×

BlacKkKlansman บทบันทึกแห่งความเกลียดชังระหว่างเพื่อนมนุษย์ที่ไม่มีสิ้นสุด

07.09.2020
  • LOADING...

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง BlacKkKlansman

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคงจะเป็นเวลาที่เหล่าคอภาพยนตร์ต่างร่วมกันถกประเด็นเกี่ยวกับทฤษฎีและเรื่องราวสุดล้ำของ Tenet ผลงานเรื่องล่าสุดของ คริสโตเฟอร์ โนแลน กันอย่างสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎี Time Inversion, ตัวตนที่แท้จริงของตัวละครอย่าง นีล คู่หูสายลับที่รับบทโดย โรเบิร์ต แพตทินสัน รวมถึงอีกหนึ่งดาวเด่นที่ผู้ชมชื่นชม นั่นคือการแสดงอันดุดันของ จอห์น เดวิด วอชิงตัน ผู้รับบทเป็นสายลับนิรนามที่ต้องร่วมมือกับนีลเพื่อปกป้องโลกจากกลุ่มก่อการร้ายจากอนาคต

 

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้โนแลนตัดสินใจเลือกวอชิงตันมารับบทแสดงนำในครั้งนี้มาจากการที่เขาได้รับชมการแสดงอันน่าทึ่งของวอชิงตันจากภาพยนตร์เรื่อง BlacKkKlansman ผลงานของผู้กำกับ สไปค์ ลี ภายในงานเปิดตัวภาพยนตร์รอบเวิลด์พรีเมียร์ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อปี 2018

 

แต่เนื่องจากไม่ได้เข้าฉายในประเทศไทยตามระบบปกติ ทำให้มีคนจำนวนมากยังไม่ได้รับชม กระทั่งล่าสุดที่ Netflix ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้มาลงในแพลตฟอร์มของตัวเองในวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้รับชมการแสดงอันทรงพลังของวอชิงตันใน BlacKkKlansman กันแบบเต็มๆ 

 

 

BlacKkKlansman ถูกดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อ Black Klansman ของ รอน สตอลเวิร์ธ นายตำรวจผิวสีคนแรกแห่งเมืองโคโรลาโดสปริงส์ ที่เล่าเรื่องราวของตัวเองในช่วงยุค 70 เกี่ยวกับแผนการแทรกซึมเข้าไปยังกลุ่มคูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan) กลุ่มชาตินิยมผิวขาวหัวรุนแรง เพื่อสืบหาข้อมูลและป้องกันการก่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น

 

ในภาพยนตร์ เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อ รอน สตอลเวิร์ธ (จอห์น เดวิด วอชิงตัน) ตัดสินใจติดต่อกับกลุ่มคูคลักซ์แคลนเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม โดยอ้างว่าตัวเองเป็นชายอเมริกันผิวขาวที่ไม่นิยมพวกแอฟริกัน-อเมริกันผิวดำ (ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เป็นคนผิวดำเช่นกัน) โดยร่วมมือกับ ฟลิป ซิมเมอร์แมน (อดัม ไดรเวอร์) นายตำรวจชาวยิวที่ต้องแสดงท่าทีว่าตัวเองเป็นพวกไม่นิยมชาวยิวเพื่อตบตาสมาชิกคนอื่น ทั้งๆ ที่ตัวเองก็มีสายเลือดของชาวยิวอยู่เช่นเดียวกัน

 

 

BlacKkKlansman ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานคุณภาพของผู้กำกับ สไปค์ ลี ที่สามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม โดยนำเสนอประเด็นการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติออกมาเป็นภาพยนตร์แนวสืบสวนได้อย่างน่าสนใจและชวนติดตาม ทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกไปกับประเด็นหนักๆ ได้ไม่ยากนัก

 

และทันทีที่รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้จนจบ เราก็เข้าใจขึ้นมาในทันทีว่าทำไมโนแลนจึงตัดสินใจเลือกวอชิงตันมารับบทเป็นสายลับในผลงานเรื่องล่าสุดของเขา

 

เพราะวอชิงตันได้ถ่ายทอดตัวละครสายสืบ รอน สตอลเวิร์ธ ออกมาได้มีเสน่ห์ น่าสนใจ ทั้งภาพลักษณ์ที่เข้มขรึม รวมทั้งลีลาการพูดที่จัดจ้านจนทำให้ผู้ชมไม่อาจละสายตาไปจากการแสดงของเขาได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์แนวสืบสวนเรื่องนี้สนุกสนานไม่แพ้ภาพยนตร์แนวเดียวกัน

 

 

นอกจากนี้ BlacKkKlansman ยังพาผู้ชมไปร่วมสำรวจความคิดสุดโต่งของกลุ่มคูคลักซ์แคลนในช่วงยุคปลาย 70 ผ่านตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริงอย่าง เดวิด ดุ๊ก ผู้เป็นพ่อมดใหญ่และผู้อำนวยการแห่งชาติของกลุ่มคูคลักซ์แคลน ที่แม้ภายนอกเขาอาจจะดูเป็นชายรูปงาม แต่งตัวดี มีฐานะ พูดจาสุภาพ

 

แต่ทัศนคติของดุ๊กที่ต้องการให้กลุ่มคนผิวขาวบริสุทธิ์กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ทำให้เขาพร้อมจะยัดเยียดความเกลียดชังที่ถูกห่อไว้ในวาทกรรมอันสวยหรูให้กับผู้คน เพื่อชักจูงให้คนผิวขาวเหล่านั้นรังเกียจคนผิวดำและเชื้อชาติที่แตกต่างแบบที่เขายึดมั่น

 

เราได้รับชมผลผลิตแห่งความเกลียดชังที่ดุ๊กได้ปลูกฝังเอาไว้ผ่านตัวละครอย่าง ฟิลิกซ์ ภรรยาที่เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มคูคลักซ์แคลนที่จงเกลียดจงชังคนผิวดำและชาวยิวเข้ากระดูกดำ และมักจะยุยงให้สมาชิกใช้ความรุนแรงกับกลุ่มคนผิวดำและชาวยิวอยู่ตลอดเวลา

 

BlacKkKlansman ไม่ได้เลือกที่จะนำเสนอให้ผู้ชมเห็นว่ากลุ่มคูคลักซ์แคลนเป็นสัญลักษณ์ของความเกลียดชังในสีผิวและเชื้อชาติที่แตกต่างเพียงอย่างเดียว แต่ความเกลียดชังยังแฝงตัวอยู่ในผู้คนอื่นๆ เช่น นายตำรวจผิวขาวแห่งเมืองโคโรลาโดสปริงส์ที่ใช้อำนาจของตัวเองกดขี่คนผิวดำอยู่เสมอ โดยเฉพาะเพื่อนร่วมอาชีพอย่าง รอน ผู้เป็นนายตำรวจผิวดำเพียงคนเดียว เรียกได้ว่ามีพฤติกรรม ‘เหยียด’ ไม่ต่างไปจากกลุ่มคูคลักซ์แคลนเลยด้วยซ้ำ

 

ภาพยนตร์เรื่อง The Birth of a Nation (1915)

 

 

ภาพเหตุการณ์รุมประชาทัณฑ์ เจสซี วอชิงตัน ในวันที่ 15 พฤษภาคม 1916

 

อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่ BlacKkKlansman นำเสนอให้เราได้ชมคือการพาผู้ชมไปทำความรู้จักกับ The Birth of a Nation ภาพยนตร์เงียบความยาว 3 ชั่วโมงที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามหลังเข้าฉายในปี 1915 โดยผู้กำกับ ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิธ ที่บอกเล่าเรื่องราวช่วงสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา 

 

โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงมุมมองการนำเสนอที่เหยียดกลุ่มคนผิวดำของผู้กำกับกริฟฟิธเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการให้นักแสดงผิวขาวทาสีดำทั้งตัวเพื่อแสดงแทนกลุ่มคนผิวดำจริงๆ และการนำเสนอกลุ่มคูคลักซ์แคลนด้วยภาพลักษณ์วีรบุรุษสงคราม จนกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่จุดประกายให้กลุ่มคูคลักซ์แคลนที่เคยล่มสลายไปแล้วในช่วงปี 1871 กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในปี 1915  

 

รวมถึงประวัติศาสตร์อันโหดร้ายของความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในปี 1916 เมื่อ เจสซี วอชิงตัน เด็กหนุ่มผิวดำอายุเพียง 17 ปีที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่าข่มขืนหญิงสาวผิวขาวนาม ลูซี ฟลายเออร์ โดยมีคณะลูกขุนเป็นคนผิวขาวทั้งหมด ซึ่งหลังจากที่ศาลตัดสินว่ามีความผิด เจสซีก็ถูกประชาชนผิวขาวจับตัวไปรุมประชาทัณฑ์อย่างโหดร้ายใจกลางเมืองเวโก รัฐเท็กซัส โดยครั้งนั้นมีกลุ่มคนผิวขาวและตำรวจออกมายืนชมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งหมื่นคน

 

ก่อนที่ในช่วงท้ายของเรื่อง สไปค์ ลี จะนำฟุตเทจการชุมนุมของกลุ่มชาตินิยมคนผิวขาว (White Supremacist) และกลุ่มนีโอนาซี (Neo-Nazism) ที่ออกมาเดินขบวนเพื่อต่อต้านการรื้อถอนอนุสาวรีย์ของ โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด ลี ผู้บัญชาการกองทัพคนสำคัญของฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกาในช่วงสงครามการเมืองของสหรัฐอเมริกา จนกลายเป็นเหตุความรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ณ เมืองชาร์ลอตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย เมื่อวันที่ 11-12 สิงหาคม 2017 ให้เราได้ชม

 

 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงอาจกล่าวสรุปได้ว่า BlacKkKlansman ไม่ได้ทำหน้าที่พาเราไปทำความรู้จักและติดตามเรื่องราวการสืบสวนของ รอน สตอลเวิร์ธ เพียงเท่านั้น แต่ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมง สไปค์ ลี ได้พาเราไปสำรวจหน้าประวัติศาสตร์แห่งความเกลียดชังในเพื่อนมนุษย์ที่มีมานานกว่าหลายร้อยปี และยังคงดำเนินอยู่จวบจนปัจจุบัน

 

เพื่อตอกย้ำให้ผู้ชมตระหนักว่าแม้เราจะมีเหตุการณ์ในอดีตให้เรียนรู้มากมาย แต่ตราบใดที่เรายังไม่สามารถตัดความเกลียดชังที่เกิดขึ้นเพียงเพราะความแตกต่างของสีผิวและเชื้อชาติลงได้ ภาพความรุนแรงและการสูญเสียเหล่านี้ก็คงจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น

 

ซึ่งเราก็คงได้แต่หวังเพียงว่าขออย่าให้ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่ถูกบันทึกลงในหนังสือเรียน เพราะในทุกๆ ครั้งมันมักจะมาพร้อมกับความสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดตามมาเสมอ

 

ภาพประกอบ:

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X