×

กรุงเทพฯ เมือง (เตรียม) ทรุด?

30.10.2019
  • LOADING...
การขยายตัวของเมือง

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การขยายตัวรองรับการเจริญเติบโตของประชากรด้วยการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม หรือแม้แต่รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ทั่ว กทม. ส่งผลกระทบกับลักษณะภูมิประเทศเดิมของกรุงเทพฯ เนื่องจากสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะไปขวางทางน้ำไหล
  • ปัจจุบันระบบระบายน้ำท่วมของกรุงเทพฯ สามารถรองรับได้เพียง 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
  • ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบอกว่า แผ่นดินใน กทม. ทรุดลง 15 มิลลิเมตรต่อปี เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง แต่ รศ.เอนก มองว่า ไม่น่าใช่ทั้งหมด เพราะรัฐบาลได้สั่งการไม่ให้สูบน้ำบาดาล จึงทำให้ความดันของน้ำใต้ดินสูงขึ้น

การขยายตัวของกรุงเทพมหานครยังคงเติบโตต่อเนื่อง ผู้คนยังแห่แหนเข้ามาหาเงินเลี้ยงชีพ การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็จำเป็นต้องมีขึ้นทุกหัวระแหง จนบางครั้งทำให้กรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองศิวิไลซ์ แทบไม่มีพื้นที่หายใจ

 

สิ่งก่อสร้างทั่วกรุงเทพฯ สะท้อนความหนาแน่นของประชากร ที่ส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่นเข้ามาทำงาน หรือแม้แต่คนกรุงเทพฯ เอง ที่ยอมแลกความสะดวกสบายกับความแออัดในห้องสี่เหลี่ยมราคาหลายล้าน 

 

การขยายตัวของเมือง

 

คอนโดที่ผุดขึ้นตามซอกเล็กซอกน้อย หรืออพาร์ตเมนต์ที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงโครงการหมู่บ้านจัดสรรตามชานเมือง ที่ใครหลายคนมองว่าสะดวกสบาย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบคนเมืองได้อย่างสมบูรณ์แบบนั้น จะมีใครรู้บ้างว่า การเจริญเติบโตของเมืองใหญ่ที่รวดเร็วจนเราเองตามไม่ทัน ทำให้ระบบการคมนาคมและการระบายน้ำของ กทม. ใช้การไม่ได้

 

การขยายตัวของเมือง

 

รศ.เอนก ศิริพานิชกร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ยอมรับว่า การขยายตัวของเมือง เพื่อรองรับการเพิ่มจำนวนประชากร ด้วยการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม หรือแม้แต่รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ทั่ว กทม. ส่งผลกระทบกับลักษณะภูมิประเทศเดิมของกรุงเทพฯ เนื่องจากสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะไปขวางทางน้ำไหล เมื่อเกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำไม่สามารถไหลผ่านช่องทางธรรมชาติได้ เพราะระบบระบายน้ำใน กทม. ยังมีส่วนเก่าอยู่มาก และมีระบบระบายน้ำที่น้อย

 

ปัจจุบันระบบระบายน้ำท่วมของกรุงเทพฯ สามารถรองรับได้เพียง 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น หากมากกว่านั้นก็จะเกิดน้ำท่วม สวนทางกับจำนวนประชากรและที่พักอาศัยที่เพิ่มขึ้น แต่ระบบไม่ถูกขยาย กลับมีการก่อสร้างขวางทางน้ำเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การก่อสร้างจึงส่งผลในแง่การเปลี่ยนแปลงพื้นที่

 

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่า ทำเลทองของโครงการอาคารชุดที่เปิดขายใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรกในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ได้แก่

 

  • ห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) 
  • พญาไท-ราชเทวี ตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส (สายสุขุมวิท) 
  • สุขุมวิท ตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส (สายสุขุมวิท) 
  • ธนบุรี-คลองสาน- บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด 
  • เมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์

 

การขยายตัวของเมือง

 

ซึ่งทุกพื้นที่ข้างต้นล้วนทำให้ผังเมืองของกรุงเทพฯ มีความแออัดเกินไป ส่งผลต่อการระบายน้ำใน กทม. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะโดยปกติแล้ว เมื่อน้ำตกลงสู่พื้นดินก็จะซึมลงใต้ดินได้ แต่เมื่อมีการสร้างอาคารที่เป็นคอนกรีตติดๆ กัน น้ำก็จะไหลมารวมกัน ทำให้เกิดน้ำท่วมได้ง่าย 

 

ขณะที่ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีลักษณะเป็นดินอ่อนถึงอ่อนมากอยู่ประมาณ 14-15 เมตร ซึ่งในทางวิศวกรรมต้องใช้ความชำนาญในการก่อสร้าง เพราะในเชิงการออกแบบฐานรากถือว่ายาก บวกกับพื้นที่กรุงเทพฯ มีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในแต่ละปีนับล้านๆ คิวบิกเมตร ส่งผลให้พื้นที่รอบนอก กทม. มีการทรุดตัวลงเฉลี่ยประมาณ 10 เซนติเมตร

 

โดยปัจจุบัน กทม. ได้ปรับเปลี่ยนระบบการออกแบบฐานราก มาใช้เสาเข็มมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร 20 เซนติเมตร ฝังลึกไปถึง 60-70 เมตร ทำให้น้ำหนักการบรรทุกจากด้านบนถ่ายเทลงสู่ด้านล่างได้ง่าย ซึ่งขณะนี้มีบริษัทใหญ่ๆ ใช้เทคโนโลยีทำคอนกรีตให้มีรูพรุน สามารถระบายน้ำได้ เป็นการลดปัญหาอาคารและสิ่งปลูกสร้างทรุด ทำให้วางระบบรากฐานลงไปใต้ดินได้ลึกขึ้น

 

การขยายตัวของเมือง

 

แม้ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะบอกว่า แผ่นดินใน กทม. ทรุดลง 15 มิลลิเมตรต่อปี โดยเกิดขึ้นจากการก่อสร้าง แต่ รศ.เอนก มองว่า ไม่น่าใช่ทั้งหมด เพราะรัฐบาลได้สั่งการไม่ให้สูบน้ำบาดาล จึงทำให้ความดันของน้ำใต้ดินสูงขึ้น พื้นที่ กทม. จึงสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2-2.50 เมตร บวกกับการทำคันคลองรอบ กทม. ก็ทำให้สามารถรับน้ำได้ดีขึ้น ส่วนการสร้างอุโมงค์รับน้ำขนาดใหญ่ รศ.เอนก เห็นว่า มีความจำเป็น เพราะตอนนี้มีแค่อุโมงค์รับน้ำมักกะสัน ซึ่งยังไม่เพียงพอสำหรับทุกเขตใน กทม. แต่จะมีวิธีอย่างไรทำให้น้ำสามารถไหลลงอุโมงค์ได้ง่ายดาย เรื่องนี้ยังคงเป็นความท้าทาย

 

การขยายตัวของเมือง

 

ในทางวิศวกรรมสามารถดำเนินการได้คือ การทำบ่อหน่วงน้ำ หรือการทำแก้มลิง ตามโครงการพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำริไว้แก้ปัญหาอุทกภัยในประเทศไทย หากสามารถดำเนินการก่อสร้างกระจายให้ทั่วพื้นที่ กทม. ก็จะช่วยให้เก็บน้ำได้

 

ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาหรือรับมือกับปัญหาจากการก่อสร้าง ควรบูรณาการในหลายช่องทาง เช่น ในเรื่องกฎหมาย ทั้งกฎกระทรวง พ.ร.บ. ผังเมือง การส่งเสริมให้มีบ่อหน่วงน้ำเพิ่มขึ้น รวมถึงการเข้าไปสำรวจพื้นที่มีระบบระบายน้ำค่อนข้างต่ำ เรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องจริงจัง 

 

การขยายตัวของเมือง

 

“รัฐบาลต้องดูเรื่องระบบการระบายน้ำให้ดีที่สุด เพราะที่ผ่านมา กทม. มีบทเรียนอยู่แล้ว ประตูน้ำเต็มไปหมด เป็นสิ่งที่ดีคือ การหาที่อยู่ให้น้ำ แต่ถ้ารัฐจะเพิ่มที่อยู่ให้น้ำ ต้องทยอยทำไป เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รัฐควรเลิกนโยบายเที่ยวเมืองรอง ลดภาษี แต่ควรส่งเสริมเรื่องแบบนี้ดีกว่า เพราะจะทำให้เมืองปลอดภัยจากน้ำท่วม” รศ.เอนก กล่าว

 

ส่วนข้อกังวลของหลายฝ่ายที่มองว่า กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่เสี่ยงจมใต้บาดาล และพื้นที่เกือบ 40% ของกรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมเร็วที่สุดคือ ในปี 2030 นั้น รศ.เอนก มองว่า ในแง่วิศวกรรมสามารถดำเนินการได้ เพราะส่วนตัวยังเชื่อมั่นในระบบการจัดการของวิศวกรรมที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งวิศวกรรมจากต่างประเทศ เพราะวิศวกรรมของไทยมีการบริหารจัดการที่ดีอยู่แล้ว

 

สุดท้าย หากการบริหารจัดการของภาครัฐในการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร และการบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยไม่ให้กีดขวางทางเดินน้ำ สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ กรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองต้นแบบที่พร้อมจะพัฒนาเมืองให้มีศักยภาพและน่าอยู่มากขึ้น และคนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือ ประชาชนอย่างเรานั่นเอง

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X