×

สภา กทม. เห็นชอบเพิ่มงบประมาณ วงเงิน 9.9 พันล้าน แก้ปัญหาประชาชน ตามที่ผู้ว่าฯ เสนอ

โดย THE STANDARD TEAM
20.02.2023
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์) ที่สภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภา กทม. เป็นประธานการประชุมสภา กทม. สมัยประชุมวิสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คณะผู้บริหาร กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ชัชชาติได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. …. โดยจ่ายขาดจากเงินสะสมของ กทม. ระบุว่า

 

ตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง เงินสะสม พ.ศ. 2562 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 ข้อ 12 กำหนดให้กรณีที่ กทม. มีความจำเป็นจะต้องจ่ายขาดเงินสะสมให้กระทำได้ในกรณีที่เป็นกิจการที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กทม. และที่มีความจำเป็นหรือเร่งด่วนเกี่ยวกับการบริการชุมชนและสังคม หรือเป็นกิจการซึ่งแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรง หรือเป็นกิจการที่เป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้ กทม. และต้องเป็นไปตามแผนพัฒนากรุงเทพฯ หรือตามที่มีกฎหมายกำหนด และให้คำนึงถึงฐานะเงินสะสมของ กทม. ด้วย อย่างไรก็ดี กทม. ต้องดำเนินการก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกินปีงบประมาณถัดไป หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ตกเป็นเงินสะสม

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า กทม. มีความจำเป็นเร่งด่วนในการบริการชุมชนและสังคม และให้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในการดำเนินการซ่อม สร้าง ช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และจากการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ

 

โดยสถานะการเงินการคลังของ กทม. ณ วันที่ 27 มกราคม 2566 กทม. มีเงินฝากธนาคาร 91,685.62 ล้านบาท โดยเป็นเงินสะสมจำนวน 56,270.34 ล้านบาท หรือคิดเป็น 61.37% ภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 จำนวน 213 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 76,406.44 ล้านบาท ฐานะเงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพันประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ วันที่ 27 มกราคม 2566 จำนวน 36,843.65 ล้านบาท

 

ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. …. วงเงินงบประมาณ 9,999,312,010 บาท จำแนกตามลักษณะงาน ประกอบด้วย

  • ด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย จำนวน 61.44 ล้านบาท (0.61%)
  • ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง จำนวน 136.10 ล้านบาท (1.36%)
  • ด้านสาธารณสุข จำนวน 328.81 ล้านบาท (3.29%)
  • ด้านเมืองและการพัฒนาเมือง จำนวน 2,619.62 ล้านบาท (26.20%)
  • ด้านการจัดบริการของสำนักงานเขต จำนวน 2,907.67 ล้านบาท (29.08%)
  • ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 3,945.67 ล้านบาท (39.46%)

 

ด้าน สุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก. เขตจอมทอง กล่าวว่า ขอขอบคุณฝ่ายบริหารที่เห็นความจำเป็นและเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งงบกลางคืองบที่ใช้สำหรับแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก ในส่วนของร่างงบประมาณสำนักการระบายน้ำถือว่ามีประโยชน์ เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ตะวันออก

 

แต่ที่จะติคือเรื่องประตูระบายน้ำคลองสามเสน-คลองบางซื่อ พบว่าไม่มีการเสนอเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงอยากสอบถามว่าเป็นเพราะอะไร ในครั้งประชุมพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญก็ได้สอบถามไปแล้วแต่ยังไม่มีการบรรจุเพื่อขอรับงบประมาณแต่อย่างใด ซึ่ง 3-4 เดือนหน้าจะเข้าสู่ฤดูฝนอีกครั้ง ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. คงไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน

 

สุทธิชัยกล่าวต่ออีกว่า สถานีสูบน้ำสามเสนและสถานีสูบน้ำบางซื่อมีความจำเป็นเพราะฝนตกน้ำท่วมและผู้สื่อข่าวให้ความสนใจ เพราะการสูบน้ำการดึงน้ำไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ได้รับโอนจากกรมชลประทานมากว่า 30 ปี ทั้ง 2 สถานีมีการสูบน้ำเพียง 30% ทั้งที่เป็นสถานีสูบน้ำที่สำคัญของกรุงเทพฯ อีกทั้งเครื่องเก็บขยะที่สถานีสูบน้ำสามเสนใช้งานไม่ได้เลย ส่วนเครื่องเก็บขยะที่สถานีสูบน้ำบางซื่อใช้งานได้ 2 เครื่อง จาก 17 เครื่อง นอกจากนี้สถานีสูบน้ำทั้ง 2 แห่ง ไม่มีปั๊มน้ำสำรองหากไฟฟ้าดับ

 

สำหรับงบประมาณของสำนักการโยธาพบว่ามีการตั้งงบประมาณเพื่อเวนคืนที่ดินหลายจุด ซึ่งในพื้นที่เขตทุ่งครุของ ส.ก. กิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ มีปัญหาการจราจรติดขัดหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณถนนประชาอุทิศ 9 เขตทุ่งครุ ที่ต้องเร่งดำเนินการเนื่องจากมีสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มีประชาชนอาศัยหนาแน่น แต่ขนาดถนนเท่าเดิม จึงขอให้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเวนคืนที่ดินพร้อมรองรับการขยายถนนต่อไปในอนาคตด้วย

 

นอกจากนี้ยังพบว่าที่ผ่านมาการของบประมาณของสำนักการโยธาเพื่อปรับปรุงฟุตปาธทางเท้าและผิวจราจรมีจำนวนมากหลายแห่ง หน่วยงานที่ออกแบบควรกำหนดรูปแบบมาตรฐานให้สวยงามและมีความปลอดภัยสำหรับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา รวมทั้งตรวจสอบภายหลังการดำเนินการและควบคุมงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งควรติดตามเพื่อให้งบประมาณที่ใช้ไปคุ้มค่าและเกิดประโยชน์

 

สุทธิชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ฝ่ายบริหารชี้แจงข้อเท็จจริงความล่าช้าโครงการต่างๆ เช่น โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิต เขตพระนคร และโครงการเรือไฟฟ้าของสำนักการจราจรและขนส่ง ซึ่งได้หยุดให้บริการมานานกว่า 3 เดือนแล้ว รวมถึงการขอยืมรถดูดเลนจากสำนักการระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาท่อระบายน้ำอุดตันในพื้นที่เขตจอมทอง ซึ่งหากเขตจอมทองขอจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อรถดูดเลนในครั้งต่อไปขอให้ฝ่ายบริหารพิจารณาด้วย เนื่องจากมีความสำคัญและจำเป็นมาก

 

ด้าน พีรพล กนกวลัย ส.ก. เขตพญาไท กล่าวว่า งบประมาณปี 2566 ที่สภา กทม. ได้พิจารณาเห็นชอบไปแล้ว พบว่ามีการใช้ไปเพียง 10% แต่ในวันนี้ฝ่ายบริหารจะมาของบประมาณเพิ่มเติม จึงเกรงว่าจะเป็นการซ้ำซ้อนกับงบประจำปีเดิมหรือไม่ และเหตุใดไม่ขับเคลื่อนการใช้งบประมาณประจำปีที่มีอยู่ โดยเฉพาะสำนักการโยธามีการของบประมาณเพื่อปรับปรุงทางเท้าจำนวนมาก แต่ กทม. ไม่เคยมีมาตรฐานทางเท้าที่เหมือนกันเลย และต้องซ่อมแซมทุก 2-3 ปี รวมถึงการเว้นระยะทางเท้าบริเวณหน้าบ้านเรือนประชาชน ทำให้ประชาชนที่เดินผ่านต้องเดินขึ้น-ลงทางเท้า ควรทำเป็นเนินราบเพื่อให้เจ้าของบ้านขับรถขึ้นไปแทน เพื่อให้ผู้ที่เดินเท้าได้รับความสะดวกเช่นเดียวกับผู้ที่ขับรถ สำหรับข้อสังเกตเพื่อทำถนนเส้นใหม่ ขอให้มีการออกแบบทางเท้า ท่อระบายน้ำ ท่อร้อยสายลงดิน ไปพร้อมกัน เพื่อไม่ต้องขุดเจาะหลายครั้งและก่อให้เกิดความไม่สวยงาม ซึ่งการใช้งบประมาณต้องให้ได้ประโยชน์และสวยงามด้วย

 

พีรพลกล่าวต่อว่า กรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ เพราะประชาชนเป็นล้านคนได้เชื่อมั่นและมอบคะแนนเสียงให้ และการใช้งบประมาณต้องครอบคลุมกระจายทุกหน่วยงานให้เท่าเทียมกัน เนื่องจากประชาชนคาดหวังจากท่านมาก การเปลี่ยนแปลงนี้เชื่อว่าจะทำได้

 

ขณะที่ สัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ส.ก. เขตวัฒนา กล่าวว่า จากประมาณการงบประมาณที่ผ่านมาพบว่ารายรับจริงของ กทม. เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อเปิดประเทศเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่มีคำถามในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณของแต่ละพื้นที่เขต และ ส.ก. ในฐานะตัวแทนพี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในจุดใดได้บ้าง เขตอาจมีความรู้ในเรื่องการจัดสรรงบประมาณที่ดี แต่ ส.ก. เองก็มีความรู้ เพราะเห็นปัญหาประชาชนอยู่เป็นประจำ

 

นอกจากนี้ในเรื่องของทางเท้า เขตวัฒนามีหลายซอยที่เชื่อมต่อกับเขตพื้นที่อื่น เช่น ซอยนานา แต่จากข้อมูลพบว่าเป็นพื้นที่การดูแลของสำนักการโยธา จึงขอทราบว่าความเป็นไปได้ในการโอนภารกิจดูแลจากสำนักการโยธาเพื่อให้เขตพื้นที่ดูแลเอง และในฐานะคณะกรรมการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และการงบประมาณ ในอนาคตจะขอให้ กทม. พิจารณาเรื่องค่าเหยียบแผ่นดินหรือภาษีนักท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลเรียกเก็บ ควรจัดสรรให้ กทม. ด้วย เนื่องจาก กทม. จะได้นำมาพัฒนาและดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเขต กทม. ต่อไปได้

 

ส่วน สมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก. เขตคลองสาน กล่าวว่า นโยบายของผู้บริหารที่ผ่านมาจะเน้นคำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณเป็นหลัก แต่ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และความพร้อมของเขตด้วย โดยอาจจัดทำเป็นเวิร์กช็อปเพื่อสรุปภาพรวมปัญหาอุปสรรค แนวทางการดำเนินการที่เขตต้องการ เพื่อจัดทำคำของบประมาณและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตรงจุด ซึ่งการคำนึงถึงแต่ความคุ้มค่าโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนจะทำให้การทำงานแก้ไขความเดือดร้อนยากขึ้น

 

ทั้งนี้ที่ประชุมสภามีมติเห็นชอบรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. .… และให้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ 35 ท่าน กำหนดการแปรญัตติภายใน 7 วันทำการ และจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับจากวันที่สภารับร่างข้อบัญญัติฯ เป็นครั้งแรก คือภายในวันที่ 5 เมษายน 2566

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising