วานนี้ (21 เมษายน) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศปส.กทม.) ครั้งที่ 4/2568 โดยมี นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัด กทม. หน่วยงานภายนอก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมทั้งในห้องประชุมและผ่านระบบออนไลน์
การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา และหารือแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย โดยที่ประชุมได้รับรายงานสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่น่ากังวล โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของยาเสพติดชนิดใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ ‘ยาอีลาบูบู้’ ซึ่งมีลักษณะคล้ายตุ๊กตา ‘ลาบูบู้’ ที่กำลังเป็นที่นิยม
ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วย 3 รายที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลังจากไปร่วมกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ในกรุงเทพฯ แล้วเกิดอาการหมดสติ กล้ามเนื้อเกร็งรุนแรง หยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น จากการสืบสวนพบว่า ผู้ป่วยทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกับการใช้สารเสพติดที่เรียกกันในกลุ่มผู้ใช้ว่า ‘ขนม’ หรือ ‘ลาบูบู้’ ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย ส่วนอีก 1 ราย ยังคงมีอาการสาหัสและรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู
สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้ตรวจพิสูจน์ยาเสพติด ยาอี ลักษณะคล้าย ลาบูบู้ ที่ได้รับรายงานจากศูนย์พิษวิทยา พบว่า ประกอบด้วยสารสำคัญ ได้แก่
- MDMA (ยาอี – Ecstasy): พบในปริมาณความเข้มข้นสูงกว่ายาอีทั่วไป (ยาอีปกติมักพบ MDMA ราว 40-50%)
- คีตามีน (Ketamine)
- คาเฟอีน (Caffeine)
การผสมสารหลายชนิด โดยเฉพาะ MDMA ที่มีความเข้มข้นสูง ร่วมกับคีตามีนและกาเฟอีน ทำให้ยาอี ลาบูบู้ ออกฤทธิ์รุนแรงและเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างยิ่งยวด
จากสถานการณ์ดังกล่าว ที่ประชุม ศปส.กทม. ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการหาแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของยาอีลาบูบู้ควบคู่ไปกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ เนื่องจากรูปลักษณ์ภายนอกที่คล้ายของเล่น อาจทำให้เยาวชนหรือประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดและเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการระบาดในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว