×

เลือกตั้ง 2566 : กทม. ถอดบทเรียนจัดเลือกตั้งล่วงหน้า หาจุดแก้ไม่ให้ 14 พ.ค. เกิดความผิดพลาด พร้อมรายงานเหตุห้องเก็บหีบลงคะแนน

โดย THE STANDARD TEAM
08.05.2023
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (8 พฤษภาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครั้งที่ 11/2566 ว่า วันนี้ได้หารือและเน้นย้ำเรื่องการเลือกตั้ง โดยภาพรวมการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ประชาชนตื่นตัวในการออกมาใช้สิทธิ 

 

โดยมีประชาชนมาใช้สิทธิ 2 แบบ คือ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง จำนวนผู้ลงทะเบียน 5,179 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 4,956 คน คิดเป็น 95.69% และที่เลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้ง จำนวนผู้ลงทะเบียน 811,156 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 744,687 คน คิดเป็น 91.81% 

 

ในส่วนของที่เลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ จำนวนผู้ลงทะเบียน 212 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 208 คน คิดเป็น 98.11% ซึ่งเยอะกว่าการเลือกตั้งในครั้งก่อน ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี และหวังว่าการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ประชาชนจะออกมาลงคะแนนกันอย่างถล่มทลาย 

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ปัญหาหลักๆ ที่พบมีดังนี้

 

เรื่องที่หนึ่ง สภาพอากาศในพื้นที่จัดการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ร้อนจัด ประกอบกับประชาชนให้ความสนใจและเดินทางมาใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้วันที่ 14 พฤษภาคมนี้ มีการติดตั้งพัดลม มีน้ำดื่มให้บริการ จัดจุดรอของประชาชน คาดว่าคงไม่ได้มีปัญหามากเหมือนการเลือกตั้งล่วงหน้า เนื่องจากจำนวนผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหน่วยไม่ได้เยอะเท่าวันเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งมีจำนวนคนหลักหมื่นคนต่อหน่วยเลือกตั้ง 

 

ทั้งนี้ ในอนาคตการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะต้องมีการปรับเรื่องการใช้สถานที่ เช่น ใช้สถานที่ของเอกชน ห้างสรรพสินค้า เพราะสะดวกในเรื่องของเครื่องปรับอากาศ ที่จอดรถ การเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 

 

เรื่องที่สอง การให้ข้อมูลแก่ประชาชนให้ชัดเจน เนื่องจากมีประชาชนสับสนในเรื่องกระบวนการที่ต้องหาจุดลงทะเบียนว่าลงที่ไหนอย่างไร เช่น หน่วยที่วัดธาตุทอง

 

เรื่องที่สาม การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางเขตห้วยขวาง มีกรณีเจ้าหน้าที่ไม่ได้กรอกรหัสเขตเลือกตั้งหน้าซองใส่บัตรเลือกตั้ง ซึ่งผู้มาใช้สิทธิได้ทักท้วง และเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการแก้ไขตามที่ได้มีการทักท้วงแล้ว 

 

รวมถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางเขตดินแดง มีกรณีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกรอกข้อมูลเขตเลือกตั้งผิด ซึ่งในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้แก้ไขให้ถูกต้อง โดยกระทำต่อหน้าผู้ทักท้วง สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งผู้ทักท้วงไม่ติดใจ พร้อมลงลายมือชื่อในแบบทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (ส.ส. 5/10) และกรรมการประจำหน่วยได้รายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง (ส.ส. 5/6) เป็นที่เรียบร้อยตามกระบวนการแล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม ความคลาดเคลื่อนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจังต่อไป

 

ชัชชาติยังได้กล่าวถึงการทำงานของกล้อง CCTV ห้องมั่นคง (ห้องเก็บรักษาหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า) ทั้ง 33 เขตเลือกตั้ง ได้เปิดให้ติดตามทางออนไลน์ผ่านลิงก์ https://general-election.bangkokcc.com/ ซึ่งจะมี 3 เขต ที่ไม่มีการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต ได้แก่ หนองจอก มีนบุรี และสะพานสูง 

 

โดยในช่วงเช้าวันนี้ได้มีการแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวของ 3 เขตนี้เข้ามาค่อนข้างเยอะ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดห้อง เพราะเห็นว่าเป็นห้องที่ไม่มีหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า นอกจากนี้เมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. ที่เขตคลองสาน พบการแจ้งเตือนการเคลื่อนไหว จึงได้โทรศัพท์สอบถามผู้อำนวยการเขตว่าเกิดอะไรขึ้น ได้ความว่าเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้ามาผลัดเปลี่ยนเวร จึงได้กำชับไปว่าหากไม่จำเป็นห้ามเข้าห้องดังกล่าว 

 

ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า จะเห็นได้ว่า CCTV และระบบตรวจจับการเคลื่อนไหว (Motion Detect) มีข้อดีคือสามารถตรวจจับได้ตลอดเวลา และแจ้งเตือนทันทีเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่เรากำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้ โดยเรื่องนี้จะให้ปลัด กทม. ขจิต ชัชวานิชย์ รายงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า กทม. ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อให้ทาง กกต. ได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าการเปิดภาพ CCTV ให้ประชาชนสามารถติดตามออนไลน์ได้มีข้อขัดข้องหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน

 

สำหรับในช่วงบ่ายวันนี้ สำนักงาน กกต. กทม. ร่วมกับสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม. จะจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการ (ECT Report) ซึ่งจะทำให้ทราบว่าคะแนนเลือกตั้งในแต่ละขั้นตอนก่อนประกาศผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ส่วนแนวคิดที่ทาง กทม. จะมีการรายงานจำนวนผู้มาใช้สิทธิตามช่วงเวลาระหว่างวัน ปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ เพราะเกี่ยวข้องกับกระบวนการของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งในข้อกำหนดไม่ได้กำหนดให้กรรมการต้องมารายงานตัวเลขเหล่านี้ 

 

ในส่วนที่จะสแกนภาพ 5/18 (กระดานนับคะแนน) เพื่อใช้ AI มาอ่านนั้น เข้าใจว่าตอนนี้ กกต. ไม่ขัดข้องที่จะใช้เป็นข้อมูลภายใน แต่การเผยแพร่สู่ภายนอกต้องมีการหารือให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง ส่วนตัวเข้าใจ กกต. เพราะว่าถ้าตัวเลขมีความขัดแย้งกันอาจสร้างความสับสนแก่ประชาชนได้ เพราะการใช้ AI นั้นไม่ได้มีความแม่นยำ 100% อาจมีความคลาดเคลื่อน แต่ในภาพรวมไม่ได้มีข้อกังวล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X