×

คดีล่าเสือดำต้องเขย่าสังคมชนชั้นและอภิสิทธิ์ชน

10.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins read
  • คนจำนวนหนึ่งพูดติดตลกว่าเจ้าสัวเปรมชัยเลียนแบบรพินทร์ ไพรวัลย์ ใน เพชรพระอุมา หากเรื่องนี้จริงก็เท่ากับว่าเจ้าสัวตามก้นฝรั่งผู้เขียนงานต้นแบบของนวนิยายเล่มนี้อย่าง King Solomon’s Mines ในปี 1885 หรือย้อนหลังไปถึง 133 ปีที่แล้ว
  • โลกตะวันตกมีงานเขียนเยอะแยะที่พูดถึงการล่าโดยเชื่อมโยงกับการแผ่อิทธิพลของเจ้าอาณานิคม เพราะการล่าเป็นอุปลักษณ์ของอำนาจเหนือคนพื้นเมืองในอินเดียและแอฟริกา
  • ถึงจุดนี้ ‘การล่า’ ไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ทำได้ เพราะการล่าแสดงว่าใครใหญ่พอจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติส่วนรวมเพื่อการหย่อนใจ การล่าที่กลายเป็นสันทนาการนั้นคือบรรดาศักดิ์ให้คนผิวขาวชั้นสูงและกลางโอ้อวดว่าอภิสิทธิ์ชนอย่างฉันเท่านั้นที่ทำได้

ภาพเสือดำถูกถลกหนังพร้อมกะโหลกและอวัยวะภายในทำให้คนทั้งประเทศสะเทือนใจ แต่ในที่สุดประธานบริษัทผู้อื้อฉาวก็ถูกประกันตัวไป และหลายคนประเมินว่าสักพักคดีจะเงียบ ต่อให้คนจะมองว่าข่าวนี้สะท้อนเรื่องมหาเศรษฐีเป็นอภิสิทธิ์ชนในประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกับคนใหญ่คนโตก็ตาม

 

แน่นอนว่าคดีจะหายไปหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของคดี แต่ขณะที่ภาพดังกล่าวทำให้คนโกรธแค้นเรื่องนี้จนเกิดประเด็น ‘อภิสิทธิ์ชน’ ข้อมูลหลายแหล่งกลับระบุว่าเจ้าสัวมีพฤติกรรมนี้นานแล้ว ตัวอย่างเช่น คุณระดับ กาญจนะวณิชย์ โพสต์ถึง ‘พี่เปรมชัย’ ว่า “เรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้ พี่ทำมันมานานมาก” หรือเว็บ MGR เปิดภาพเจ้าสัวพร้อมหนังเสือโคร่งในออฟฟิศ หลังปกปิดมากว่า 20 ปี

 

 

ถ้าความเป็นอภิสิทธิ์ชนเป็นปัญหา ข้อมูลแบบนี้ก็บอกเราว่า ‘เจ้าสัว’ สนุกกับอภิสิทธิ์ที่จะฆ่ามาเกือบครึ่งชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นคือทั้งหมดเป็นการฆ่าเพื่อสนองตัณหาในการไล่ล่า ไม่ใช่ทำเพื่อหาอาหารหรือขายเป็นของป่าแลกเงิน

 

คนจำนวนหนึ่งพูดตลกแบบไม่ขำว่าเจ้าสัวเลียนแบบรพินทร์ ไพรวัลย์ ใน เพชรพระอุมา แต่หากเรื่องนี้จริงก็เท่ากับว่าเจ้าสัวตามก้นฝรั่งเจ้าอาณานิคมผู้เขียนงานต้นแบบของนวนิยายเล่มนี้อย่าง King Solomon’s Mines ในปี 1885 หรือเท่ากับว่าเจ้าสัวมีพฤติกรรมถอยหลังย้อนยุคไปจากปัจจุบัน 133 ปี

 

อย่างไรก็ดี พูดแบบนี้อาจโทษฝรั่งไปนิด เพราะที่จริงวรรณคดีต้นรัตนโกสินทร์ก็มีการพูดถึงการล่าเพื่อความบันเทิงด้วย ตัวอย่างเช่น พระเจ้าเสือประหารพ่อขุนแผนเพราะโกรธที่ฆ่าควายป่าตัดหน้าในพระราชพิธีล่าสัตว์ พูดง่ายๆ คือทรงสั่งตัดหัวขุนไกรเพราะพิโรธที่ถูกขัดขวางพระเกษมสำราญในการฆ่าควาย

 

มองแบบนี้ การไล่ล่าคร่าชีวิตเพื่อความบันเทิงนั้นเป็นพฤติกรรมของคนชั้นสูงแน่ๆ จะเป็นเจ้าอาณานิคมแบบฝรั่งหรือรัฐราชสำนักสยามก็ตาม

 

 

คำถามคือทำไมคนชั้นสูงถึงชอบล่า ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจหรือการเงิน

 

โลกตะวันตกมีงานเขียนเยอะแยะที่พูดถึงการล่าโดยเชื่อมโยงกับการแผ่อิทธิพลของเจ้าอาณานิคม พูดง่ายๆ คือฝรั่งในยุโรปชอบล่า เพราะการล่าเป็นอุปลักษณ์ของอำนาจเหนือคนพื้นเมืองในอินเดียและแอฟริกา

 

 

ในงานเขียนที่โด่งดังตามแนวทางนี้อย่าง The Man-eaters of Tsavo นายทหารอังกฤษผู้ผันตัวเป็นพรานบันทึกการล่าสิงโตคู่ในยูกันดาที่กินคนงานก่อสร้างทางรถไฟของอังกฤษเป็นร้อย ต่อมาพรานฆ่าสิงโตได้ การก่อสร้างคืบหน้า จากนั้นอังกฤษก็ประสบผลสำเร็จในการกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติจากแอฟริกา

 

ไม่มีใครทราบว่างานชิ้นนี้อิงความจริงโดยเคร่งครัดหรือไม่ แต่เมื่อมันถูกแปลงเป็นหนังในทศวรรษที่ 1990 อุปลักษณ์ทั้งหมดของหนังสือว่าสิงโตคือคนดำ พรานคืออาณานิคมอังกฤษ การล่าคือการกวาดล้างชนพื้นเมืองเพื่อยึดแอฟริกา และการแพร่หลายของการล่าในกาฬทวีปก็เกิดในยุคทองของลัทธิอาณานิคม

 

 

ขณะที่ประวัติศาสตร์ยุโรปทำให้การล่าวิวัฒนาการอย่างที่กล่าวไป การล่าในอเมริกากลายเป็นสันทนาการที่แพร่หลายแบบที่นักประวัติศาสตร์ทาสอย่างสตีเวน ฮาห์น และคาร์ล จาโคบี ระบุว่าเป็นเรื่องของคนชั้นสูงและคนชั้นกลางผิวขาว หรือพูดง่ายๆ คือคนขาวรวยๆ ใช้การล่าเป็นเครื่องมือแสดงชนชั้นในสังคม

 

สรุปแบบเร็วๆ อเมริกาก็เหมือนทุกประเทศที่เคยมีการล่าสัตว์เพราะความจำเป็น แต่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่นั่นเริ่มแบ่งแยกการล่าเพื่อสนองความหิวกับการล่าเพื่อความสนุก จากนั้นการล่าแบบหลังกลายเป็นกีฬาที่ผู้ล่าต้องมีความเป็นสุภาพบุรุษอังกฤษทุกกระเบียดนิ้ว ขณะที่การล่าแบบแรกเป็นเรื่องของนักเลงชั้นต่ำที่ปราศจากวัฒนธรรม

 

ถึงจุดนี้ ‘การล่า’ ไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ทำได้ เพราะการล่าแสดงว่าใครใหญ่พอจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติส่วนรวมเพื่อการหย่อนใจ การล่าที่กลายเป็นสันทนาการนั้นคือบรรดาศักดิ์ให้คนผิวขาวชั้นสูงและกลางโอ้อวดว่าอภิสิทธิ์ชนอย่างฉันเท่านั้นที่ทำได้ และในที่สุดการล่าก็กลายเป็นการแสดงศักดิ์ของคนในสังคม

 

 

ไม่ว่าการล่าจะทำไปเพื่อสนองตอบอารมณ์อาณานิคมหรือสังคมชนชั้น การล่ามีด้านที่ควบคู่กับการแสดงความเป็นชายด้วยเสมอ เหตุผลคือการล่าเชื่อมโยงกับคุณสมบัติสำคัญ 3 ข้อที่ทำให้ผู้ชายเพ้อเรื่องความเป็นชายได้ ข้อแรกคือความแข็งแกร่งของร่างกาย, ข้อสอง การควบคุมคณะลูกหาบในการล่า และข้อสามคือทักษะในการเอาตัวรอดจากสภาพแวดล้อมที่อันตราย

 

ควรระบุว่าการล่าเพื่อโชว์ความเป็นชายนั้นไม่ได้แปลว่าผู้ล่ามีแต่ผู้ชาย เพราะนักล่าในสังคมอาณานิคมหรือระบบชนชั้นนั้นเป็นหญิงได้เสมอ เพียงแต่หญิงที่เป็นนักล่านั้นต้องมีคุณสมบัติของความเป็นชาย และการยอมรับว่าผู้หญิงเป็นนักล่าได้ก็เป็นประเด็นที่สะท้อนอำนาจผู้หญิงในสังคมนิยมไพรของอเมริกา

 

 

อนึ่ง โปรดสังเกตว่านักล่าทุกสายนิยมถ่ายรูปคู่สัตว์ที่ถูกล่าด้วยท่วงท่าแสดงอำนาจเหนือสัตว์และบริวารทั้งหมด การล่าจึงเป็นการแสดงเพื่อโชว์ความแข็งแกร่งของคนชั้นสูงผู้ล่า ผลก็คือภาพการล่าเป็นไปอย่างโอ่อ่า งามสง่า และเปิดเผย ส่วนการอวดความแข็งแกร่งนั้นจะเป็นไปเพื่ออะไรก็สุดแท้แต่กรณี

 

ทั้งหมดนี้คือเรื่องการล่าและการแสดงออกเรื่องล่าในสังคมยุคสมัยที่ถือว่าการล่าคือความศิวิไลซ์

 

แน่นอนว่าโลกปี 2018 ไม่ได้คิดว่าอาณานิคมหรือการแบ่งชนชั้นคือศิวิไลซ์ ฉะนั้นการล่าหรือโอ้อวดเรื่องล่าจึงไม่มีพื้นฐานทางสังคมให้เกาะเกี่ยวอีก บริบทแบบนี้ทำให้ภาพการล่าไม่สื่อถึงอำนาจผู้ล่าอย่างในคริสต์ศตวรรษที่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงประเด็นความเป็นชายซึ่งกลายเป็นเรื่องไร้สาระแทบสิ้นเชิง

 

 

ถ้าสังคมอาณานิคมหรือระบบชนชั้นทำให้การล่าสื่อความถึงอำนาจและความเป็นชาย ภาพเจ้าสัวในข่าวก็สื่อสภาพที่อำนาจและความเป็นชายปวกเปียกอย่างที่สุด ภาพเล่าว่าการล่าไม่เกี่ยวกับความแข็งแกร่งหรือทักษะเอาตัวรอดของผู้ล่า ยิ่งกว่านั้นคือผู้ล่าเอาชนะผู้ถูกล่าโดยวิธีหมาหมู่ ทั้งที่มีอาวุธเหนือกว่าทุกทาง

 

ภายใต้ปฏิกิริยาสังคมซึ่งเต็มไปด้วยความรังเกียจเจ้าสัวล่าเสือดำ สิ่งที่ข่าวนี้ชี้ให้เห็นคืออภิสิทธิ์ชนมีเนื้อในที่ไม่โอเค ส่วนสังคมไทยต้องมีเครื่องมือตรวจจับภาพจริงอภิสิทธิ์ชนเหมือนที่เกิดในกรณีนี้ให้ได้ เพราะคนแบบหัวหน้าวิเชียรไม่ได้มีทุกที่ และอภิสิทธิ์ชนอยู่เหนือกฎหมายเสมอในจุดที่อยู่นอกสายตาสังคม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising