‘บลูบิค กรุ๊ป’ กางกลยุทธ์ ‘Growth at Scale’ เร่งผนึกบริษัทในเครือขยายการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจผ่านกิจการร่วมค้า-ควบรวมกิจการ โฟกัสธุรกิจที่มีศักยภาพ เข้าเสริมทัพบริการ ตั้งเป้าสร้างรายได้ปี 2566 โต 120%
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโควิดสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกของธุรกิจและดิจิทัลอย่างมาก มิหนำซ้ำยังส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคให้มีความซับซ้อนมากขึ้น จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ ‘บลูบิค กรุ๊ป’ ที่ปรึกษาผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ต้องทรานส์ฟอร์มธุรกิจอยู่เป็นระยะๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- บลูบิค สยายปีกสู่เวียดนาม ดักอานิสงส์รัฐบาลเร่งส่งเสริมเทคฯ ในประเทศ ดันดีมานด์ Digital Transformation
- BBIK ฮอต! กองทุนชั้นนำไทย-ต่างประเทศ แห่จองหุ้น PP ล้น รับเงินระดมทุนมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท
- Bluebik ชักธงรบ เปิดตัว 5 สมาชิกบอร์ดบริหาร ‘ธนา เธียรอัจฉริยะ’ นำทัพ เล็งแต่งตัวเปิด IPO เข้าตลาด mai
พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บลูบิค กรุ๊ป หรือ BBIK กล่าวว่า ที่ผ่านมายุทธศาสตร์หลักของบลูบิค กรุ๊ป มุ่งเดินหน้าให้ความสำคัญในการขยายฐานลูกค้าผ่านการทำตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงการควบรวมกิจการ Tech Company ได้แก่ บริษัท วัลแคน ดิจิทัล เดลิเวอรี่ จำกัด (VDD) และบริษัท อินโนวิซ โซลูชั่นส์ จำกัด (Innoviz) เข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอ เพื่อสร้างความแกร่งให้กับกลุ่มบริการ แน่นอนว่าได้สะท้อนมูลค่างานในมือรวมทั้งหมด 979 ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานปี 2566 บริษัทให้ความสำคัญกับการเติบโตแบบ ‘Growth at Scale’ ผ่านกลยุทธ์ 3 วางแนวทาง เริ่มตั้งแต่ การจับมือกับบริษัทในเครือ ขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่เป็นองค์กรขนาดกลางและภาครัฐ เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว
ตามด้วยการเพิ่มน้ำหนักในการพัฒนาโซลูชันและแอปพลิเคชันที่สามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานระดับหลายร้อยล้านคน ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถรับงานขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทได้ ทั้งนี้ถือว่ามีโอกาสอย่างมาก เพราะตลาดดังกล่าวยังมีการแข่งขันน้อย โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่าไทยหลายเท่าตัว
ทั้งนี้บริษัทมีข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างราคา ซึ่งจะทำให้บลูบิคกลายเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันสัญชาติไทยที่สามารถเข้าไปแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้
นอกจากนี้ยังเตรียมขยายธุรกิจผ่านกิจการร่วมค้า (Joint Venture) และการควบรวมกิจการ (Mergers & Acquisitions: M&A) โฟกัสธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตและส่งเสริมบริการหลักให้แข็งแกร่งขึ้น อาทิ Big Data การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มและโซลูชันที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรมได้
พร้อมยังมีแผนการขยายธุรกิจไปต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโอกาสทางธุรกิจในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ผ่านมาได้เข้าไปเปิดตลาดในเวียดนามและอินเดียเพื่อรองรับโอกาสโตระยะยาว
ยิ่งไปกว่านั้น กลยุทธ์ข้างต้นจะสามารถสอดรับกับแนวคิดการทำธุรกิจแห่งโลกอนาคต Digital-First Company ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นกลไกในการขับเคลื่อน เพื่อให้ลูกค้าสามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ และพร้อมเผชิญหน้ากับ New World Order หรือระเบียบโลกใหม่ โดย Digital-First Company จะช่วยเชื่อมโยงระบบนิเวศของธุรกิจยุคใหม่ที่ประกอบด้วย องค์กร ลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และสังคม ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้มากขึ้น
พชรยังกล่าวต่อถึงการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากมีผู้เล่นรายใหม่ๆ กระโดดเข้ามาอยู่เป็นระยะๆ จึงทำให้บลูบิคต้องเร่งขยายธุรกิจและบริการให้สอดรับกับเทรนด์การทำธุรกิจใหม่ๆ โดยปี 2566 เตรียมงบไว้ราว 100 ล้านบาท เพื่อใช้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีต่างๆ และการพัฒนาบุคลากร ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีแรกของปี 2566 หลังปิดดีลควบรวมกิจการ VDD และ Innoviz เสร็จสิ้น ทำให้สามารถบันทึกรายได้และกำไรของทั้งสองบริษัทได้ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 และยังได้รับอานิสงส์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI ทำให้บริษัทฯ ประเมินว่าผลประกอบการปี 2566 จะสามารถเติบโตได้ถึง 120%
ขณะที่ผลประกอบการปี 2565 มีรายได้รวม 564 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86% มีกำไรสุทธิ 131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96% โดยสัดส่วนรายได้แบ่งเป็น ในประเทศ 90% ต่างประเทศอยู่ที่ 10%