×

รู้จัก Black Fungus เชื้อราดำที่กำลังซ้ำเติมวิกฤตโควิด-19 ในอินเดีย

25.05.2021
  • LOADING...
Black Fungus

ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แพทย์ในอินเดียเริ่มแสดงความกังวลและส่งสัญญาณเตือนปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของกรณีการติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส (Mucormycosis) หรือที่รู้จักในชื่อเชื้อราดำ (Black Fungus) ซึ่งปกติแล้วเกิดขึ้นได้ยาก แต่มีความร้ายแรงและมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมากกว่า 50%

 

สิ่งที่น่ากังวลคือกรณีการติดเชื้อราดำที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศเกือบ 9,000 ราย ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งบางรายที่กำลังฟื้นตัวแต่มีภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอ หรือมีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน อาการกลับทรุดหนักเพราะเชื้อรามรณะนี้ โดยช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเชื้อราดำแล้วอย่างน้อย 90 ราย

 

ขณะที่ 2 รัฐในอินเดียตัดสินใจประกาศให้กรณีการติดเชื้อราดำที่เพิ่มขึ้นเป็นโรคระบาด แม้จะไม่พบการระบาดจากคนสู่คน เช่นเดียวกับรัฐบาลกลางที่เฝ้าจับตามองกรณีการติดเชื้อราดำในฐานะโรคระบาดที่กำลังซ้ำเติมสถานการณ์โควิด-19 

 

เชื้อราดำคืออะไร ติดเชื้อได้อย่างไร และน่ากลัวแค่ไหน

 

  • มิวคอร์ไมโคซิส (Mucormycosis) คือเชื้อราที่พบในสภาพแวดล้อมที่อับชื้น เช่นในดิน หรือปุ๋ยหมัก ปกติไม่ใช่เชื้อราที่เป็นอันตรายต่อคนส่วนใหญ่ที่ร่างกายแข็งแรง และไม่ระบาดจากคนสู่คน แต่สำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่รับประทานยาสเตียรอยด์ และผู้ที่มีอาการร่วมอื่นๆ เช่น มะเร็งหรือการปลูกถ่ายอวัยวะ อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรงขึ้น ซึ่งในอินเดียมีประชากรผู้ใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานสูงถึง 12-18%

 

  • การติดเชื้อราดำอาจเกิดได้หลายทาง ทั้งทางระบบทางเดินหายใจจากการสูดสปอร์เชื้อราเข้าสู่ร่างกาย การกลืนสปอร์เชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหาร หรือติดเชื้อทางผิวหนังจากการปนเปื้อนในบาดแผล 

 

  • เชื้อราดำสามารถแพร่กระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น ดวงตา ปอด หรือแม้แต่สมอง และก่อให้เกิดอาการดำคล้ำ การเปลี่ยนสีที่จมูก ตาพร่ามัวหรือเห็นภาพซ้อน เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หรือไอเป็นเลือด ซึ่งในผู้ป่วยที่เชื้อราเข้าสู่สมอง อาจทำให้สูญเสียการมองเห็น หรือเกิดโพรงในใบหน้า

 

  • ที่มาของชื่อ เชื้อราดำ เกิดจากการที่เชื้อราบุกรุกเข้าไปในหลอดเลือด และทำให้การไหลเวียนเลือดในอวัยวะส่วนปลายลดลง จนก่อให้เกิดเนื้อร้ายหรือการตายของเนื้อเยื่อซึ่งจะกลายเป็นสีดำ

 

  • CDC ระบุผลการศึกษาวิจัยผู้ติดเชื้อราดำ 929 ราย ย้อนไปตั้งแต่ปี 1885 พบอัตราการเสียชีวิตรวมมากถึง 54%

 

ความเชื่อมโยงระหว่างเชื้อราดำกับโควิด-19

 

  • การติดเชื้อราดำจะเกิดได้ง่ายเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งผู้ป่วยโควิด-19 มีภูมิคุ้มกันในร่างกายที่อ่อนแอจากไวรัส และการใช้ยาสเตียรอยด์รักษาอาการอักเสบในปอดที่มีผลกดภูมิคุ้มกัน 

 

  • ผู้ป่วยโควิด-19 หลายรายในอินเดียที่กำลังอยู่ระหว่างฟื้นตัวและมีภูมิคุ้มกันต่ำ พบว่าติดเชื้อราดำจนทำให้อาการทรุดหนัก 

 

  • ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รับการรักษาด้วยการให้ออกซิเจนในห้อง ICU อาจมีการติดตั้งเครื่องทำความชื้นภายในห้อง ซึ่งเพิ่มการสัมผัสความชื้นและทำให้มีแนวโน้มติดเชื้อราได้มากขึ้น 

 

การรักษาเชื้อราดำ

 

  • เชื้อราดำสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาต้านเชื้อรา ซึ่งมักจะให้ทางหลอดเลือดดำ ตัวยาที่ใช้มากที่สุด คือยา Amphotericin B ซึ่งกำลังถูกนำมาใช้ต่อต้านการระบาดในอินเดีย แต่ปัจจุบันเริ่มเกิดภาวะขาดแคลนในหลายโรงพยาบาล เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้ยาขาดตลาด

 

  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อราดำอาจใช้ยารักษานานถึง 6 สัปดาห์กว่าจะฟื้นตัว โดยการฟื้นตัวนั้นขึ้นอยู่กับว่าได้รับการวินิจฉัยและรักษาเร็วแค่ไหน

 

  • หลายครั้งที่จำเป็นต้องมีการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่ตายหรือติดเชื้อออกไปจากร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดการสูญเสียอวัยวะ อย่างขากรรไกรบน หรือแม้แต่ดวงตา

 

การระบาดของเชื้อราดำเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน

 

  • การติดเชื้อราดำนั้นพบได้ทั่วโลก แต่จริงๆ เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก

 

  • CDC สหรัฐฯ เผยข้อมูลจากการสำรวจในย่านอ่าวซานฟรานซิสโกระหว่างปี 1992 และ 1993 พบกรณีการติดเชื้อราดำ ปีละประมาณ 1.7 ราย ต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน

 

  • ในอินเดีย อัตราการติดเชื้อราดำสูงมากกว่าทั่วโลก 70 เท่า โดยมีหลายปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย เช่น อัตราผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สูงเกินควบคุม และประชาชนจำนวนมากไม่เคยเข้ารับการตรวจสุขภาพ

 

  • สภาพอากาศในประเทศอินเดียที่ร้อนชื้น ทำให้เชื้อราดำเติบโตได้ง่าย และเป็นไปได้ว่าการระบาดของเชื้อราดำที่พบในอินเดียตอนนี้เป็นเพราะอยู่ในช่วงฤดูร้อน

 

สถานการณ์ระบาดของเชื้อราดำในอินเดียเวลานี้

 

  • พบผู้ติดเชื้อราดำในอินเดียเกิน 8,800 ราย และเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 250 ราย

 

  • มี 5 รัฐที่พบกรณีผู้ติดเชื้อราดำมากที่สุด ได้แก่ มหาราษฏระ มัธยประเทศ หรยาณา เตลังกานา และคุชราต โดยรัฐมหาราษฏระมีผู้ติดเชื้อสูงสุดมากกว่า 2,000 ราย ในจำนวนนี้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล 800 ราย และเสียชีวิต 90 ราย

 

  • เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลกลางอินเดียประกาศให้เชื้อรามิวคอร์ไมโคซิสเป็นโรคระบาดที่แจ้งให้ทราบได้ (Notifiable Disease) หมายความว่าทุกรัฐและดินแดนของอินเดียต้องรายงานกรณีผู้ติดเชื้อแก่รัฐบาลกลาง

 

ภาพ: Pratham Gokhale / Hindustan Times via Getty Images

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X