×

ส.ก. กิตติพงศ์ บอกหน่วยงาน กทม. ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ หวั่นข้อมูลรั่ว-ถูกฟ้องร้อง ด้านรองผู้ว่าฯ สั่งเร่งสำรวจ เจรจาซื้อลิขสิทธิ์ราคาพิเศษ

โดย THE STANDARD TEAM
17.07.2025
  • LOADING...
การประชุมสภากรุงเทพมหานครกับการอภิปรายปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในหน่วยงาน กทม.

วานนี้ (16 กรกฎาคม) ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยสามัญ สมัยที่ 3 กิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก. เขตทุ่งครุ เสนอญัตติด่วน ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งยกระดับการใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์ในหน่วยงานสังกัด กทม. พร้อมเพิ่มมาตรการป้องกันความปลอดภัยด้านไซเบอร์ เนื่องจากพบปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในวงกว้าง เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีและกระทบต่อความมั่นคงของข้อมูลภาครัฐ

 

กิตติพงศ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันแม้ กทม. จะมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ แต่ในทางปฏิบัติกลับยังพบว่าเจ้าหน้าที่บางคนยังแอบลงซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายเพื่อให้สามารถใช้งานได้ครบถ้วน โดยไม่ผ่านการตรวจสอบหรืออนุญาตอย่างเป็นทางการ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์บางเครื่องใช้ระบบปฏิบัติการ Windows รุ่นเก่า แต่ติดตั้ง Microsoft Office เวอร์ชันใหม่ ซึ่งอาจไม่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ หรือกรณีฝ่ายโยธาในสำนักงานเขตที่ใช้โปรแกรม AutoCAD แต่มีใบอนุญาตเพียง 1 ใบในขณะที่มีผู้ใช้งานหลายคน

 

“เรากล้าพูดว่าเรามีซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายอยู่ในหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร… ถ้าวันหนึ่งมีคนไม่หวังดีแจ้งจับ กทม. จะเป็นฝ่ายที่โดน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่ลงโปรแกรมเถื่อน” กิตติพงศ์กล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของ กทม. มีจำนวนหลายหมื่นเครื่อง แต่กลับไม่มีระบบควบคุมหรือจำกัดสิทธิ์การติดตั้งซอฟต์แวร์อย่างเป็นระบบ เปิดช่องให้เกิดการกระทำที่อาจผิดกฎหมายโดยไม่ตั้งใจ

 

กิตติพงศ์ยังกล่าวถึงช่องโหว่ของระบบ MIS และระบบบัญชีทรัพย์สินว่า ขณะนี้ยังไม่มีระบบสำรองที่เพียงพอ หากวันหนึ่งเกิดการโจมตีจากภายนอก ระบบอาจล่มทั้งเครือข่าย พร้อมเตือนว่าข้อมูลของประชาชนในระบบของ กทม. มีความเสี่ยงสูงหากมีการติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อนที่ไม่ปลอดภัย และขณะนี้มีการพูดถึงการฝึกอบรม AI การใช้ ChatGPT หรือเครื่องมือใหม่ๆ แต่พอใช้งานจริงกลับมีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่าย บางคนต้องควักเงินตัวเองเพื่อซื้อพรีเมียม

 

ด้าน อานุภาพ ธารทอง ส.ก. เขตสาทร อภิปรายสนับสนุนญัตติ โดยระบุว่าเรื่องนี้ควรเป็นนโยบายพื้นฐานของ กทม. เนื่องจากหากมีการฟ้องร้องหรือเรียกค่าปรับจากการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในหน่วยงานของรัฐ ผลเสียจะตกอยู่ที่หน่วยงานโดยรวมไม่ใช่ตัวบุคคล พร้อมเน้นย้ำว่าการจัดหาซอฟต์แวร์ในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง ควรเป็นไปอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเรียนการสอนด้านดิจิทัลและการเขียนโค้ดที่กำลังผลักดันในหลักสูตรใหม่

 

ขณะที่ วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงต่อ สภา กทม.ว่า กทม. มีนโยบายชัดเจนในการใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และขณะนี้สำนักดิจิทัลได้ดำเนินการสำรวจความต้องการซอฟต์แวร์จากทุกสำนักงานเขตและทุกสำนัก เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการเจรจากับเจ้าของลิขสิทธิ์ เพื่อขอรับสิทธิใช้งานในราคาที่ถูกลง รวมถึงจะผลักดันให้ใช้ฟรีแวร์หรือโอเพนซอร์สให้มากขึ้นในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม กิตติพงศ์ยังคงตั้งข้อสังเกตว่า แม้มีนโยบายที่ดี แต่ระบบการควบคุมและความรับผิดชอบกลับยังไม่ชัดเจน “อย่ารอให้มีภาพข่าวขึ้นหน้าหนึ่ง ว่า กทม. ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน แล้วค่อยมาแก้ไข”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising