×

กทม. แถลงวันนี้ ปมทุจริตจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย พร้อมให้ความร่วมมือ หลังเพจดังเปิดข้อมูลงบจัดซื้อ 9 โครงการแพงเกินจริง

โดย THE STANDARD TEAM
06.06.2024
  • LOADING...

วานนี้ (5 มิถุนายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊กชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทยเผยแพร่ข้อมูลระบุว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายเครื่องละ 4 แสนบาท เครือข่าย STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย พบเห็นความผิดปกติในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ส่อแพงจริง ภายในศูนย์กีฬาวารีภิรมย์และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ รวมกัน 2 ที่เกือบ 10 ล้านบาท

 

โดยแบ่งเป็นที่ศูนย์วารีภิรมย์ 4,999,990 บาท จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายจำนวน 11 รายการ ดังนี้

 

  1. อุปกรณ์ลู่วิ่งไฟฟ้า 1 เครื่อง มูลค่า 759,000 บาท

  2. จักรยานนั่งเอนปั่นแบบมีพนักพิง 1 เครื่อง มูลค่า 483,000 บาท

  3. จักรยานนั่งปั่นแบบนั่งตรง 2 เครื่อง มูลค่าเครื่องละ 451,000 บาท

  4. อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้อต้นแขนด้านหน้า 1 เครื่อง มูลค่า 466,000 บาท

  5. อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้อขาด้านหน้าและขาด้านหลัง 1 เครื่อง มูลค่า 477,500 บาท

  6. อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้อช่วงไหล่ อก และหลังแขน 1 เครื่อง มูลค่า 483,000 บาท

  7. อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้ออเนกประสงค์ 1 เครื่อง มูลค่า 652,000 บาท

  8. ชุดดัมบ์เบลพร้อมชั้นวาง 1 เครื่อง มูลค่า 276,000 บาท

  9. อุปกรณ์บาร์โหนฝึกกล้ามเนื้ออเนกประสงค์ 1 เครื่อง มูลค่า 302,490 บาท

  10. เก้าอี้ฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้อง 1 เครื่อง มูลค่า 103,000 บาท

  11. เก้าอี้ฝึกดัมบ์เบลแบบปรับระดับได้ 1 เครื่อง มูลค่า 96,000 บาท

 

และอีกที่คือศูนย์วชิรเบญจทัศ 4,998,800 บาท จำนวน 11 รายการ ราคาสูงผิดปกติเช่นกัน รายการเครื่องออกกำลังกายต่างๆ ที่ กทม. จัดซื้อ เมื่อเทียบกับราคาตลาดแล้วราคาช่างแตกต่างกันสูงมาก เช่น เก้าอี้ฝึกดัมบ์เบลแบบปรับระดับได้ ราคาตลาดเกรดดีไม่เกิน 30,000 บาท แต่ กทม. จัดซื้อในราคา 96,000 บาท งานนี้ส่วนต่างเพียบ

 

เมื่อลองขุดลึกๆ ลงไปอีกพบว่า เฉพาะปี 2567 กทม. จัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องออกกำลังกายกว่า 9 โครงการ ด้วยงบประมาณกว่า 77.73 ล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่อแววแพงเกินจริงเหล่านี้ ทำให้รัฐสูญเสียเงินไปอย่างสิ้นเปลือง ต้องตรวจแบบเข้มๆ อย่างเร่งด่วน

 

นอกจากนี้ทางเพจยังเปิดเผยอีกว่า พบว่ายังมีอีก 7 โครงการ คือ

 

– ศูนย์มิตรไมตรี 11 ล้านบาท

– ศูนย์อ่อนนุช 15.6 ล้านบาท

– ศูนย์วัดดอกไม้ 11.5 ล้านบาท

– ศูนย์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 12.1 ล้านบาท

– ศูนย์นันทนาการ สังกัดสำนักนันทนาการ 17.9 ล้านบาท

– ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) 11.1 ล้านบาท

– ครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพผู้สูงอายุ 24 ล้านบาท

 

รวมเป็นงบกว่า 103.2 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจดูเอกสารเบื้องต้นพบว่าราคาสูงผิดปกติ และมีแค่ 2-3 บริษัทเดิมๆ เท่านั้นที่ผลัดกันได้งาน งานนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจต้องตรวจเข้มๆ

 

กทม. บอก ถ้าผิดจริง ‘ฟันไม่เลี้ยง’ นัดแถลงวันนี้

 

ด้าน ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรณีที่ สตง. ได้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบโครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 11 รายการของศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศและศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) นั้น กทม. ได้ให้ความร่วมมือกับ สตง. อย่างเต็มที่ในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างโปร่งใส

 

ขณะนี้ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงในส่วนการจัดซื้อครุภัณฑ์ของศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ส่งให้ สตง. เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลและจัดเตรียมเอกสารในส่วนของศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศส่งให้เพิ่มเติมต่อไป

 

รวมถึงศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) ได้นำเรื่องกรณีการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายตามโครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 11 รายการของศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศและศูนย์กีฬาวารีภิรมย์เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการที่ผู้ว่าฯ ได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน หากพบว่ามีมูลการทุจริตจะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) และหากผิดวินัยจะส่งทางปลัด กทม. ดำเนินการต่อไป 

 

โดยประชาชนสามารถร่วมตรวจสอบได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ actai.co นอกจากนี้กรุงเทพมหานครจะร่วมดำเนินการกับ สตง. และภาคีต่างๆ ตรวจสอบโครงการอื่นๆ ด้วยความละเอียด รอบคอบ และโปร่งใสต่อไป

 

ด้าน สมบูรณ์ หอมนาน รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญในการดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการ e-bidding ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ทุกประการ ส่วนที่มาของราคากลางนั้นจะต้องตรวจสอบว่าได้ดำเนินการสืบราคาจากท้องตลาดเป็นไปตามที่ระเบียบและหนังสือสั่งการกำหนดหรือไม่

 

ทั้งนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยตัวแทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) ได้นัดหมายสื่อมวลชนรับฟังประเด็นดังกล่าว พร้อมตอบคำถามข้อสงสัยในการซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายของศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศและศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ ที่หน้าห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) ในวันนี้ (6 มิถุนายน) เวลา 08.30 น.

 

ภาพ: ONE 31

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X