×

กทม. จับมือ JICA และเมืองโยโกฮามา หารือแผนขับเคลื่อนเรื่องสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดย THE STANDARD TEAM
25.08.2022
  • LOADING...
ก๊าซเรือนกระจก

วันนี้ (25 สิงหาคม) ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ เขตราชเทวี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนา ‘กรุงเทพมหานครกับการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน เพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ (The Bangkok Climate and Energy Action Conference for Net Zero Greenhouse Gas Emission) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) และเมืองโยโกฮามา เพื่อเผยแพร่แผนแม่บทกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมี ทาซากะ ทาคุโระ อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, เรียวอิชิ กาวาเบะ ผู้แทนอาวุโส ของ JICA สำนักงานประเทศไทย, พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม., ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมงานเสวนา 

 

ชัชชาติกล่าวว่า ปัจจุบัน กทม. ได้รับการสนับสนุนจาก JICA และเมืองโยโกฮามามาอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเริ่มจากการจัดทำแผนปฏิบัติการ ว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อน พ.ศ. 2550-2555 ซึ่งภายหลังนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556-2566 และมาถึงแผนแม่บทฯ ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2564-2573) มีความสอดคล้องกับความตกลงปารีส และในการดำเนินงานได้บูรณาการนโยบายและโครงการต่างๆ ภายใต้แผนดังกล่าวในแผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี

 

นอกจากนี้ กทม. ยังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม รัฐบาลญี่ปุ่น ดำเนินโครงการ City-to-City Collaboration for Zero-Carbon Society ร่วมกับเมืองโยโกฮามา สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน เพื่อดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่กรุงเทพฯ

 

โดยโครงการดังกล่าวมีกิจกรรมที่สนับสนุน ได้แก่

 

  1. การจัดทำแผนปฏิบัติการพลังงานของ กทม.

 

  1. การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน

 

  1. การพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคเอกชน

 

ทาง กทม. จะเป็นผู้นำร่องจากกิจกรรมที่เห็นผลได้จริง โดยจะพัฒนาโครงการ กทม. ปลอดคาร์บอน (BMA Net Zero) เพื่อเป็นแบบอย่างของการเอาจริงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่องค์กรอื่น โดยคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทรัพย์สินของ กทม. และมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการผลิตพลังงานทดแทน การใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงทางพลังงาน สนับสนุนเรื่องการเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) 

 

รวมทั้งสนับสนุนการเดินทางโดยรถสาธารณะ ที่สำคัญคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก โดยมีการตั้งเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ให้ได้ 1 ล้านต้น ภายใน 4 ปี ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมแล้ว 1.6 ล้านต้น ภายใน 3 เดือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุกคนมาร่วมมือกันเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิกาศในกรุงเทพฯ

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า เรื่องก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งโลก (Global) คิดเป็นนโยบายต่อเนื่องมา ในขณะเดียวกันแต่ละท้องที่ (Local) ต้องมีนโยบายที่ทำให้เป็นจริง ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่นั้น ในส่วนของกรุงเทพฯ ทาง JICA ได้ทำเรื่องเมืองคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) อย่างต่อเนื่อง และทำเรื่องปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ (Carbon Footprint) ไว้แล้ว หน้าที่เราคือทำอย่างไรที่จะสามารถลดได้ ซึ่งมีอยู่ 4 อย่าง คือ ลดการใช้รถยนต์ ลดการใช้พลังงานที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะและน้ำเสีย และปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มสีเขียว ซึ่งเป็นกิจกรรมหลัก คิดว่าการเสวนาในวันนี้จะได้แนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และสามารถทำให้กรุงเทพฯ ก้าวไปสู่ Net Zero ได้ 

 

สำหรับการประชุมเสวนาในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ 2 คือ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน โดยแบ่งการบรรยายออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ในช่วงเช้าบรรยายในหัวข้อ ‘ภาพรวมด้านพลังงานเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของกรุงเทพมหานคร’ โดยผู้แทนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม 

 

และการเสวนาในหัวข้อ ‘มุมมองจากภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ต่อภาพรวมด้านพลังงานเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของกรุงเทพมหานคร’ ส่วนในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาในหัวข้อ ‘สถานการณ์ล่าสุดของแผนแม่บทกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ และการเสวนาหัวข้อ ‘กรุงเทพมหานครและเมืองโยโกฮามาภายใต้โครงการความร่วมมือ City-to-City’

 

โดยผู้ร่วมเสวนามาจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม ภาคีเครือข่ายของกรุงเทพมหานคร ในการดำเนินกิจกรรมปิดไฟ ลดโลกร้อน และภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านการจัดการพลังงาน และด้านการขนส่ง รวมถึงภาคประชาชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X