วันนี้ (11 พฤษภาคม) ที่สำนักงานเขตพระนคร ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร สุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน กรุงเทพมหานคร และ เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบขั้นตอนและมาตรการการเก็บรักษาบัตรลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566
ศานนท์กล่าวว่า วันนี้ที่เขตพระนครเป็นการตรวจเยี่ยมห้องมั่นคง หรือห้องเก็บบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการวางแผนความปลอดภัยด้วยระบบกล้องวงจรปิดที่ออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงและระบบจับความเคลื่อนไหวที่จะแจ้งเตือนการเข้า-ออกของห้องจัดเก็บบัตร
สำหรับห้องมั่นคงมีภารกิจหลักคือการเก็บรักษาบัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10-12 พฤษภาคมนี้ จะมีบัตรทยอยเข้ามาที่สำนักงานเขตเพิ่มเติมอีก 2 ส่วน คือบัตรเลือกตั้งสำหรับใช้วันที่ 14 พฤษภาคมที่จะเข้ามาจำนวน 140,000 ใบ
ศานนท์กล่าวต่อไปว่า หน้าที่ของสำนักงานเขตหลังจากรับบัตรทั้ง 2 ส่วน คือการตรวจรับและตรวจสอบความเรียบร้อยของจำนวนให้ตรงกับบัญชีที่รายงาน อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ประชาชนที่ติดตามการถ่ายทอดสดกล้องวงจรปิดของ กทม. อาจจะเกิดความสงสัยว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปทำอะไรในห้องจัดเก็บบัตรเลือกตั้ง
ประเด็นนี้ กทม. อยากชี้แจงว่าในห้วงเวลาดังกล่าวมีภารกิจการรับบัตรเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเข้าไปตรวจเช็กจำนวนบัตร ส่วนที่ทำไมไม่ปรากฏภาพเหมือนกันทุกเขต เพราะว่าบางเขตจัดห้องสำหรับเก็บบัตรที่ลงคะแนนแล้วแยกกับบัตรที่เตรียมใช้วันที่ 14 พฤษภาคม
ด้านเอกวรัญญูกล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติงานจะมีการแจ้งรายละเอียดชัดเจน ทั้งในส่วนออฟไลน์ที่หน้าห้องสำนักงานเขต และออนไลน์ที่มีป้ายกำกับในเว็บไซต์ที่ส่งให้ประชาชนรับชม
ขณะที่ศานนท์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทาง กทม. ได้ส่งหนังสือสอบถามและขออนุญาตใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเลือกตั้งกับทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เช่น การติดกล้องวงจรปิด, ระบบ Optical Character Recognition (OCR) เปลี่ยนข้อความที่อยู่ในรูปภาพให้อยู่ในรูปแบบของข้อความ อำนวยความสะดวกเรื่องการรายงานผล ซึ่ง กกต. ส่งหนังสือตอบรับมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาแล้ว
สำหรับประเด็นการติดกล้องวงจรปิดที่ทำอยู่ เห็นตรงกันว่าเพื่อความโปร่งใส แต่ส่วนเทคนิคการรายงานผลได้เน้นย้ำกลับมาทาง กทม. ว่า จะต้องไม่ทำให้เกิดภาระงานกับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ซึ่ง กทม. รับส่วนนี้มาปรับต่อไป แต่เป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะไม่มีการติดกล้องวงจรปิดเพื่อจับภาพประชาชนเข้าลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้ง เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัว รวมทั้ง กกต. ไม่อนุญาตให้มีการตั้งกล้องเพื่อนับจำนวนคนเข้า-ออกหน่วยเลือกตั้งด้วย
ศานนท์กล่าวต่อไปว่า ทางผู้ว่าฯ กทม. ได้กำชับอย่างจริงจังให้ดูแลความโปร่งใส เพราะการเลือกตั้งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และเป็นความหวังของทุกคนที่อยากจะใช้สิทธิ ใช้เสียง ฉะนั้นในห้องปฏิบัติงานต้องโปร่งใสอย่างแท้จริง
สำหรับเขตพระนครเป็นเขตแม่ที่จะกระจายบัตรลงคะแนนเลือกตั้งสำหรับวันที่ 14 พฤษภาคมให้กับอีก 5 เขตต่างๆ ประกอบด้วย เขตพระนคร ที่มีอยู่ 63 หน่วยเลือกตั้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางรัก และเขตดุสิต ยกเว้นแขวงถนนนครไชยศรี