×

เผยจัดเก็บกระทงทั่ว กทม. ปี 2562 ยอดกว่า 5 แสนใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติ 96%

โดย THE STANDARD TEAM
12.11.2019
  • LOADING...
วันลอยกระทง

วันนี้ (12 พฤศจิกายน) พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการจัดเก็บกระทงในพื้นที่กรุงเทพมหานครประจำปี 2562 ว่า กทม. โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต ได้ร่วมกันจัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอย เพื่อแสดงความขอบคุณและขอขมาพระแม่คงคาในเทศกาลลอยกระทงเมื่อคืนวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

โดยในปีนี้ กทม. จัดงานลอยกระทงที่บริเวณใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) และคลองโอ่งอ่าง พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้ประชาชนลอยกระทงบริเวณริมแม่น้ำ คูคลอง บึงน้ำ สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่เอกชนอีกหลายแห่ง โดย กทม. ได้ระดมเจ้าหน้าที่ดำเนินการเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ลำคลองต่างๆ และสวนสาธารณะทั้ง 30 แห่ง ที่เปิดให้ประชาชนลอยกระทงทั่วพื้นที่ กทม. 

 

ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นับและคัดแยกกระทงเสร็จสิ้นในเวลา 06.00 น. ของวันที่ 12 พฤศจิกายน รวมจัดเก็บกระทงได้จำนวนทั้งสิ้น 502,024 ใบ กระทงส่วนใหญ่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้จำนวน 483,264 ใบ คิดเป็นร้อยละ 96.3 และกระทงที่ทำจากโฟมจำนวน 18,760 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.7

 

พล.ต.อ. อัศวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปี 2562 จัดเก็บกระทงได้ลดลงกว่าปี 2561 จำนวน 339,303 ใบ (ปี 2561 จัดเก็บกระทงได้จำนวน 841,327 ใบ) หรือคิดเป็นร้อยละ 40.3 โดยเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายเพิ่มขึ้นจากปี 2561 จากร้อยละ 94.7 เป็นร้อยละ 96.3 ส่วนกระทงโฟมลดลงจากร้อยละ 5.3 เป็นร้อยละ 3.7

 

ทั้งนี้ พื้นที่เขตที่มีปริมาณกระทงมากที่สุดคือ เขตลาดกระบัง จำนวน 33,353 ใบ ส่วนเขตที่มีปริมาณกระทงน้อยที่สุดคือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จำนวน 214 ใบ เขตที่มีจำนวนกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติมากที่สุดคือ เขตลาดกระบัง จำนวน 33,321 ใบ และเขตที่จำนวนกระทงโฟมมากที่สุดคือ เขตประเวศ จำนวน 1,250 ใบ

 

พล.ต.อ. อัศวิน กล่าวอีกว่า จากข้อมูลดังกล่าว แม้ว่าปีนี้จำนวนกระทงที่จัดเก็บได้ลดลงกว่าปีที่แล้ว แต่ร้อยละของกระทงที่ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติก็ไม่ได้ลดลง ซึ่งแสดงว่าประชาชนและผู้จำหน่ายกระทงมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

 

สำหรับกระทงที่จัดเก็บได้ กทม. ได้ดำเนินการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง และนับจำนวนเพื่อเก็บสถิติ จากนั้นจะนำกระทงจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายง่ายส่งไปยังโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่โรงงานขยะหนองแขม ส่วนกระทงโฟมและวัสดุที่ย่อยสลายยากจะถูกนำไปทำลายโดยการฝังกลบ เพื่อรอการย่อยสลายต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X