วันนี้ (27 มิถุนายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงกรณีการเตรียมนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่การนำสายสื่อสารลงดิน แต่เป็นการตัดสายไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นออก ซึ่งถ้าทำได้จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอัคคีภัยได้อย่างมาก
การนำสายสื่อสารลงดินต้องทยอยทำ เพราะเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการค่าเช่าสายและการลงทุน ซึ่งทาง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT (วิสาหกิจของ กทม.) ก็ยังประสบปัญหานี้อยู่ เพราะเป็นเรื่องเทคนิค เนื่องจากมีผู้ประกอบการน้อยรายและ กทม. ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ในกระบวนการทำต้องหารือร่วมกับผู้ประกอบการ เพราะ กทม. เองไม่อยากให้ต้นทุนการนำสายสื่อสารลงดินต้องกลายเป็นต้นทุนของผู้บริโภค หากมีค่าดำเนินการแพง สุดท้ายต้องไปเก็บเงินกับผู้ประกอบการ สุดท้ายก็เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคอยู่ดี และไม่ได้เพิ่มมูลค่าอะไรให้กับผู้บริโภค แต่เป็นการช่วยลดความรกรุงรัง
“สำหรับเรื่องนี้ต้องคำนวณเรื่องต้นทุนให้ดี ซึ่งต้องทำอย่างละเอียดและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้หากจะรอนำสายลงดินอาจใช้เวลานาน ขั้นแรกที่ทำได้ต้องเริ่มจากตัดสายตายก่อนตามกระบวนการ เมื่อตัดสายตาย เชื้อเพลิงที่อยู่บนสายก็น้อยลง ลดความเสี่ยงด้านอัคคีภัย และความรกรุงรังก็น้อยลง” ชัชชาติกล่าว
ด้าน วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการหารือ เพราะศักยภาพในการทำงานของบริษัทกรุงเทพธนาคมอาจจะไม่สามารถทำได้ โดย กทม. อาจจะรับเรื่องนี้มาเป็นเจ้าภาพเอง แต่ก็ต้องมีการประสานงานกับทุกฝ่าย ไม่ได้ดำเนินการเอง