ปิดฉากไปแล้วกับงานสัมมนาใหญ่ระดับภูมิภาค Bloomberg ASEAN Business Summit 2018 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย มีผู้บริหารจากองค์กรต่างๆ ทั่วทั้งอาเซียนร่วมวงเสวนาด้วยสำหรับทิศทางธุรกิจที่น่าจับตาจากนี้ต่อไป
Suresh Shankar ผู้ก่อตั้ง Crayon Data กล่าวว่าชนชั้นกลางขณะนี้คือหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาจเรียกได้ว่าเป็นชนชั้นแห่งการบริโภค (Consuming Class) ซึ่งมีจำนวนกว่า 150 ล้านครัวเรือนในภูมิภาคนี้ สิ่งที่ท้าทายคือการจัดการด้านข้อมูลของผู้บริโภคที่มีอยู่อย่างมากมายในขณะนี้ ซึ่งภาครัฐต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะนี่คือยุคที่ใครมีข้อมูล คนนั้นครองใจผู้บริโภค (Who owns the data, who owns the consumer) ซึ่งกลุ่มคนหนุ่มสาวหรือมิลเลนเนียลเป็นฐานสำคัญที่สุด ลักษณะร่วมของผู้บริโภคจากนี้ทั่วทั้งโลกคือการใช้ชีวิตกับโทรศัพท์มือถือมากขึ้นเรื่อยๆ และความต้องการข้อมูลที่เชื่อถือได้ถูกคัดสรรมาเป็นอย่างดีแล้ว
ขณะที่ Lavanya Wadgaonkar ตำแหน่ง Vice President ของ Nissan Motor Asia Pacific เสริมว่าตอนนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก ความต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์สักคันเปลี่ยนไปจากเดิม กลุ่มคนมิลเลนเนียลอาจเลือกไม่ซื้อรถเป็นของตนเอง แต่เลือกใช้บริการ Ride-Hailing แทน และต้องการเปรียบเทียบทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง หน่วยธุรกิจในปัจจุบันต้องปรับตัว ไม่สามารถแข่งขันคนเดียวได้อีกต่อไป ต้องมีหุ้นส่วนในการทำธุรกิจด้วย จำเป็นที่ภาครัฐต้องปรับกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับทิศทางที่เป็นไปของตลาดและผู้ประกอบการ
ส่วน Naveen Menon ประธานของ Cisco Asean ชี้อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ของทั้งโลกยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าเฉลี่ยของการลงทุนด้านความปลอดภัยไซเบอร์อยู่ที่ 0.08% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP เท่านั้น ตัวอย่างของประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้คืออิสราเอล ซึ่งลงทุนถึง 0.36% ของ GDP จึงยังเป็นโจทย์ที่แต่ละประเทศต้องให้ความสำคัญเพิ่ม
ขณะที่ Thu Nguyen กรรมการผู้จัดการของ Forum One องค์กรด้านการลงทุนจากเวียดนาม กล่าวบนเวทีอย่างมั่นใจว่าตอนนี้เศรษฐกิจของเวียดนามอยู่ในจุดที่ดีที่สุด ทั้งภาคการส่งออกที่เติบโตเป็นประวัติการณ์และการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวอย่างมาก ปีที่ผ่านมาตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ที่ 6.8% แต่เศรษฐกิจของเวียดนามกลับร้อนแรงกว่า คาดโตถึง 7.1% ขณะที่เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ยังอยู่ในระดับสูงที่ 8% ของ GDP เวียดนาม นอกจากนี้โครงสร้างประชากรในเวียดนามยังมีคนหนุ่มสาวอยู่มาก จึงมีโอกาสที่การบริโภค การผลิตจะเติบโตมากขึ้นจากแรงงานที่ยังมีอยู่อย่างเหลือเฟือ อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมอีกมาก หากพึ่งพางบประมาณของรัฐอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ การระดมเงินผ่านตลาดทุนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่เอกชนและภาครัฐจะผลักดันเวียดนามให้ก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
ถือเป็นอีกหนึ่งงานที่ได้เห็นภาพรวมเศรษฐกิจธุรกิจของทั้งอาเซียน ซึ่งไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ตัวเลขเศรษฐกิจดีในขณะนี้ จึงเป็นโจทย์ที่รัฐบาลและผู้ประกอบการไทยต้องขบคิดเพื่อสร้างกลยุทธ์ดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนในวันที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิดประตูบ้านและปูพรมแดงต้อนรับแขกขนาดนี้
อ้างอิง: Bloomberg ASEAN Business Summit 2018