×

กทม. ลุยตรวจ 8 จุดทำการค้าย่านดุสิต ย้ำผู้ค้าต้องจัดสรรให้มีทางคนเดิน หากพบไม่เรียบร้อยสั่งหยุด 1 เดือน

โดย THE STANDARD TEAM
13.07.2022
  • LOADING...
กทม.

วันนี้ (13 กรกฎาคม) จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) พร้อม ศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ธานินทร์ เนียมหอม ผู้อำนวยการเขตดุสิต และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ตรวจจุดทำการค้าในพื้นที่เขตดุสิต จำนวน 8 จุด 

 

จุดที่ 1 ข้างกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ป้ายรถประจำทางถนนพิษณุโลก ถึงประตูทางออกคุรุสภา (อยู่ระหว่างการทบทวน) 

 

จุดที่ 2 หน้าตลาดเทวราช ฝั่งถนนพิษณุโลก (อยู่ระหว่างการทบทวน) ฝั่งถนนสามเสน (อยู่ระหว่างการทบทวน) ฝั่งถนนลูกหลวง (อยู่ระหว่างการทบทวน) 

 

จุดที่ 3 ถนนสังคโลก ตั้งแต่ปากซอยสังคโลก (ฝั่งซ้าย) ถึงประตูทางเข้าสำนักงานตรวจสอบบัญชีกองทัพบก (อยู่ระหว่างการทบทวน) 

 

จุดที่ 4 หน้าตลาดศรีย่าน ตั้งแต่แยกศรีย่าน ถึงปากซอยศรีย่าน 1 ถนนนครไชยศรี 

 

จุดที่ 5 ตรงข้ามกรมชลประทาน ปากซอยสามเสน 20 ถึงแยกศรีย่าน 

 

จุดที่ 6 ตรงข้ามตลาดศรีย่าน ถนนนครไชยศรี ตั้งแต่แยกศรีย่าน ถึงหน้าบ้านเลขที่ 401/5 

 

จุดที่ 7 หน้าตลาดราชวัตร ตั้งแต่หน้ากรมสรรพสามิต ถึงหน้าบ้านเลขที่ 137 และหน้าบ้านเลขที่ 757 ถึงปากซอยมิตรอนันต์ 

 

จุดที่ 8 ข้างวัดสะพานสูง ตั้งแต่ข้างถนนพระรามที่ 6 ตัดถนนเตชะวณิช ถึงกองซ่อมประปาบางซื่อ (บริเวณบ้านเลขที่ 268/2)  

 

จักกพันธุ์กล่าวว่า เมื่อปี 2548 ในพื้นที่เขตดุสิต มีจุดทำการค้าอยู่ทั้งหมด 38 จุด ปัจจุบันคงเหลือจุดทำการค้าจำนวน 8 จุด โดยได้ผ่านการพิจารณาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) แล้วจำนวน 5 จุด มีผู้ค้าอยู่ประมาณ 486 ราย 

 

ซึ่งจุดทำการค้าเหล่านี้จะต้องปฏิบัติไปตามระเบียบ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ตั้งอยู่ในแนวเส้นสีขาว ไม่ยื่นล้ำออกมา จากที่ทางสำนักงานเขตได้ขีดสีตีเส้นไว้ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย การค้าขายจะต้องมีกฎเกณฑ์อยู่ โดยได้ทำในลักษณะให้ผู้ค้าดูแลกันเอง ถ้าทำไปแล้วไม่เรียบร้อยอาจจะให้หยุดทำการค้าประมาณ 1 เดือน

 

ทั้งนี้หากกรณีที่ยังปฏิบัติไม่เป็นไปตามระเบียบก็มีสิทธิที่จะยกเลิกจุดทำการค้านั้นได้ แต่ในขณะนี้จุดทำการค้าทั้ง 5 จุด ทางผู้อำนวยการเขตดุสิตรายงานว่า ผู้ค้าสามารถปฏิบัติภายใต้กฎระเบียบได้ดี อีกทั้งบริเวณตลาดศรีย่านในอดีตนั้นถือว่าเป็นจุดทำการค้าตัวอย่างของพื้นที่เขตดุสิต 

 

จักกพันธุ์กล่าวต่ออีกว่า ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจและผู้อำนวยการเขตดุสิตกำชับผู้ค้าให้ปฏิบัติตามระเบียบนั้นอย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวกันการกำหนดจุดทำการค้าโดยในหลักเกณฑ์แล้วจะมีการต่อใบอนุญาตปีต่อปี ซึ่งการจะต่อใบอนุญาตนั้น กทม. จะเสนอไปยัง บช.น. เพื่อพิจารณาต่อไป 

 

ขณะนี้ในพื้นที่เขตดุสิต มีจุดทำการค้าอยู่ 8 จุด ซึ่งมีอยู่เพียง 5 จุดเท่านั้นที่ บช.น. อนุญาตให้ทำการค้าได้ ส่วนที่เหลืออีก 3 จุด จะมีประเด็นในเรื่องทางเท้าแคบเป็นหลัก ขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาต แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ตอนนี้ผู้ค้ายังทำการค้าขายอยู่ ซึ่งสำนักงานเขตดุสิตและสำนักเทศกิจจะเสนอทบทวนเข้าไปใหม่

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ค้าจะตั้งวางของขายอยู่ 2 แนว ซึ่งมีผู้ค้าอยู่ประมาณ 172 ราย การที่มีผู้ค้าตั้งอยู่ 2 แนวนั้น ทำให้เกิดคับแคบและหนาแน่น ประชาชนเดินสวนกันลำบาก ที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกันทั้งสำนักเทศกิจ สำนักงานเขต และสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ในพื้นที่ โดยจะให้ผู้ค้าที่อยู่แนวด้านนอกติดถนน ย้ายมาอยู่ด้านในที่อยู่ติดกับแนวกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ 

 

ซึ่งทุกฝ่ายต่างมีความเห็นตรงกันว่า หากทำอย่างนั้นได้แล้ว จะช่วยลดความแออัด เป็นการกระจายผู้ค้าออกไปให้อยู่ในแนวเดียวกันยาวติดกับกำแพง ประชาชนจะสามารถใช้ทางเท้าในการเดินทางสัญจรได้สะดวกขึ้น 

 

นอกจากนี้จะพิจารณาในเรื่องของร่ม เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกัน อาจจะทำเป็นลักษณะยาว หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อไม่ให้ยื่นล้ำออกมาในพื้นผิวจราจร โดยมอบหมายให้สำนักเทศกิจนำไปหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาจจะเป็นธนาคารหรือห้างร้านหรือผู้ค้าเอง เพื่อจะได้มีร่มที่ใช้สำหรับกันแดดกันฝนในรูปแบบลักษณะเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย 

 

จักกพันธุ์กล่าวด้วยว่า พื้นที่ทางเท้าที่กว้าง 3 เมตร ให้ผู้ค้าทำการค้าขาย 1 เมตร ส่วนที่เหลืออีก 2 เมตร เป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้ใช้เดินทางสัญจร เป็นการใช้พื้นที่ทางเท้าให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ผู้ค้ามีพื้นที่ตั้งวางขายสินค้า และประชาชนคนเดินถนนได้แวะจับจ่ายใช้สอย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising