×

วิเคราะห์ Black Monday 2024 สัญญาณอันตราย เศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้า Recession?

13.08.2024
  • LOADING...

ถอดบทเรียนจาก Black Monday 2024 มีสาเหตุมาจากอะไร และมีความเสี่ยงมากหรือน้อยแค่ไหนที่เศรษฐกิจโลกเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะ Recession 

 

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ Head of Economic Research หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า เหตุการณ์ Black Monday ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ประเมินว่ามาจากผลกระทบจาก 3 สาเหตุ ดังนี้ 

 

เปิด 3 สาเหตุสู่ Black Monday 2024 

 

1. นโยบายการเงินที่ผิดพลาด โดยเฉพาะธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปที่ 0.25% จากระดับ 0.1% เนื่องจากมีความกังวลถึงอัตราตัวเลขเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.2% ขยับขึ้นมาเป็น 2.86% อีกทั้งก่อนหน้านี้ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมากอยู่ที่ระดับประมาณ 150 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งทำให้มีความกังวลว่าท่ามกลางสถานการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยลง

 

อีกทั้งผู้ว่าการของธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยภายในปี 2024 มีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเกินระดับ 0.50% ส่งผลให้เริ่มมีความกังวลในนโยบายของการเงินญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น

 

2. กระแสการเก็งกำไรที่มีมากในช่วงก่อนหน้านี้ในตลาดหุ้นหลายประเทศ ทั้งในตลาดหุ้นสหรัฐฯ, ยุโรป, ญี่ปุ่น, อินเดีย และตลาดหุ้นอื่นๆ ส่งผลให้ก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้ค่า P/E Ratio ของตลาดหุ้น S&P 500 เพิ่มขึ้นเป็น 22 เท่า, ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมี P/E Ratio เพิ่มขึ้นเป็น 21.8 เท่า แต่หลังเหตุการณ์ Black Monday ดังกล่าว มีผลกระทบให้ตลาดหุ้นเกิดการปรับฐานลงมา โดยตลาดหุ้น S&P 500 มี P/E Ratio ลดลงเหลือ 21 เท่า ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นมี P/E Ratio เหลือ 17 เท่า

 

3. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะตลาดแรงงาน ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยแรงขึ้นสวนทางกับ BOJ ที่เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้แม้ BOJ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันก็ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับของ Fed ซึ่งแม้ว่าจะมีโอกาสเริ่มลดดอกเบี้ยลง แต่ดอกเบี้ยของ Fed ปัจจุบันที่ระดับ 5% ก็ยังอยู่ในระดับที่สูง

 

อย่างไรก็ดี ยังส่งผลให้เกิดการ Yen Carry Trade โดยมีการกู้ยืมสินทรัพย์เงินสกุลเยนไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นทั่วโลก แต่หลังจากมีการปรับความคาดหวังของนักลงทุน ส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดการปรับฐานลงมา (Correction) รุนแรงดังนั้นทำให้นักลงทุนกังวลว่าอาจนำไปสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) 

 

สัญญาณอันตรายโลกเข้า Recession?

 

ดร.ปิยศักดิ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ Black Monday ที่เกิดขึ้นล่าสุด หากเปรียบเทียบสามารถเปรียบได้กับ 3 สถานการณ์ก่อน คือ 

 

  1. สถานการณ์ Black Monday ปี 1987 

 

  1. สถานการณ์กองทุน Long-Term Capital Management (LTCM) ล้มในปี 1998 หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง 

 

  1. วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 โดยสถานการณ์ครั้งนี้ดูคล้าย Black Monday 1987 มากที่สุด แต่ยังมีสถานการณ์ที่เบากว่า

 

ทั้งนี้ จะพบว่าภาพที่เกิดสถานการณ์ Black Monday มีความคล้ายกันกับ 3 สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่เข้าสู่ความย่ำแย่ แต่เกิดจากสถานการณ์ที่นักลงทุนกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ลงทุนค่อนข้างอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง แต่นักลงทุนเกิดความตระหนักจากกระแสข่าวต่างๆ ที่ออกมาในช่วงนั้น ทำให้มีแรงขายออกมา รวมถึงยังมีประเด็นจากการ Margin Call และปัจจัยกดดันจากการขายเทรดดิ้งโปรแกรม จึงกดดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงแรงเช่นกัน

