วานนี้ (5 เมษายน) สุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. …. ได้รายงานผลการพิจารณาและข้อสังเกตของคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อให้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 พิจารณาในวาระที่ 2 และวาระที่ 3
สำหรับร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. …. ได้ตั้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. …. เป็นจำนวนไม่เกิน 9,732,487,710 บาท เป็นรายจ่ายพิเศษ โดยจ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้ กทม. ใช้ในการบริการชุมชนสังคมที่มีความเร่งด่วนและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในการดำเนินการซ่อม สร้าง ช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงจากการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้มีข้อสังเกตทั่วไปและข้อสังเกตเฉพาะหน่วยงานหลายประการ ข้อสังเกตทั่วไป ได้แก่
- หน่วยรับงบประมาณจักต้องเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อดำเนินการก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกินปีงบประมาณถัดไป เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังของ กทม.
- หัวหน้าหน่วยรับงบประมาณควรกำชับ ควบคุม ตรวจสอบ ผู้ควบคุมงานให้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ กทม. และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ
- หน่วยรับงบประมาณควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เพื่อนำไปแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน ในกรณีที่ไม่สามารถขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน
- สำนักงบประมาณ กทม. ควรกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทางการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งควรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด
- การขอจัดสรรงบประมาณควรสำรวจปัญหาและความต้องการของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายในหน่วยงานให้ครบถ้วนก่อน เช่น การปรับปรุงอาคาร ควรสำรวจทั้งอาคารว่าจะต้องปรับปรุงบริเวณใดบ้าง เพื่อที่จะได้ขอจัดสรรงบประมาณและปรับปรุงให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกัน
- การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องต่างๆ ควรมีการวางแผนระยะยาว เพื่อบรรลุเป้าหมายและเกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์
- การขอจัดสรรงบประมาณควรระบุรายละเอียดและจำนวนเงินที่เกี่ยวกับแผนดำเนินงานด้านการศึกษาเพื่อประกอบการพิจารณางบประมาณ เนื่องจากปัจจุบันสถิตินักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. มีจำนวนลดลง
- กทม. ควรหาแนวทางบริหารจัดการกรณีนักเรียนต่างด้าวที่ศึกษาในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากเป็นภาระงบประมาณของ กทม.
- กทม. ควรหาแนวทางแก้ไขอัตรากำลังบุคลากรของสำนักและสำนักงานเขตที่มีไม่เพียงพอเพื่อให้การขับเคลื่อนภารกิจของ กทม. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของข้อสังเกตเฉพาะหน่วยงาน ได้แก่
สำนักการแพทย์: ควรจัดหาหุ่นจำลองทางการแพทย์และทรัพยากรทางการศึกษาสำหรับการเรียนการสอนแก่นักศึกษาแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามหน่วยกิตรายวิชาจากมหาวิทยาลัยที่ได้ทำสัญญาความร่วมมือในการผลิตแพทย์นั้น โรงพยาบาลควรพิจารณาความเหมาะสมว่าสามารถใช้เงินนอกงบประมาณในการจัดซื้อได้หรือไม่ เพื่อแบ่งเบาภาระงบประมาณของ กทม.
สำนักอนามัย: ควรเร่งรัดดำเนินการการปรับปรุงอาคารศูนย์บริการสาธารณสุขให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ
สำนักการโยธา: ควรวางแผนการควบคุม ป้องกันฝุ่นละออง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพของเจ้าหน้าที่และประชาชนบริเวณใกล้เคียง และควรจัดทำรูปแบบมาตรฐานการปรับปรุงผิวจราจร ซอย และทางเท้า ระดับความสูงของผิวจราจร ทางเท้า ตลอดจนการเลือกใช้วัสดุที่คงทนชนิดเดียวกัน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานของสำนักและสำนักงานเขต รวมทั้งเพื่อให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
สำนักการระบายน้ำ: ควรพัฒนาปรับเปลี่ยนเครื่องเก็บขยะจากมอเตอร์ปรับเกียร์ที่ควบคุมการทำงานด้วยระบบ Actuator เป็นระบบ Pre-Collision System (PCS) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับกล้องและเรดาร์ เพื่อตรวจจับวัตถุที่อยู่ด้านหน้าและส่งสัญญาณผ่านเซ็นเซอร์อัตโนมัติ การจ้างเหมาล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำควรเร่งประสานกรมราชทัณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ สภา กทม. ได้ลงมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. …. และจะส่งให้ฝ่ายบริหารประกาศเป็นข้อบัญญัติต่อไป
“ขอขอบคุณสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและส่วนราชการทุกท่านที่ได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดด้วยความรอบคอบ ทั้งสำนักการระบายน้ำที่ทำงานแก้ปัญหาน้ำท่วม สำนักการโยธาที่ทำงานปรับปรุงถนน แก้ปัญหาจราจรให้คนกรุงเทพฯ สำนักการแพทย์และสำนักอนามัยที่ดูแลสุขภาพของประชาชนชาวกรุงเทพฯ และ 50 สำนักงานเขตที่รวบรวมปัญหาและของบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ขอบคุณฝ่ายบริหารที่ร่วมเป็นกรรมการและเห็นพ้องในการพิจารณางบประมาณครั้งนี้” สุทธิชัยกล่าว