Bloomberg รายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและเหล่านักกลยุทธ์ ที่ออกมาคาดการณ์ทิศทางการซื้อขายของ ตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ โดยพบว่าปัจจัยความกลัวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท บวกกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้นักลงทุนทั้งหลายลดการลงทุนในตลาดหุ้น และหันไปพิจารณาลงทุนในตลาดพันธบัตรขององค์กรที่มีพื้นฐานดี เพื่อรักษารายได้จากพอร์ตการลงทุนในปัจจุบัน
แม้ว่าในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาการซื้อขายในตลาดหุ้นจะขยับเคลื่อนไหวในแดนบวก จนสร้างผลงานที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งสำหรับช่วงซัมเมอร์ โดยมีการขยายตัวต่อเนื่องเกือบ 12% ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เช่นเดียวกับตลาดพันธบัตรที่มีการเติบโตเฉลี่ย 4.6%
อย่างไรก็ตาม หุ้นและพันธบัตรมีเหตุให้ต้องเติบโตสวนทางกัน เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยที่ทำให้การลงทุนในหุ้นคือความเสี่ยง และการลงทุนในพันธบัตรเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัยในการช่วยชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในเบี้ยประกัน
ทั้งนี้ ในมุมมองนักวิเคราะห์มองว่า แม้ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดจะส่งสัญญาณลดความร้อนแรงลง แต่ Wei Li หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนระดับโลกจาก BlackRock Inc. กล่าวว่า เศรษฐกิจโดยรวมยังคงไม่สดใส ทำให้ Fed ไม่อาจจะหยุดเดินหน้าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ จนกว่าจะแน่ใจได้ว่าเงินเฟ้อจะไม่ลุกลาม ซึ่งท่าทีของ Fed นี้หมายความว่าโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยย่อมมีมากตามไปด้วย
แนวโน้มข้างต้นสำหรับตลาดหุ้นย่อมไม่ใช่เรื่องดี เพราะนักลงทุนจำนวนมากไม่เต็มใจที่จะแบกรับความเสี่ยงที่ว่า รายได้ของบริษัทจะลดลงจนกระทบต่อมูลค่าหุ้น
แต่สำหรับในโลกของพันธบัตรรัฐบาล เลเยอร์ที่ประกอบขึ้นเป็นต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทจะอยู่ในมือของนักลงทุน โดยอัตราผลตอบแทนของบริษัทประกอบด้วยอัตราที่จ่ายที่ใกล้เคียงระดับหนี้รัฐบาล และเบี้ยประกันเพื่อชดเชยการคุกคาม เช่น ผู้กู้ที่ล้มละลาย ดังนั้น แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของบริษัทในการชำระหนี้ แต่หลักประกันดังกล่าวทำให้พันธบัตรเป็นตลาดที่มีความปลอดภัยสำหรับนักลงทุน
นักวิเคราะห์มองว่า สถานการณ์ตลาดโดยรวมจะเป็นพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อพันธบัตร (Bond-Friendly) โดยจะลากยาวไปจนถึงช่วงสิ้นปีนี้
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP