ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ฉบับปรับปรุง หลังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สคม.) ตีกลับแผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับปรับปรุง ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้หารือในรายละเอียดกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์อีกครั้ง ว่าการเสนอแผนดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นการทำตามขั้นตอนโดยมีจุดประสงค์เพื่อ ‘ขอเปลี่ยนแผนฟื้นฟูเดิมที่ ครม. เคยอนุมัติเมื่อปี 2562’ ให้มาเป็นแผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับปรับปรุง ซึ่งจะเปลี่ยนให้รถเมล์เป็นผู้ขนส่ง (Feeder) นำคนไปในระบบรถไฟฟ้า 14 เส้นทางในอนาคต
“ก่อนหน้านี้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือกลับมาให้ทางกระทรวงคมนาคมไปเคลียร์กับสภาพัฒน์ก่อน ทางกระทรวงคมนาคมจึงทำหนังสือส่งเลขาสภาพัฒน์ว่าต้องทำอย่างไรกันแน่ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบอย่างเป็นทางการ” ชยธรรม์กล่าว
ชยธรรม์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ทางเลขาธิการสภาพัฒน์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแล้วว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิด และสามารถนำเรื่องเข้า ครม. ได้เลย ทางกระทรวงคมนาคมจึงรอหนังสือตอบอย่างเป็นทางการ ถ้าตอบตามที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ทางเราก็จะส่งหนังสือยืนยันไปที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้า ครม. ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนฟื้นฟู ขสมก. ไม่ได้ติดอยู่ที่สภาพัฒน์และกระทรวงคมนาคม ไม่จำเป็นต้องนำแผนฟื้นฟูฯ มาให้สภาพัฒน์พิจารณาก่อนเสนอที่ประชุม ครม. โดยเรื่องนี้อาจเป็นการเข้าใจผิด
“ยืนยันว่าสภาพัฒน์ไม่ได้มีประเด็นอะไรเกี่ยวกับแผนฟื้นฟู ขสมก. ซึ่งก่อนหน้านี้สภาพัฒน์ได้ส่งความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูฯ ไปยัง ครม. นานมากแล้ว โดยไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด เวลานี้หากแผนพื้นฟูฯ จะเข้า ครม. ก็เข้าไปได้เลย ไม่ต้องส่งมาที่สภาพัฒน์ เรื่องที่ต้องส่งมาคือแผนที่ ขสมก. จะลงทุนซื้อรถเมล์ใหม่ อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์พร้อมที่จะชี้แจง และเตรียมนัดหารือกับทางกระทรวงคมนาคมในเร็วๆ นี้ หากเรื่องนี้จะมีประเด็นน่าจะอยู่ที่เรื่องภาระหนี้ของ ขสมก. มากกว่า โดยเป็นเรื่องของสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ไม่ได้เกี่ยวกับสภาพัฒน์แต่อย่างใด” ดนุชากล่าว
สำหรับรายละเอียดแผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับปรับปรุง สาระสำคัญของแผนประกอบไปด้วย
- การเปลี่ยนรถเมล์ใหม่ทั้งหมด ด้วยวิธีการเช่าวิ่งตามระยะทาง ขสมก. ไม่ต้องเป็นเจ้าของรถเมล์ และแยกภาระค่าบำรุงรักษาเอง
- รถเมล์ทั้งหมดเป็นระบบพลังงานสะอาด กำหนดให้ใช้เพียงพลังงานก๊าซ NGV และพลังงานไฟฟ้า EV เท่านั้น
- มีการปฏิรูปเส้นทางเดินรถใหม่ทั้งระบบ ลดการวิ่งในเส้นทางที่ซ้ำซ้อน และลดปริมาณรถเมล์บนถนน
- ค่าบริการเหมาจ่ายวันละ 30 บาทตลอดวัน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว โดยหากซื้อเป็นรายเดือนจะมีส่วนลด และมีตั๋วแบบเที่ยวเดียวราคา 15 บาท
ส่วนชยธรรม์กล่าวอีกว่า แผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับปรับปรุง เป็นการทำแผนเพื่อรองรับสำหรับอนาคต เมื่อรถไฟฟ้า 14 เส้นทางเสร็จสมบูรณ์ เราก็จะปรับรถเมล์เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ขนส่งผู้โดยสารเข้าไปในระบบรถไฟฟ้า โดยไม่มีอุปสรรคเหมือนรูปแบบเดิม
เมื่อปรับเส้นทางลดจำนวนรถเมล์ลง คนที่จำเป็นต้องใช้รถเมล์ ต้องต่อรถเมล์บ่อยขึ้น
จึงปรับเป็นตั๋ว 30 บาทต่อวัน แต่ถ้าขึ้นครั้งเดียว 15 บาท โดยใช้ระบบ E-Ticket เพื่อป้องกันการรั่วไหลของค่าโดยสาร และเมื่อรู้ว่าคนขึ้นรถตรงไหนมาก ก็จะสามารถปรับเส้นทางได้
“ส่วนการบริหารจัดการ ขสมก. จะไม่เป็นเจ้าของรถเมล์อีกต่อไป แต่จะใช้ระบบจ้างเอกชนวิ่งตามระยะทาง โดยรถที่ใช้ต้องเป็นรถ EV เท่านั้น เพื่อลดมลภาวะ โดยในระยะสั้นรถเมล์ของ ขสมก. ที่จะใช้อยู่คือรถ NGV 489 คันเท่านั้น” ชยธรรม์กล่าว
ส่วนการบริหารหนี้ ขสมก. ชยธรรม์กล่าวว่า ถ้า ขสมก. ทำตามระบบนี้ คาดว่าจะควบคุมค่าใช้จ่ายและหารายได้เพิ่มได้ และภายใน 7 ปี เมื่อรายได้มากกว่ารายจ่าย ทาง ขสมก. จะเริ่มชำระเงินต้นให้รัฐบาล แต่ในช่วงนี้ก็ใช้วิธีเดิม คือขอจ่ายดอกเบี้ยอย่างเดียว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์