ปะการังฟอกขาว เป็นวิกฤตใหญ่แห่งท้องทะเลที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในเวลานี้ที่ภาวะโลกรวนผลักดันให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นทุกขณะ
หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า จริงๆ แล้วปะการังไม่มีสี แต่สีสันสดใสที่เราเห็นมาจากสิ่งมีชีวิตที่ชื่อว่า ‘สาหร่ายซูแซนเทลลี’ (Zooxanthellae) พวกมันอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อปะการัง โดยสาหร่ายจะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจของปะการัง แปรเปลี่ยนไปเป็นสารอาหารและออกซิเจนผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ถือเป็นแหล่งพลังงานหลักของปะการัง สาหร่ายซูแซนเทลลีจึงมีความสำคัญมากต่อการมีชีวิตอยู่ของปะการัง
แต่เมื่อปะการังเครียดจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น ความเป็นกรด-ด่าง ความเค็ม คุณภาพน้ำทะเล มลพิษ คราบน้ำมันหรือสารเคมี รวมถึงปัญหาใหญ่อย่างการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเล โดยหากน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงกว่า 31 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง (1 สัปดาห์ – 1 เดือน) ปะการังจะเครียดและขับสาหร่ายออกจากตัว จนเนื้อเยื่อของมันใส ทำให้เห็นโครงหินปูนสีขาวด้านใน เรียกว่าปะการังฟอกขาว ซึ่งเป็นภาวะที่พวกมันอ่อนแอและอาจตายได้ในที่สุด
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
อ้างอิง: