×

‘ชัชชาติ’ ย้ำประกาศจัดพื้นที่ชุมนุม เพราะประชาชนคือเจ้าของสถานที่ ขอปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น พร้อมรับฟังความเห็นต่าง หาไอเดียพัฒนาเมือง

โดย THE STANDARD TEAM
24.06.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (24 มิถุนายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงกรณีที่ กทม. ออกประกาศพื้นที่ชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพฯ ทั้ง 7 แห่งว่า ทาง กทม. ตัดสินใจประกาศ 7 จุดให้ทำกิจกรรมชุมนุมสาธารณะ มีผัง มีรูปแบบที่ชัดเจนในการใช้พื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 6 โซน 

 

ซึ่งประกาศนี้เป็นประกาศครั้งแรกของ กทม. ผู้มาชุมนุมต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดย กทม. จะมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ ส่วนมาตรการความมั่นคง ตำรวจจะเข้ามาดูแล โดยยืนยันว่าการออกประกาศดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จะทำกิจกรรม เพราะ กทม. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับส่วนนี้ 

 

สำหรับการประกาศจัดสถานที่ให้มาทำกิจกรรมชุมนุมฉบับนี้จะมีการทดลองใช้ก่อน 1 เดือน ว่าจะเป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ในการใช้พื้นที่หรือไม่ และสุดท้ายจะดูว่าการชุมนุมเป็นไปตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หรือไม่ 

 

ชัชชาติยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ในที่ประชุมมีหลายคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ตนเองเชื่อว่าประชาชนคือเจ้าของพื้นที่ของ กทม. หากจัดให้ประชาชนมีพื้นที่แสดงออก มองว่าจะลดการลงไปใช้พื้นที่บนถนนได้ แต่ต้องขอความร่วมมือด้วยว่าให้กระทำโดยอยู่ในกรอบของกฎหมาย และต้องไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่น

 

ส่วนประเด็นเรื่องการขออนุญาต ชัชชาติกล่าวว่า อยากให้ขออนุญาตผู้ดูแลสถานที่ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อที่ กทม. จะได้เตรียมอุปกรณ์ในการดูแลได้ดีขึ้น แม้กฎหมายไม่ได้บังคับก็ตาม ส่วนการกำหนดเวลาเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงก็ต้องขออนุญาตในการใช้เครื่องขยายเสียงที่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้วย และต้องคำนึงถึงคนอื่นๆ ที่อยู่รอบข้างพื้นที่

 

ในส่วนการชุมนุมที่ลานคนเมืองวันนี้ได้มีการหารือแล้ว ซึ่งจะให้ใช้พื้นที่ 60% เหลือ 40% ให้คนทั่วไปใช้ออกกำลังกาย และใช้รองรับกรณีฉุกเฉินได้ โดยจะให้ผู้อำนวยการเขตเป็นผู้อำนวยการเหตุในพื้นที่ การดูแลในภาพใหญ่ให้รองผู้ว่าฯ กทม. และที่ปรึกษาดูแล 

   

ทั้งนี้ชัชชาติกล่าวถึงประเด็นว่าจะร่วมลงไปในพื้นที่ด้วยหรือไม่ว่า เป็นไปตามโอกาสที่เหมาะสม ถ้าหากตนเองลงไป คงไปเดินเล่น กินขนม ฟังความคิดเห็นผู้คน เพราะการไปฟังความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย การจัดพื้นที่ให้ก็เป็นพื้นฐานของการมีพื้นที่ให้คนแสดงความเห็นที่แตกต่าง และเมื่อไรก็ตามที่คนรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างได้ ความขัดแย้งก็จะน้อยลง

 

หากมีความเห็นต่างกันก็แลกเปลี่ยนกัน อย่าโกรธกัน เกลียดกัน เปรียบเหมือนบรรยากาศเวลาไปฟังเพลง เราอาจจะไม่ชอบเพลงนี้ก็ได้ แต่ก็ไปฟังเพื่อแลกเปลี่ยนกัน และอีกมิติหนึ่งอาจจะเป็นการแสดงความเห็นที่ไม่ต้องด่ากัน ไม่ต้องทะเลาะกัน และต้องไปด้วยใจสร้างสรรค์ อย่าไปด้วยใจทะเลาะ หากตนเองได้ไปฟังความเห็นก็อาจจะได้ไอเดียใหม่ๆ มาพัฒนาเมือง

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า วันนี้บรรยากาศกรุงเทพฯ ดีขึ้น อีกไม่กี่เดือนก็จะเลือกตั้งใหญ่แล้ว เราทุกคนอยากจะฟังว่าความเห็นเป็นอย่างไร แต่ขออย่าเปลี่ยนการแสดงความเห็นในที่สาธารณะให้กลายเป็นเรื่องอื่น

 

ในส่วน 7 สถานที่ใน กทม. ที่ประกาศให้จัดเป็นพื้นที่ชุมนุมคือ 

 

  • ลานคนเมือง เขตพระนคร รองรับได้ประมาณ 1,000 คน
  • ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง รองรับได้ประมาณ 800 คน
  • ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา (ใกล้ซอยวิภาวดีรังสิต 36) เขตจตุจักร รองรับได้ประมาณ 300 คน
  • ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง เขตพระโขนง รองรับได้ประมาณ 150 คน
  • ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี รองรับได้ประมาณ 100 คน
  • ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ รองรับได้ประมาณ 900 คน
  • สวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน รองรับได้ประมาณ  200 คน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising