดยมีลูกค้าที่เป็นสายการบินหรือบริษัทผู้ให้บริการเช่าเครื่องบินเหมาลำยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบิน 60 ลำในเดือนที่แล้ว ขณะที่เดือนมีนาคมมีการยกเลิกไป 150 ลำ, เดือนเมษายน 108 ลำ และเดือนพฤษภาคม 18 ลำ

 

อย่างไรก็ดี Boeing ยังเหลือคำสั่งซื้อเครื่องบินที่คั่งค้างไว้กว่า 4,500 ลำ ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้โรงงานเปิดดำเนินงานต่อไปได้อีกหลายปี แต่ผลประกอบการในเดือนมิถุนายนเป็นสัญญาณที่ไม่สู้ดีนัก เนื่องจากมีคำสั่งซื้อถึง 843 ลำที่ถูกยกเลิก หรืออยู่ในสถานะคลุมเครือในปี 2020 ขณะที่บริษัทได้รับออร์เดอร์เข้ามาใหม่เพียง 59 ลำเท่านั้น 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising