×

เปิดเส้นทางการแข่งขัน Berlin Marathon และเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นรายการที่ทำลายสถิติโลกมากที่สุด

16.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • Berlin Marathon ถือเป็นรายการที่มีสถิติโลกถูกทำลายมากที่สุด โดยสถิติล่าสุดคือ เดนนิส คิเมตโต (Dennis Kimetto) นักวิ่งปอดเหล็กชาวเคนยาซึ่งทำสถิติโลกไว้เมื่อปี 2014 ที่ 2.02.57 ชั่วโมง
  • สาเหตุหลักที่ทำให้ Berlin Marathon เป็นสนามสำหรับการทำลายสถิติโลกคือ เป็นสนามแข่งที่มีทางเรียบเยอะที่สุด และมีโค้งน้อยกว่าสนามอื่นๆ  โดยจุดออกสตาร์ทของสนามเบอร์ลินมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลที่ 38 เมตร และในระหว่างการแข่งขันพื้นสนามจะไม่สูงกว่า 53 เมตร หรือต่ำกว่า 37 เมตร
  • นอกจากสนามแข่งขันที่เปิดโอกาสให้นักวิ่งได้ทำลายสถิติโลก หรือ สถิติตัวเองแล้ว BMW Berlin Marathon ยังเป็นหนึ่งในสนามแข่งมาราธอนที่สวยที่สุดในโลก เนื่องจากเส้นทางการแข่งขันจะวิ่งผ่านเมืองหลวงเยอรมนี สถาปัตยกรรมอันตื่นตา

     หลังจากที่เราได้สำรวจุดเริ่มต้นของการแข่งขัน BMW Berlin Marathon ที่กำลังจะจัดการแข่งขันเป็นครั้งที่ 44 ในวันที่ 24 กันยายนนี้ เราจะพาคุณไปสำรวจเส้นทาง และสาเหตุหลักว่า ทำไมสถิติโลกของมาราธอน 6 ครั้งหลังสุดถึงได้ถูกทำลายที่สนามแห่งนี้

 

Photo: Fernanda Paradizo/AFP

สนามเรียบและโค้งน้อย เพื่อเป็นบททดสอบความเร็วของนักวิ่ง

     Berlin Marathon ถือเป็นหนึ่งในสนามแข่งขันมาราธอนระดับเมเจอร์ที่นักวิ่งทั่วโลกอยากเข้าร่วมแข่งขัน โดยความพิเศษของเบอร์ลินมาราธอนคือ สถิติโลกที่ถูกทำลายบ่อยที่สุดที่สนามแห่งนี้

     สาเหตุหลักที่สนามแห่งนี้ช่วยให้นักวิ่งทำเวลาได้ดี เนื่องจากพื้นสนามที่เรียบกว่ารายการเมเจอร์อื่นๆ ทั่วโลก โดยจุดเริ่มต้นของการแข่งขันมีความสูงอยู่ที่ 38 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และตลอดเส้นทางการแข่งขันจะไม่มีส่วนใดสูงกว่า 53 เมตร หรือต่ำกว่า 37 เมตร ทำให้นักวิ่งไม่ต้องวิ่งขึ้นหรือลงเขามาก เมื่อเปรียบเทียบกับ London Marathon ซึ่งมีโค้งมากกว่า และที่สำคัญคือ นักวิ่งมักพบกับแรงลมปะทะตัวในระหว่างที่วิ่งเลียบแม่น้ำเธมส์ (Thames) ขณะที่เส้นชัย Boston Marathon ต่ำกว่าจุดออกสตาร์ทมากขนาดที่ไม่สามารถวัดและบันทึกสถิติโลกได้  

     ตลอดเส้นทางของ Berlin Marathon จะราดด้วยยางแอสฟัลต์ซึ่งช่วยให้นักวิ่งปวดเข่าน้อยกว่าที่อื่นๆ ที่ใช้คอนกรีตเป็นสนามแข่งขัน นอกจากนี้ ช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ยังถือว่ามีสภาพอากาศที่เหมาะสมสำหรับการวิ่งมาราธอน โดยในเบอร์ลิน จะมีอุณหภูมิที่ประมาณ 12-18 องศาเซลเซียส ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการวิ่งเพื่อทำความเร็ว

 

Photo: Mkrberlin/ShutterStock

เส้นทางประวัติศาสตร์ในกรุงเบอร์ลิน

     อีกหนึ่งเสน่ห์ของการแข่งขันมาราธอนที่กรุงเบอร์ลิน คือบรรยากาศของการแข่งขัน ซึ่งตลอดเส้นทาง 42.195 กิโลเมตร เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมที่น่าหลงใหล

     โดยจุดสตาร์ทและเส้นชัย นักวิ่งจะเริ่มต้นการแข่งขันที่ประตูบรันเดนบูร์ก (Brandenburg) ซึ่งเป็นประตูที่เป็นสถาปัตยกรรมและศิลปะแบบนีโอคลาสสิก ในยุคศตวรรษที่ 18 เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของเยอรมนี เนื่องจากที่นี่เป็นจุดแบ่งเยอรมนีตะวันออกและตะวันตก หลังจบสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเอง

 

Photo: Neirfy/ShutterStock

     หลังจากออกสตาร์ท นักวิ่งจะได้พบกับ อาคารรัฐสภาของเยอรมนี (เดอะ ไรชส์ทาค The Reichstag) ซึ่งเคยเป็นสถานที่บัญชาการใหญ่สมัยอาณาจักรไรชส์ที่สามปกครองเยอรมนี ซึ่งภายในนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางขึ้นไปชมโดมข้างบน และจะได้พบกับวิวรอบกรุงเบอร์ลินในมุมกว้างจากด้านบน

 

 

 

     ต่อด้วย สวนเทียร์การ์เตน (Tiergarten) สวนสาธารณะกว้างใหญ่ของเมือง ซึ่งมี ‘เสาชัยชนะ’ หรือ ‘เสาชัยชนะแห่งเบอร์ลิน’ (Berlin Victory Column) อยู่ตรงกลาง ซึ่งยอดเสาชัยชนะจะมีรูปปั้น วิกตอเรีย เทพธิดาแห่งชัยชนะ ซึ่งมีน้ำหนัก 35 ตัน โดยคนท้องถิ่นตั้งฉายาว่า Golden Elsie และ ผู้หญิงที่หนักที่สุดในเบอร์ลิน

     เสาชัยชนะแห่งเบอร์ลินนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1864 และใช้เวลาสร้างถึง 9 ปีจนแล้วเสร็จในปี 1873 เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะทั้ง 3 ครั้ง ที่กองทัพปรัสเซีย (เยอรมันในขณะนั้น) มีชัยชนะเหนือเดนมาร์ก, ออสเตรีย และฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากจุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การรวมชาติระหว่างราชอาณาจักรปรัสเซียและเยอรมนีเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นจักรวรรดิ เยอรมันในปี 1871 เสาชัยชนะแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางของสังคมและวัฒนธรรมของชาวเยอรมัน

 

Photo: ilolab/ShutterStock

     จัตุรัสพอสดัมเมอร์ พลัตซ์ (Potsdamer Platz) บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้ง ‘กำแพงเบอร์เบอร์ลิน’ กั้นเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตก ซึ่งในบริเวณนี้ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือว่าเป็นบริเวณที่มีความเจริญรุ่งเรือง แต่ในช่วงสงครามโลก ตึกรามบ้านช่องต่างก็ถูกทิ้งระเบิดจนแทบไม่เหลือหลักฐานของความรุ่งเรืองในอดีต รวมถึงช่วงสงครามเย็นที่เยอรมนีถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ในบริเวณนี้จึงถูกทิ้งร้าง แต่หลังจากที่กำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลงในปี 1989 ทางกรุงเบอร์ลินก็เริ่มโครงการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ จนทุกวันนี้เป็นหนึ่งในย่านที่มีความเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง

 

Photo: Patrky Kosmider/ShutterStock

     พระราชวังชาร์ลอตเตนบูร์ก (Charlottenburg) ถือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่บรรดานักวิ่งจะมีโอกาสได้สัมผัสระหว่างการแข่งขัน โดยพระราชวังแห่งนี้ถือเป็นพระราชวังเก่าแก่ที่ใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในกรุงเบอร์ลิน สร้างในปี 1705 และมีลักษณะเป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมบาโรกและโรโกโก แม้ว่าจะโดนทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ทางเบอร์ลินก็ได้บูรณะซ่อมแซมใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

Photo: TOBIAS/AFP

     นอกจากนี้ตามเส้นทางแข่งขันยังมีศาลากลางเมืองโชนเบิร์ก (Schoneberg) และสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วกรุงเบอร์ลิน ซึ่งเชื่อว่าหลังจากจบการแข่งขัน นักวิ่งจะไม่พลาดโอกาสไปเยี่ยมชมสถานที่เหล่านี้อย่างใกล้ชิดแน่นอน

     Berlin Marathon ถือว่าเป็นอีกหนึ่งรายการที่น่าสนใจสำหรับนักวิ่งทั่วโลก เพราะเราเชื่อว่า ไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการได้วิ่งท่ามกลางบรรยากาศที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่สร้างประเทศเยอรมนีมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

อ้างอิง: 

FYI
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X