เมื่อวานนี้ (7 มิถุนายน) สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ( ขสมก.) เปิดเผยว่าแผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับใหม่จะมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ 1. เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน 2. เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดและลดมลภาวะ และ 3. เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนของ ขสมก. อย่างยั่งยืน และไม่เป็นภาระต่อภาครัฐ
โดยมีเป้าหมายคือ หากแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงได้รับการพิจารณาอนุมัติในที่ประชุม จะทำให้ ขสมก. เดินหน้าลดต้นทุนจัดหารถใหม่ให้ ขสมก. และเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักสำคัญ คือต้องลดค่าโดยสารเหลือวันละ 30 บาท ขึ้นกี่เที่ยวกี่สายก็ได้ไม่จำกัด
พร้อมยกเลิกโครงการจัดซื้อรถโดยสาร ตัดขาดขบวนการเพิ่มหนี้ลดต้นทุนทุกประเภท โดยต่อไปนี้ ขสมก. ไม่ต้องลงทุนเอง แต่จะหันมาใช้โมเดลเดียวกับต่างประเทศ คือการจัดจ้างเอกชนลงทุน จัดหารถเมล์ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือ NGV เท่านั้น เพื่อไม่ก่อมลภาวะโดยเฉพาะละอองฝุ่น PM.2.5 ซึ่งทั้งหมดจะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในวันนี้ (8 มิถุนายน) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานพิจารณาแผนฟื้นฟู ขสมก. ซึ่งนำเสนอโดยกระทรวงคมนาคม
นอกจากนี้ สุระชัยกล่าวเปรียบเทียบแผนฟื้นฟูฉบับเดิมกับแผนฟื้นฟูฉบับปัจจุบัน โดยกล่าวคือ แผนฟื้นฟูเดิมนั้นยังไม่ตอบโจทย์เรื่องของการลดภาระค่าโดยสารจากประชาชน และยังคงสร้างภาระหนี้เพิ่มด้วยการจัดซื้อรถใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2,500 คัน ซึ่งจะต้องใช้วงเงินกู้กว่าสองหมื่นล้านบาท และใช้วิธีการผลักภาระให้ประชาชน โดยเพิ่มค่าโดยสารจากเดิม 9-15 บาทขึ้นเป็น 15, 20, 25 บาท
เมื่อเปรียบจากแผนเดิมเฉลี่ยคนเดินทางไป-กลับ 2.04 เที่ยวต่อวัน ต้องจ่ายค่าโดยสารอย่างน้อย 48 บาทต่อวัน แต่แผนใหม่จะเป็นการจ่ายทั้งวัน 30 บาท จะขึ้นกี่สายกี่เที่ยวก็ได้ไม่จำกัด โดยมีแผนรองรับเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรนักเรียนหรือบัตรรายเดือน เพื่อเป็นการรองรับผู้โดยสารที่มีรายได้น้อย
ที่สำคัญแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงนี้จะทำให้ต้นทุนการให้บริการของ ขสมก. ลดลงจาก 54 บาทต่อกิโลเมตร แต่เมื่อจ้างเอกชนเดินรถจะลดลงเหลือไม่ถึง 34 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งสอดคล้องกันกับข้อมูลของ สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ ที่กล่าวว่า “สิ่งที่เกิดในอดีตของ ขสมก. ที่มีปัญหามากพอสมควรคือ โครงสร้างต้นทุนค่อนข้างสูง ได้แก่ บุคลากรและเชื้อเพลิง โดยปัจจุบัน ขสมก. มีพนักงานเกือบ 14,000 คน รถ 1 คัน ต้องใช้พนักงานขับรถถึง 3 คน ซึ่งล่าสุดมีพนักงานเก็บค่าโดยสาร 5,781 คน ตรงนี้คือต้นทุนโครงสร้างด้านบุคลากร ส่วนโครงสร้างด้านเชื้อเพลิง ถ้าเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าหรือ NGV ก็จะช่วยลดต้นทุนได้อีกทาง”
ทั้งนี้ นอกจากต้นทุนต่อกิโลเมตรลดลงแล้ว แผนฟื้นฟูฉบับใหม่มีความจำเป็นต้องกำหนดเส้นทางเดินรถใหม่ครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางบนค่าโดยสารใหม่ทั้งวันได้แบบไร้รอยต่อ ซึ่งแต่ละเส้นทางต้องไม่ทับซ้อนกันเหมือนทุกวันนี้ ที่มีจำนวนรถโดยสารอยู่บนท้องถนนมากเกินไป ยกตัวอย่างเช่น เส้นทางบนถนนพหลโยธินเพียงสายเดียวมีเส้นทางเดินรถทับกันถึง 30 เส้นทาง เฉลี่ยเส้นทางละ 30 คัน เท่ากับมีรถเมล์ 900 คัน จอดเรียงรายบนถนนพหลโยธิน รถเมล์ 1 คันยาว 12 เมตร เท่ากับเราเสียพื้นที่ถนนไป 10 กิโลเมตร แต่ถ้าใช้แผนฟื้นฟูฉบับแก้ไขปรับปรุงเราจะลดจำนวนรถเมล์ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ผอ. ขสมก. ย้ำว่า โดยส่วนตัวตนมีความเชื่อมั่นว่า แผนฟื้นฟูฉบับนี้ตอบโจทย์ได้ทุกข้อ เชื่อเรามาถูกทางแล้ว “ถ้าแผนฟื้นฟูไม่สำเร็จ ผมพร้อมพิจารณาตัวเองเปิดทางให้คนอื่นมาบริหาร ขสมก.” สุระชัย กล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์