วานนี้ (7 กันยายน) พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม. กำลังเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกให้กับนักเรียนกลุ่มเสี่ยงสังกัด กทม. โดยประชาสัมพันธ์แจ้งโรงเรียนในสังกัด กทม. ทั้ง 437 โรงเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 12-18 ปี (กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง) เข้ารับการฉีดวัคซีน Pfizer กับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2564 โดยให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่าน QR Code ตั้งแต่วันที่ 6-8 กันยายน 2564 ซึ่งนักเรียนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ โดยมีเอกสารที่ระบุการเจ็บป่วย เช่น ใบรับรองแพทย์ ใบนัดตรวจสถานพยาบาล ใบรับรองความพิการ ใบรับรองหรือเอกสารใดๆ ที่ระบุว่ามีการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังตามเกณฑ์ที่กำหนด
ทั้งนี้ กทม. ได้ทำการสำรวจข้อมูลนักเรียนในสังกัดที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนเกี่ยวกับการรับวัคซีน โดยสำรวจผู้ที่มีภาวะเสี่ยงและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ดังนี้
ผู้ที่มีภาวะเสี่ยง กลุ่มอายุ 12-13 ปี น้ำหนัก 70 กิโลกรัม กลุ่มอายุ 13-15 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัม กลุ่มอายุ 15-18 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัม และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่
- โรคอ้วน ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น
- โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
- โรคเบาหวาน
- กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า
นอกจากนี้ กทม. โดยสำนักอนามัย ได้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการให้บริการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ทุกสังกัดในพื้นที่ กทม. โดยจะมีการประชุมหารือแนวทางร่วมกันในวันที่ 9 กันยายน 2564 ซึ่งคาดว่าจะมีการวางแผนร่วมกันตั้งแต่การสำรวจกลุ่มเป้าหมายนักเรียนและผู้ปกครองถึงความประสงค์ให้เข้ารับวัคซีนโควิด การจัดหน่วยสาธารณสุขเพื่อให้บริการฉีดวัคซีน การติดตามอาการภายหลังได้รับวัคซีน การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติและการเตรียมตัวเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด ในกลุ่มเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 12-18 ปี เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิดให้กับนักเรียนจะต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคในสถานศึกษาด้วย