BloombergNEF หน่วยงานวิจัยข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในปี 2027 หรืออีก 6 ปีต่อจากนี้ รถยนต์และรถตู้พลังงานไฟฟ้าจะมีต้นทุนในการผลิตถูกลงกว่าต้นทุนการผลิตสำหรับรถเครื่องยนต์สันดาปทั่วๆ ไปที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ขณะที่มาตรการที่เข้มงวดของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ที่ว่าด้วยการบังคับใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ลดละเลิกการใช้งานรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วๆ ไป ก็จะเป็นอีกหนึ่งในส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนให้รถไฟฟ้าของส่วนแบ่งหลักๆ ในยอดขายทั้งตลาดได้ในอีก 5 ปีต่อจากนี้
โดย BloombergNEF มองว่า แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2026 หรืออีก 5 ปีนับจากนี้คือการที่รถไฟฟ้าขนาดใหญ่ๆ ทั้งรถซีดานทั่วไป และโมเดล SUV จะมีต้นทุนการผลิตถูก เทียบเท่ากับรถยนต์เชื้อเพลิงทั่วไปที่ใช้งานกัน ก่อนที่แนวโน้มเดียวกันจะเกิดขึ้นในรถยนต์ขนาดเล็กกว่าในอีกหนึ่งปีถัดมา หรือภายในปี 2027 นั่นเอง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้รถไฟฟ้ามีต้นทุนการผลิตที่ถูกลง จะมาจากทั้งปัจจัยการผลิตเทคโนโลยีแบตเตอรี่รถไฟฟ้าในอนาคตที่น่าจะทำได้ถูกลงตามไปด้วย เช่นเดียวกับการเพิ่มขนาดการผลิตในสายพานของค่ายรถยนต์แต่ละเจ้า ซึ่งส่วนนี้ยังไม่นับรวมมาตรการการสนับสนุนจากภาครัฐบาลในประเทศต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาและแตกต่างกันออกไปด้วยซ้ำ
มีการประเมินเบื้องต้นว่า ปัจจุบันราคารถไฟฟ้าขนาดกลางจะอยู่ที่ประมาณ 33,300 ยูโร หรือราว 1.25 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคารถเชื้อเพลิงดีเซลในขนาดเดียวกันซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 18,600 ยูโร หรือประมาณ 7 แสนบาทเท่านั้น ก่อนที่ในปี 2026 ราคาจำหน่ายของรถยนต์ทั้งสองชนิดจะขยับมาเท่ากันที่ราว 7.2 แสนบาท
และในปี 2030 ราคาจำหน่ายรถไฟฟ้าก่อนรวมราคาภาษีจะอยู่ที่ 16,300 ยูโร หรือกว่า 6.17 แสนบาท ส่วนรถยนต์สันดาปจะอยู่ที่ราว 19,900 ยูโร หรือที่ประมาณ 7.53 แสนบาทนั่นเอง
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: