×

เสียงจากผู้ประสบภัย ‘ปลาหมอคางดำ’ ในวันที่ไม่เชื่อว่า ‘ปลากะพง’ จะจบปัญหาได้

18.07.2024
  • LOADING...
ปลาหมอคางดำ

วันนี้ (18 กรกฎาคม) ทีมข่าว THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจปัญหาการแพร่ระบาดของเอเลี่ยนสปีชีส์ ‘ปลาหมอคางดำ หรือ ปลาหมอสีคางดำ’ ในพื้นที่ประมงน้ำจืดและบริเวณน้ำกร่อย ตั้งแต่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องไปจนถึงอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร 

 

เสียงจากไต๋เรือ

 

ไต๋เรือรายหนึ่งเปิดใจกับทีมข่าวถึงหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาการเพิ่มประชากรของปลาหมอคางดำ โดยกรมประมงจะปล่อยปลากะพง ที่มีสถานะเป็นปลานักล่า เพื่อกินปลาหมอคางดำที่ยังไม่โตเต็มวัยเพื่อหวังตัดตอนการเติบโต ขยายพันธุ์

 

ไต๋เรือกล่าวว่า ปลากะพงที่จะมีการปล่อยสู่แหล่งน้ำในช่วงนี้ (เดือนกรกฎาคม หรือเดือนที่ 7) จะมีขนาดประมาณ 4 นิ้ว ในระยะเวลา 2 เดือนหลังจากนี้เชื่อว่าปลากะพงสามารถโตไปได้ที่ขนาด 7 นิ้ว

 

แต่ทั้งนี้แหล่งน้ำธรรมชาติจะมีการหมุนเวียนของสภาพน้ำ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน 8 จะมีน้ำเสียเพิ่มขึ้นเนื่องจากเข้าฤดูฝน ฉะนั้นสิ่งที่ตามมาคือปลากะพงจะปรับตัวกับสภาพน้ำที่เริ่มเสียไม่ได้

 

ตรงกันข้ามกับปลาหมอคางดำที่อัตราการเติบโตเร็วกว่าปลากะพงอยู่แล้วและยังทนได้กับทุกสภาพน้ำ จึงน่ากังวลมากว่าท้ายที่สุดปลาหมอคางดำจะกินปลากะพงที่โตไม่ทันและอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ

 

ตนเองในฐานะที่เป็นไต๋เรือจึงไม่เชื่อว่าปลากะพงจะจบปัญหาปลาหมอคางดำที่ระบาดมานานกว่า 3 ปีแต่พึ่งมีการรณรงค์อย่างจริงจังให้จับในช่วงนี้

 

ไต๋เรืออธิบายต่อว่า จากนี้ช่วงเดือน 8 ถึงเดือน 9 (เดือนสิงหาคม-กันยายน) หากหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ ออกมาบอกว่าปลาหมอคางดำจำนวนลดลง ขอให้เข้าใจว่าเป็นช่วงหน้าฝน น้ำเติมเข้ามาในแหล่งน้ำและพัดปลาต่างๆ ลงทะเล ปลาหมอคางดำเหล่านี้ก็จะถูกพัดพาไปเติบโตในทะเล และอาจจะอยู่ยาวจนถึงเดือน 4 ของปีหน้าเพื่อกลับเข้ามายังแหล่งน้ำเดิม

 

ส่วนความคิดเรื่องการนำปลาหมอคางดำไปเพิ่มมูลค่า สร้างเมนูบนโต๊ะอาหาร ผู้กินต้องรับทราบว่าปลาหมอคางดำเนื้อไม่ได้นิ่มเหมือนปลานิลทั่วไป หากอยู่ในน้ำเค็มปลาหมอคางดำรสชาติจะดี น่ารับประทาน แต่ถ้าถูกจับจากน้ำจืดที่ส่วนมากอยู่ในคลองน้ำทิ้ง เชื่อว่าถ้าคนกินเห็นสภาพคลองคงคิดไม่ออกว่าจะอร่อยได้อย่างไร

