×

กทม.​ ชวนวิ่ง​ ‘BKK​ Trail วิ่งได้​ = เดินดี​’ สิ้น ก.ย. นี้ เตรียมเปิดใช้ 2 เส้นทาง 10 กม.

โดย THE STANDARD TEAM
09.09.2022
  • LOADING...
วิศณุ ทรัพย์สมพล​

วานนี้ (8 กันยายน)​ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)​ วิศณุ ทรัพย์สมพล​ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ พร้อมด้วย ธวัชชัย​ นภาศักดิ์ศรี​ รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา,​ ถนอมเกียรติ สัมมาวุฒิชัย, ทีมอาสานักวิ่ง โครงการ​ BKK Trail และนักวิ่งอาสาในโครงการฯ​ ร่วมแถลงข่าวโครงการ ‘BKK Trail​ วิ่งได้​ = เดินดี​’ ​  

 

วิศณุกล่าวว่า โครงการนี้เป็​น​ 1 ในนโยบาย 216 ข้อของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ตั้งใจจะพัฒนา Bangkok Trail (BKK Trail) เพื่อสร้างเส้นทางวิ่ง เส้นทางออกกำลังกาย และเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ ในพื้นที่​

 

ประกอบด้วย 1.​ รวบรวมเส้นทางวิ่งเทรลที่มีนักวิ่งใช้งานอยู่  2. สร้างจุดเด่นของเส้นทางด้วยการดึงจุดเด่นของพื้นที่ เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้คนมาวิ่ง เช่น สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ พื้นที่สาธารณะ และเรื่องราวที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง 3. ปรับโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมสำหรับการเดิน-วิ่ง 4. ประชาสัมพันธ์เส้นทาง BKK Trail พร้อมข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ติดตั้งแผนที่เส้นทางวิ่งในเส้นทาง จัดทำแผนที่เส้นทาง BKK Trail ออนไลน์ 

 

ก่อนหน้านี้ ทีมอาสานักวิ่งโครงการ BKK Trail ได้วิ่งนำร่องใน 4 เส้นทาง และสำรวจเส้นทางเสร็จสิ้นแล้ว 2 เส้นทาง ซึ่งระหว่างที่วิ่งนั้นทีมนักวิ่งจะถ่ายภาพสิ่งต่างๆ ที่เจอ ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อนักวิ่ง ทั้งกายภาพของการวิ่ง ภูมิทัศน์โดยรอบ จุดน้ำดื่มสะอาด จุดเข้าห้องน้ำ จุดท่องเที่ยว จุดค้าขาย และจุดจอดรถ โดยจะส่งข้อมูลเหล่านี้เข้าแอปพลิเคชันเฉพาะ คล้ายระบบแจ้งของ Traffy Fondue

 

จากนั้นเมื่อ กทม. ได้รับข้อมูลเหล่านี้แล้วก็จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้สามารถเดินทางได้สะดวก ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนา​โครงสร้างพื้นฐานของเส้นทางที่วิ่งผ่าน​ เช่น​ ทางเท้าเรียบโล่งปราศจากสิ่งกีดขวาง​ เพิ่มเติมแสงสว่างเพื่อความปลอดภัย​ ห้องน้ำสาธารณะ​ สัญญาณไฟต่างๆ เพื่อความปลอดภัย เช่น ทางม้าลาย​ ซึ่งเบื้องต้นวางเป้าหมายระยะทางรวมไว้ที่ 500 กิโลเมตร 50 เขต​ (เขตละ​ 10 กิโลเมตร) ทั่วกรุงเทพฯ 

 

วิศณุกล่าวต่อไปว่า เมืองที่น่าอยู่​ต้องมีพื้นฐานมาจากคน​ กทม. เป็นแค่ผู้ให้การสนับสนุนคนเท่านั้น แท้จริงแล้วจุดประสงค์ของโครงการนี้ นอกจากจะเพื่อปรับปรุงทางเท้าและเป็นเส้นทางวิ่ง แต่หลักๆ คือการสร้างความเจริญในชุมชนให้กับพื้นที่ การที่เราทำให้ทางเท้าเดินได้ เดินดี ก็จะสามารถดึงคนเข้าไปในชุมชน เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น เพราะมีไฟส่องสว่าง สามารถเดินตอนกลางคืนและตอนเช้าได้อย่างปลอดภัย ดังนั้น การเพิ่มคนเข้าไปในพื้นที่ก็จะส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนทางอ้อม ทำให้ชุมชนนั้นเข้มแข็งขึ้น หรือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับพื้นที่และชุมชน ประโยชน์ที่ได้จึงทวีคูณ​

 

ทั้งนี้​ การวิ่งดังกล่าวเป็นการวิ่งเพื่อทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน นำมาสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับกับหลายๆ กิจกรรม เพื่อให้เมืองตอบโจทย์กับคนทุกกลุ่ม รวมถึงพัฒนาการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับย่าน​ ซึ่งในเบื้องต้น​ สิ้นเดือนกันยายนนี้จะมีเส้นทางที่ถูกพัฒนาเพื่อการวิ่งเทรลในกรุงเทพฯ 2 เส้นทาง ความยาวเส้นทางละประมาณ 10​ กิโลเมตร 

 

ประกอบด้วย​ เส้นทางที่​ 1 อยู่ในพื้นที่ Old Town (ราชดำเนิน เจริญกรุง ผดุงกรุงเกษม) ได้แก่​ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง), คลองผดุงกรุงเกษม,​ ยศเส,​ โบ๊เบ๊-มหานาค,​ องค์การสหประชาชาติ (United Nations), เวทีมวยราชดำเนิน,​ ป้อมมหากาฬ,​ ประตูผี,​ เสาชิงช้า,​ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย,​ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร,​ สนามหลวง,​ ศาลหลักเมือง,​ วัดพระแก้ว,​ ศาลาเฉลิมกรุง,​ สามยอด,​ วัดมังกรกมลาวาส และ Chinatown 

 

เส้นทางที่​ 2 Downtown (สยาม​ บรรทัดทอง บางรัก สีลม สาทร ราชประสงค์) ได้แก่​ สยาม, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร,​ สนามกีฬาแห่งชาติ,​ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,​ ศาลแรงงาน, โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม​, อาคารไปรษณีย์กลาง,​ โรงเรียนอัสสัมชัญ, ตลาดบางรัก,​ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน,​ อาคารมหานคร,​ ถนนพัฒน์พงศ์, สวนลุมพินี,​ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์,​ ราชกรีฑาสโมสร,​ โรงพยาบาลตำรวจ และเซ็นทรัลเวิลด์ โดยในอนาคตจะพัฒนากระจายให้ครบทั้ง 50 เขตต่อไป 

 

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่จะดำเนินการพัฒนานั้นมาจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน​ เช่น​ ความร่วมมือระหว่าง กทม. กับประชาชน โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มนักวิ่ง BKK Trail ในการสำรวจและเก็บข้อมูล​ ความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ ในเมือง​ อาทิ​ การติดตั้งจุดน้ำดื่มจากการประปานครหลวง (กปน.), ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานใน กทม. อาทิ​ สำนักการโยธา (สนย.) จะปรับปรุงพื้นที่​กายภาพต่างๆ,​ สำนักงานเขตในแต่ละพื้นที่ จะกำหนดจุดจอดรถ จุดพัก​ จุดถ่ายรูป จุดน้ำดื่ม ห้องน้ำ ร้านค้า และสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) จะส่งเสริมเส้นทางที่วิ่งให้เป็นเส้นทางวิ่งเชิงท่องเที่ยวในอนาคต

 

​“โครงการ​ BKK Trail จะมีการเปิดเส้นทางให้นักวิ่งที่สนใจมาเป็นนักวิ่งอาสาในโครงการนี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถกดเข้าร่วมกลุ่มในเฟซบุ๊ก โดยค้นหาชื่อว่า 42.195K Club…เราจะไปมาราธอนด้วยกัน เพื่อติดตามรายละเอียดและลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม​” วิษณุกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising