×

ชัชชาติเผย กทม. จะไม่ยื่นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความปมภาษีที่ดิน หลังขอปรับเกณฑ์เก็บใหม่ แต่เจอคลังเบรก เดินหน้าหาวิธีอื่น

โดย THE STANDARD TEAM
06.10.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วานนี้ (5 ตุลาคม) ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2565 หลังจากสภา กทม. เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

ชัชชาติกล่าวว่า เดิมที กทม. มีการเก็บภาษีโรงเรือน อัตรา 12.5% ของรายได้ แต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเก็บตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ไม่ว่าใครจะทำอะไรต้องเสียภาษีในอัตราเท่ากัน สำหรับข้อกังวลคือ ปีงบประมาณ 2564 กทม. อาจเก็บภาษีได้ไม่มาก ประมาณการไว้ประมาณ 7.5 พันล้านบาท แต่เมื่อสิ้นปีงบประมาณ (เดือนกันยายน 2565) เก็บได้เกินเป้าคือ 1.4 หมื่นล้านบาท 

 

ปัญหาที่พบคือข้อมูลพื้นที่ไม่ครบถ้วน เนื่องจากไม่ได้มีการอัปเดต ปัจจุบัน กทม. เก็บข้อมูลได้เพียง 3,000,000 กว่าแปลง จากทั้งหมด 5,500,000 แปลง คาดว่าปีงบประมาณ 2565 ประมาณการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท 

 

สำหรับการจัดเก็บภาษีของ กทม. จัดเก็บเอง 30% หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดย 70% เป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เหลือรัฐบาลกลางส่งมาให้เป็นภาษีล้อเลื่อน หรือ VAT ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ส่วนปัญหาการนำที่ดินขนาดใหญ่ไปใช้เป็นที่ดินเกษตรเพื่อให้เสียภาษีอัตราต่ำ ที่ 0.01% กทม. จึงเสนอปรับอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทที่ดินเกษตรกรรมตามสีของผังเมือง

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ทางกระทรวงการคลังสั่งหยุด และเสนอว่าหากจะดำเนินการต้องไปถามความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ทั้งนี้ กทม. คงไม่ยื่นเรื่องไป เพราะไม่ใช่เรื่องที่ต้องตีความ แต่เป็นเรื่องเจตนารมณ์ หากกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วยก็คงต้องหาวิธีอื่นต่อไป

 

นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัญหาการแบ่งที่ดินเป็นแปลงแยกย่อย ทำให้ราคาประเมินถูกลง เก็บภาษีได้น้อยลงด้วย การตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ จึงต้องพิจารณาทุกมิติ ปัญหาต่างๆ ต้องแจ้งรัฐบาลต่อไป เพราะ กทม. ไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บังคับใช้ อัตราต่างๆ กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำหนดร่วมกัน 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X