 

ไต๋เรือกล่าวว่า ปลาประเภทนี้หากนำมาทำอาหารแนะนำว่าจะต้องกินทันทีตอนที่ยังร้อนๆ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้เนื้อปลาจะเริ่มแข็งจนกินไม่ได้ ส่วนตามตลาด ปลาแดดเดียวหากปลาถูกตัดหัวก็เป็นเรื่องยากมากที่จะแยกความต่างระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำ ถ้ามีร้านที่นำปลาหมอคางดำไปปะปนขายกับปลานิล คนซื้ออาจจะหลงซื้อได้แค่คร้ังเดียวเพราะรับประทานไปก็จะแยกออก

 

เสียงจากเจ้าของบ่อกุ้ง

 

หมู เจ้าของบ่อกุ้งในจังหวัดสมุทรสาครเล่าว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่บ่อยังไม่ทราบวิธีจัดการปลาหมอคางดำ จึงต้องตัดสินใจเลิกทำบ่อกุ้งและเปลี่ยนไปเลี้ยงอย่างอื่น เพราะกุ้งที่ลงไว้ในบ่อหายหมด ตรงกันข้ามกับปลาหมอคางดำที่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้จะเคยลองเลี้ยงหอยแต่ก็หนีไม่พ้นปัญหาเดิม ถูกกินเรียบ

 

ปัจจุบันที่บ่อใช้วิธีโรย ‘กากชา’ ในบ่อกุ้งเพื่อไล่ปลาออกไป แม้จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยกากชา 10 กิโลกรัม ราคาประมาณ 240 บาทต่อบ่อขนาด 10-20 ไร่ เพื่อจับปลาหมอคางดำไปส่งขายที่แพรับซื้อในกิโลกรัมละ 6 บาทก็ต้องทำ

 

หมูอธิบายวิธีการว่า จะโรยกากชาในบ่อกุ้งที่ต้องการให้ปลาหมอคางดำรู้สึกเมาจากฤทธิ์กากชา จากนั้นเปิดน้ำออกจากบ่อให้ปลาที่เมาไหลออกมาหาน้ำสะอาดที่ปลายน้ำ ซึ่งปลายน้ำที่ว่านี้จะวางตาข่ายดักไว้รอ

 

เมื่อถามถึงการกำจัดปลาหมอคางดำด้วยปลากะพง 

 

“เราลองมาหมดแล้ว แต่พูดได้เลยว่าไม่ได้ผล ปลากะพงไม่ได้กินปลาหมอคางดำมากพอที่จะกำจัด และสุดท้ายปลากะพงเองกลายเป็นถูกผู้ล่า นั่นก็คือคนตกไป” หมูกล่าว

 

หมูกล่าวต่อว่า ตอนนี้แม้เราจะบอกว่าโกรธกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่จะให้ไปโทษกรมประมงทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะเขาไม่ใช่ต้นเหตุ และกรมประมงเองพยายามที่จะหาทางแก้ให้แม้จะไม่ค่อยได้ผล 

 

“สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือหาทางกันเองแบบไม่ต้องคาดหวังว่าขายปลาหมอคางดำแล้วจะมีกำไร คิดเพียงว่าให้ต้นทุนที่เลี้ยงกุ้งเลี้ยงหอยไม่ขาดทุนก็พอ” หมูกล่าว

 

เสียงจากผู้ใช้แรงงาน

 

ทีมข่าวได้พบประชาชนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันหว่านแหหาปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยหัวหน้ากลุ่มเล่าว่า วันนี้หลังเลิกงานได้ชวนเพื่อนๆ ออกมาลงแหหาปลาเพื่อเก็บเสบียงไว้ทำอาหารกินช่วงวันหยุด โดยกลุ่มของพวกเขาทำอาชีพรับเหมาก่อสร้างละแวกพระราม 2 กรุงเทพฯ ถึงสมุทรสาคร ทุกครั้งที่มีวันหยุดจะชวนกันมาหาปลา ทำแบบนี้มา 4 ปีแล้ว

 

ปลาที่หาได้ทั้งหมดมากกว่าร้อยละ 90 คือ ปลาหมอคางดำ น้อยครั้งมากที่จะได้ปลานิลหรือปลากระบอกเล็ก แต่ละครั้งที่จับใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จะได้ปลาหมอคางดำประมาณ 3-4 กิโลกรัม ที่ผ่านมาไม่มีช่วงไหนที่ได้ปลาหมอคางดำน้อยไปกว่านี้ ซึ่งปลาทั้งหมดจะแบ่งทำอาหารหลายประเภท ต้ม ผัด แกง ทอด และหมักปลาร้า กินในแต่ละวันช่วง 1 สัปดาห์ สำหรับคน 8 คน

 

“ปลาไม่ได้นุ่มเหมือนปลานิล แต่ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ เจ้าของที่เขาก็สนับสนุนให้เข้ามาจับปลาพวกนี้ไป” หัวหน้ากลุ่มกล่าว

 

เสียงสะท้อนจากเรา

 

ในจุดสุดท้ายที่ทีมข่าวสำรวจคือแหล่งน้ำธรรมชาติในวัดแห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีการระบุไว้ว่าเป็นเขตอภัยทาน ประชาชนในพื้นที่ได้ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันนี้ปลาท้องถิ่นไม่มีเหลือแล้ว ปลาที่ว่ายอยู่คือปลาหมอคางดำ และปลาท้องถิ่นลูกผสมปลาหมอคางดำ 

 

จากการสำรวจของทีมข่าวพบว่า ถัดจากแหล่งน้ำที่มีปลาหมอคางดำรวมกันจำนวนมาก มีซุ้มร้านค้าปลาปล่อยตั้งเรียงรายรอผู้ประสงค์ทำบุญนำปลาไปปล่อย ซึ่งปลาปล่อยเหล่านี้ส่วนมากคือลูกปลานิลขนาดตัวไม่ใหญ่เท่าปลาหมอคางดำที่อยู่ในแหล่งน้ำเขตอภัยทาน 

 

ในประเด็นเขตอภัยทานนี้ทั้งไต๋เรือและแม้แต่เจ้าของบ่อกุ้งมองตรงกันว่าเขตอภัยทานกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาหมอคางดำชั้นดี เพราะเป็นที่ที่ประชาชนไม่สามารถเข้ามาจับได้เอง (หากไม่มีโครงการหรือการนำของหน่วยงาน) อีกทั้งยังได้อาหารคือลูกปลาเล็กๆ ทั้งหลายและอาหารปลาจากผู้ที่มาทำบุญ ฉะนั้นเมื่อปลาหมอคางดำได้เติบโตเต็มที่แล้ว พวกมันก็จะออกไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป

 

ปลาหมอคางดำเพศผู้สามารถอมลูกปลาไว้ในปากได้

ปลาหมอคางดำเพศผู้สามารถอมลูกปลาไว้ในปากได้

 

ประชาชนหว่านแหจับปลาหมอคางดำ

 

ปลาหมอคางดำจำนวนมากที่ถูกจับ

 

ไข่ของปลาหมอคางดำ 

ปลาหมอคางดำเพศผู้สามารถอมไข่ไว้ในปากได้

 

ปลาหมอคางดำเติบโตในเขตอภัยทาน

 

ปลาหมอคางดำจำนวนมากในเขตอภัยทาน

 

เจ้าของบ่อกุ้งดักจับปลาหมอคางดำ

 

ปลาหมอคางดำที่ถูกจับได้จากการโรยกากชา

 

ปลาหมอคางดำจากบ่อกุ้งส่งขายแพรับซื้อ

 

ปลาหมอคางดำเพศเมีย

 

ปลาหมอคางดำในบ่อกุ้ง

 

ปลาหมอคางดำหลายขนาด

 

เรือประมงบนแม่น้ำท่าจีนใกล้ปากอ่าว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X