 

จากการเกิด Black Monday รอบล่าสุดในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากมูลค่าหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปค่อนข้างสูง แต่เมื่อมีการรายงานตัวเลขข้อมูลเศรษฐกิจการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการจ้างงานลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความกังวลให้กับนักลงทุน จนเกิดการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมา

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดพบว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่ตกอยู่ในอันตราย โดยจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และอาจทำให้ความตื่นตระหนกของตลาดหายไป โดยอาจพิจารณาได้จาก 4 มาตรวัด อันได้แก่ 

 

มาตรวัดที่ 1 ได้แก่ ตลาดแรงงาน พบว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แต่วัฏจักรนี้อาจแตกต่างออกไป เพราะเป็นการคลายตัวของตลาดแรงงานที่ตึงตัวเป็นพิเศษในช่วงสิ้นสุดของการแพร่ระบาดของโรคโควิด ที่ทำให้นายจ้างต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนแรงงานและความต้องการที่สูงขึ้นมาก 

 

มาตรวัดที่ 2 อาจวัดได้จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แต่ในปัจจุบันบริษัทต่างๆ ทั่วโลกของประเทศพัฒนาแล้วกำลังไปได้ดี โดยในไตรมาส 2/24 บจ.ทั่วโลก รายงานตัวเลขผลประกอบการออกมาดีที่สุดในรอบ 7 ไตรมาส

 

มาตรวัดที่ 3 ได้แก่ ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจปัจจุบัน (Concurrent Economic Indicator) ซึ่งโดยรวมยังดีต่อเนื่อง 

 

มาตรวัดที่ 4 ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งส่งสัญญาณที่ดีขึ้น โดยมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

เปิดบทเรียน Black Monday รอบล่าสุด

 

สำหรับบทเรียนที่ได้จากสถานการณ์ Black Monday รอบล่าสุด มีดังนี้ 

 

  1. เศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วในปัจจุบันยังห่างไกลกับสภาวะถดถอย โดยเครื่องชี้ว่าเศรษฐกิจจริงต่างๆ เช่น รายได้ประชาชน ตลาดแรงงาน การผลิตภาคอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่ง GDP เองก็ยังอยู่ในโซนที่แข็งแกร่ง 

 

  1. ในปัจจุบันยังไม่มีการเก็งกำไรที่ใช้สถานะกู้ยืมสูง (Highly Leverage) ที่จะนำไปสู่การปรับสถานะรุนแรง แต่อาจมีนักลงทุนบางส่วนทำธุรกรรม Yen Carry Trade ทำให้ต้องปรับสถานะ 

 

  1. ในปัจจุบันไม่มีความเสี่ยงสภาพคล่อง (Liquidity Risk) รวมถึงมีความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk) มากเท่าวิกฤตก่อนๆ 

 

อย่างไรก็ตาม อาจต้องจับตามูลค่าของหุ้นกลุ่ม AI ที่ขึ้นมามาก แต่ในปัจจุบันราคาหุ้นที่ลดลง 30% จากระดับสูงสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ตลาดเข้าใกล้ภาวะปกติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่ดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูงมายาวนาน โดยเฉพาะในสหรัฐฯ อาจนำไปสู่ภาวะผันผวนได้บ้าง ซึ่งการลดดอกเบี้ยของ Fed จะช่วยปรับสมดุลให้กับการลงทุนได้ในระยะต่อไป

 

สำหรับการลงทุนในภาวะปัจจุบัน แนะนำให้นักลงทุนมีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น เพราะอาจมีความผันผวนมากขึ้น รวมถึงมีโอกาสปรับฐานได้บ้าง

 

อย่างไรก็ดี หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มมาต่อเนื่องในระดับที่มีมูลค่าแพง ส่งผลให้นักลงทุนน่าจะเริ่มมองโอกาสการลงทุนกระจายออกไปในสินทรัพย์อื่นๆ ทั่วโลก เช่น ตลาดหุ้นไทยที่ก่อนหน้านี้ปรับตัวลงแรงค่อนข้างมาก หากปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองไม่ได้มีความรุนแรง รวมถึงเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวดีขึ้น ก็มีโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยรวมถึงตลาดหุ้นเอเชียจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้บ้างในระยะต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising