×

กทม. ตั้งศูนย์ประสานเหตุ โครงสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังพังถล่ม กำชับกู้ภัยประเมินความเสี่ยงก่อนเข้าพื้นที่ หวั่นถล่มรอบสอง

โดย THE STANDARD TEAM
11.07.2023
  • LOADING...
สะพานข้ามแยก ลาดกระบัง

วานนี้ (10 กรกฎาคม) เมื่อเวลา 18.00 น. ที่ผ่านมา พ.ต.อ. พรรณลบ สำราญสม ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล (สน.) จรเข้น้อย ได้รับแจ้งเหตุทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มลงมาทับรถ ประชาชน และคนงานได้รับบาดเจ็บ 

 

โดยเหตุเกิดที่บริเวณหน้าศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมด้วย วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักโยธา และอาสามูลนิธิร่วมกตัญญู 

 

ที่เกิดเหตุเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ในส่วนของตัวโครงสร้างของทางยกระดับทั้งตัวคานและเสาได้พังลงมาจากความสูงประมาณ 20 เมตร ทำให้เศษของโครงสร้างและเสาโดนรถที่โดยสารผ่านไปมาบริเวณถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง

 

วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า สถานการณ์ล่าสุดสามารถนำผู้เสียชีวิตออกมาจากซากโครงสร้างที่พังถล่มได้จนหมดแล้ว และจากนี้กรุงเทพมหานครจะมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกให้แก่ญาติผู้บาดเจ็บและผู้เสียหายเข้ามาประสานติดต่อสอบถามรายละเอียดและรับความช่วยเหลือ

 

สำหรับการก่อสร้างดังกล่าวเป็นการก่อสร้างสะพานข้ามแยกอ่อนนุช-ลาดกระบัง โดยการก่อสร้างเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2564 มาจนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดที่จะต้องแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมปี 2566 และเลื่อนเป็นเดือนธันวาคม 2566 เนื่องจากสถานการณ์โควิดระบาด 

 

วิศณุกล่าวต่อว่า จากการสอบถามวิศวกรที่ดูแลงาน ระบุว่ามีการตรวจสอบความปลอดภัยตามระยะที่กำหนด โดยสาเหตุที่เกิดการถล่มในครั้งนี้ต้องรอตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เบื้องต้นคาดว่ามาจากเครนที่จะยกโครงสร้างมาประกบกันมีปัญหา

 

ต่อมาเวลา 20.30 น. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางมาติดตามความคืบหน้า พร้อมเปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการเข้าไปกู้ภัย เบื้องต้นมีผู้บาดเจ็บ 8 ราย สาหัส 4 ราย และเสียชีวิต 1 ราย 

 

อย่างไรก็ตามประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงหากมีญาติหายไปขอให้โทรมาแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เบอร์ 199 เนื่องจากจุดเกิดเหตุเป็นถนนสาธารณะ อาจทำให้ยังมีประชาชนติดค้างอยู่ภายในได้ จากนี้จะมีการตั้งศูนย์บัญชาการในการทำงาน ขอให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ และขอย้ำว่าอาสาสมัครที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการให้มารายงานตัวที่ศูนย์อำนวยการ เนื่องจากจุดเกิดเหตุยังมีสภาพไม่แน่นอน โครงสร้างที่พังลงมายังมีชิ้นส่วนที่ค้างอยู่ อาจจะมีการพังลงมาเพิ่มเติมได้ 

 

ชัชชาติกล่าวต่อว่า การรื้อถอนจะต้องเป็นไปตามหลักวิศวกรรม โดยจะมีวิศวกรเข้ามาดูแลเนื่องจากสภาพโครงสร้างที่ทรุดลงมายังไม่มีความเสถียร อาจเกิดการพังทลายซ้ำสองได้ ซึ่งทางวิศวกรรวมถึงผู้รับเหมา และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จะเข้ามาดำเนินการร่วมกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising