×

Bitcoin ฉบับย่อยง่าย EP.1 เข้าใจ Bitcoin คืออะไร เกิดมาทำไม และทำงานอย่างไร

05.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins read
  • อธิบายให้ง่ายที่สุด Bitcoin คือ สกุลเงิน หรือทรัพย์สิน (แล้วแต่ใครจะนิยาม) บนโลกดิจิทัลที่ผู้คนบางกลุ่มใช้ในการแลกเปลี่ยนกับสิ่งของหรือเงินตรา ไม่ต่างจากเงินสกุลธรรมดาที่เราใช้กันอยู่
  • ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจเอา iPhone ไปแลกเปลี่ยนกับ Bitcoin หรือคุณอาจเสนอขาย Bitcoin ให้เพื่อนของคุณโดยแลกกับเงินสกุลใดสกุลหนึ่งในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน
  • บางคนเรียก Bitcoin ว่า ‘Cryptocurrency’ คำว่า Crypto นั้นหมายถึงวิธีการสร้าง Bitcoin ที่สร้างขึ้นด้วยกลไกการเข้ารหัสทางคณิตศาสตร์ (Cryptographic Mechanism) บนระบบ Blockchain
  • ดังนั้น Bitcoin จึงไม่ใช่ Blockchain และ Blockchain ไม่ใช่ Bitcoin

ผมคิดว่า Bitcoin วันนี้มีสถานะเหมือนคนมีชื่อเสียง ทุกคนรู้จัก แต่มีไม่กี่คนที่เข้าใจ

 

Bitcoin คืออะไร เกิดมาทำไม และทำงานอย่างไร

 

ถ้าบอกว่า Bitcoin คือเงินสกุลดิจิทัลที่มีชีวิตอยู่บนระบบที่เรียกว่า Blockchain ผมคิดว่าจะมีคนฟังอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ “อ๋อ” เพราะเข้าใจ กลุ่มสองคือ “อืม…” แบบงงๆ

 

ถ้าคุณเป็นคนกลุ่มที่สอง บทความนี้เหมาะกับคุณอย่างยิ่ง (ส่วนกลุ่มแรกกด ‘Skip’ บทความนี้ไปได้เลย)

 

ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า Bitcoin ไม่ได้อยู่ลอยๆ แต่อยู่บนระบบที่ชื่อ Blockchain

 

Photo: www.biggerlawfirm.com

 

Blockchain คืออะไร?

ถ้าคุณคิดว่า Blockchain คือนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ความคิดนี้ถูกแค่ครึ่งเดียว เพราะแท้จริงแล้ว Blockchain เป็นนวัตกรรมที่ตั้งต้นมาจากระบบบัญชี หรือระบบบันทึกข้อมูลที่ไม่มีที่เก็บข้อมูลส่วนกลาง ผิดจากในอดีตที่การเก็บข้อมูลต่างๆ จำเป็นต้องอาศัย ‘คนกลาง’ ที่หมายถึงหน่วยงานหรือบุคคลที่สามที่น่าเชื่อถือ

 

เช่น คุณโอนเงินไปให้ นาย ก. จำนวน 100 บาท ในกระบวนการนี้จะมีคนกลางคือ ‘ธนาคาร’ ที่จะบันทึกข้อมูลว่า มีการโอนเกิดขึ้นจริง ถ้า นาย ก. จะมาโมเมว่าไม่เคยได้รับเงิน 100 บาท คงเป็นไปไม่ได้

 

แล้วเราเชื่อถือคนกลางได้แค่ไหน การฝากความหวังและบางสิ่งไว้กับคนกลางเพียงคนเดียวเวิร์กหรือไม่?

 

คำตอบที่ผ่านมาคือ ‘เวิร์ก’ เพราะในอดีตยังไม่มีวิธีไหนเวิร์กเท่าวิธีนี้ แต่เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน อินเทอร์เน็ตทำให้ทุกคนเชื่อมถึงกันได้ ก็พบวิธีอื่นที่เวิร์กกว่า นั่นคือเปลี่ยนสถานะของ ‘คนกลาง’ จากคนเดียวหรือไม่กี่คน ให้มาขึ้นอยู่กับคนทุกคน และสร้างความน่าเชื่อถือโดยให้แต่ละคนตรวจสอบกันและกัน

 

Photo: www.emchat.net

 

ระบบ Blockchain คือแนวคิดที่จะสร้างไอเดียนี้ให้เป็นจริง แต่ไอเดียก็ยังคงเป็นไอเดียอยู่หลายปี จนกระทั่งในปี 2008 มีบุคคลที่ใช้นามแฝง ‘ซาโตชิ นากาโมโตะ’ (Satoshi Nakamoto) นำแนวคิดนี้มาทำให้เกิดขึ้นจริงผ่านสกุลเงินดิจิทัลที่ชื่อ ‘Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System’ ซึ่งเขาเป็นผู้สร้างขึ้น

 

การนำระบบ Blockchain มาใช้จนประสบความสำเร็จเป็นเคสแรกของโลก ทำให้ Bitcoin กลายเป็นที่พูดถึง เพราะนี่คือการทำความฝันให้กลายเป็นความจริง

 

ถามว่าความฝันนี้สวยงามแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับเราเข้าใจความฝันนี้มากน้อยเพียงไร

 

Bitcoin คืออะไร?

อธิบายให้ง่ายที่สุด Bitcoin คือ สกุลเงิน หรือทรัพย์สิน (แล้วแต่ใครจะนิยาม) บนโลกดิจิทัลที่ผู้คนบางกลุ่มใช้ในการแลกเปลี่ยนกับสิ่งของหรือเงินตรา ไม่ต่างจากเงินสกุลธรรมดาที่เราใช้กันอยู่

 

Photo: img.huffingtonpost.com

 

เช่น คุณอาจเอา iPhone ไปแลกเปลี่ยนกับ Bitcoin หรือคุณอาจเสนอขาย Bitcoin ให้เพื่อนของคุณโดยแลกกับเงินสกุลใดสกุลหนึ่งในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน

 

 

อัตราแลกเปลี่ยนของ Bitcoin เทียบกับเงินบาทไทย ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561

 

ด้วยเหตุที่ Bitcoin เป็นสกุลเงินที่ถูกสร้างขึ้นบนโลกดิจิทัล สถานะของมันจึงแตกต่างจากสกุลเงินทั่วไป คือ ไม่มี ‘สสาร’ ในรูปของธนบัตรหรือเหรียญในโลกแห่งความเป็นจริง

 

คุณคงเคยได้ยินใครสักคนเรียก Bitcoin ว่าสกุลเงินดิจิทัล หรือบางคนอาจเรียก ‘Cryptocurrency’

 

คำว่า Crypto นั้นหมายถึงวิธีการสร้าง Bitcoin ที่สร้างขึ้นด้วยกลไกการเข้ารหัสทางคณิตศาสตร์ (Cryptographic Mechanism) บนระบบ Blockchain

 

ดังนั้น Bitcoin จึงไม่ใช่ Blockchain และ Blockchain ไม่ใช่ Bitcoin

 

ส่วนระบบที่รันอยู่เบื้องหลัง Bitcoin นั้นค่อนข้างมีความสลับซับซ้อนสูง เพราะประกอบไปด้วยกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ระบบบัญชี ระบบการเงิน และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งพัฒนาและรันในรูปของซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์

 

เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ เราสามารถแบ่งโครงสร้างการทำงานของ Bitcoin เป็นส่วนๆ ดังนี้

 

Hash

การเข้ารหัสทางคณิตศาสตร์แบบกำหนดรูปแบบ ‘ผลลัพธ์’ ที่แน่นอน และไม่สามารถถอดรหัสย้อนกลับได้ (ฟังดูยากเนอะ) งั้นดูตัวอย่างกันเลยครับ

 

Photo: upload.wikimedia.org

 

สังเกตจากภาพจะเห็นว่า แค่เปลี่ยนตัวอักษรในประโยคแค่ตัวเดียว ผลลัพธ์ที่ได้ก็คนละเรื่องเลย

 

ดังนั้น Hash จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญของ Blockchain และ Bitcoin เพราะใช้สำหรับเข้ารหัสในหลายๆ ส่วน เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลและธุรกรรม

 

Bitcoin และ Blockchain ส่วนใหญ่เลือกใช้ ‘SHA-256’ ซึ่งเป็น Hash รูปแบบหนึ่งที่ออกแบบโดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติประจำสหรัฐอเมริกา หรือ NSA

 

Asymmetric-Key Cryptography

ระบบกุญแจเข้ารหัสแบบสมมาตร จัดเป็นรูปแบบการทำงานหนึ่งบนระบบ PKI (Public Key Infrastructure) หรือ เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ

 

ซึ่งจะมี ‘กุญแจรหัส’ สำหรับเข้าและถอดรหัส 2 ดอก ได้แก่

  • กุญแจสาธารณะ (Public Key)
  • กุญแจส่วนตัว (Private Key)

 

กุญแจ 2 ดอกนี้ทำงานอย่างไร? เพื่อให้เห็นภาพ ผมขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับการเปิดบัญชีธนาคารที่หลายคนคุ้นเคยนะครับ

 

การจะมีกุญแจ 2 ดอกนี้ได้ คุณต้องก้าวเข้าไปในโลกของ Bitcoin ก่อน ด้วยการเปิดบัญชี ซึ่งทำได้ 2 วิธีด้วยกัน

 

  1. ติดตั้งซอฟต์แวร์แบบเต็มรูปแบบของ Bitcoin บนคอมพิวเตอร์ของเรา
  2. ลงทะเบียนกับผู้ให้บริการ Bitcoin Wallet

 

พอลงทะเบียน (เปิดบัญชี) เรียบร้อย คุณก็จะได้กุญแจ 2 ดอกนี้

 

Photo: i.stack.imgur.com

 

  1. กุญแจสาธารณะ (Public Key) ที่จะอยู่ในรูปของ Wallet Address ซึ่งเป็นเลขรหัส (มีสถานะเหมือนเลขที่บัญชี) ใช้สำหรับบอกคนอื่นว่านี่คือกระเป๋าสตางค์ของคุณ

 

เลขรหัสเกิดจากการคิดคำนวณแบบสุ่มโดยใช้ฟังก์ชัน Hash และยากมากที่ทุกคนจะได้เลขรหัสซ้ำกัน เพราะมีจำนวนความเป็นไปได้เท่ากับ 2160 หรือ… 1,461,501,637,330,902,918,203,684,832,716,283,019,655,932,542,976 ซึ่งจำนวนดังกล่าวมากกว่าจำนวนเม็ดทรายบนโลกใบนี้

 

ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดเลขรหัส หรือ Wallet Address ซ้ำกันจึงต่ำมาก จนมีค่าเท่ากับ ‘0’ (อ่านเกี่ยวกับ Bitcoin Address เพิ่มเติม)

 

ใครที่นึกภาพ Wallet Address ไม่ออก สามารถเข้าไปดูตัวอย่างได้จากลิงก์นี้ blockchain.info

 

  1. กุญแจส่วนตัว (Private Key) เป็นเลขรหัสเช่นกัน แต่ห้ามเปิดเผยเด็ดขาด เพราะเป็นเสมือนรหัสลับใช้ในการเข้าถึงเงินในกระเป๋าสตางค์ ถ้าทำหายจะไม่สามารถกู้คืนได้ ต้องทิ้ง Wallet นั้นไปเลย เพราะฉะนั้นต้องรักษาให้ดี

 

หรือถ้าคนอื่นแอบล่วงรู้ นั่นเท่ากับ Private Key ของคุณถูกขโมย คนที่ล่วงรู้จะสามารถเปิดกระเป๋าเอา Bitcoin ของคุณไปได้ สิ่งสำคัญที่คุณต้องรู้คือ เมื่อธุรกรรมเกิดบน Blockchain แล้วจะไม่สามารถย้อนคืนได้ เพราะฉะนั้นจงเก็บ Private Key ของคุณให้ดี

 

Photo: steemitimages.com

 

ระบบกุญแจ 2 ดอกบนระบบ Blockchain มีความน่าสนใจตรงที่ทุกคนสามารถตรวจสอบข้อมูลของกันและกันได้ ทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นในระบบจึงมีความน่าเชื่อถือและโปร่งใส

 

แต่อีกด้านหนึ่งก็มีข้อถกเถียงในประเด็น ‘สภาวะการไม่แสดงตัวตน’ (Pseudo-anonymity) เนื่องจาก Wallet Address หรือ Public Key ที่ใช้แค่ระบุ ‘ที่อยู่’ ของกระเป๋าสตางค์ แต่ไม่ได้บอกว่าคนคนนั้นคือ ‘ใคร’

 

ลองดูตัวอย่างการซื้อ Bitcoin จำนวนมาก แต่ไม่สามารถระบุตัวตนผู้ซื้อได้ที่ An unknown capitalist has purchased 96,650 BTC

 

ด้วยช่องว่างตรงจุดนี้เอง ‘คนบางกลุ่ม’ จึงใช้ Bitcoin เพื่อประโยชน์ในการ ‘ฟอกเงิน’ หรือหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบข้อมูลทางการเงิน

 

เรื่องนี้เป็น ‘ประเด็นสำคัญ’ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงและยังไม่มีข้อยุติ คาดว่าจะต้องถกเถียงกันต่อไปในอนาคต

 

Photo: insidestory.org.au

 

Photo: www.amongtech.com

 

ถึงตรงนี้คุณคงเห็นแล้วว่า Bitcoin จะเข้ามาช่วยเปลี่ยนระบบการเงินในโลกใบเดิมให้ดีขึ้นได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็คงเห็น ‘ช่องว่าง’ บางอย่าง เพราะในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์แบบ ขึ้นอยู่กับเราว่าจะเอาสิ่งไม่สมบูรณ์แบบนี้มาใช้ประโยชน์อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

เอาล่ะ ถ้าคุณอ่านมาถึงบรรทัดนี้ เท่ากับว่าคุณได้รู้เรื่องราวเบื้องหน้าของ Bitcoin มาพอสมควรแล้ว และจะดีกว่านี้ ถ้าคุณมีกุญแจสองดอกนั้น เพื่อจะเดินทางสู่ตอนต่อไปเกี่ยวกับโลกเบื้องหลังของ Bitcoin

 

เคยสงสัยไหมครับว่าเหรียญ Bitcoin มาจากไหน Blockchain ระบบที่อยู่เบื้องหลัง Bitcoin ทำงานอย่างไร ทำไม Blockchain ถึงเป็นระบบที่น่าเชื่อถือ ปลอดภัย และจะเปลี่ยนโลกทั้งใบ ตอนหน้าผมจะเล่าให้ฟังครับ

 

เรียบเรียง: วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์

FYI
  • อยากรู้จักโลกของ Bitcoin อย่างละเอียด แนะนำอ่าน White Paper ของ Bitcoin ที่ https://bitcoin.org/bitcoin.pdf
  • ระบบการทำงานของ Public-Private Key ของ Bitcoin ในบทความ เป็นการพูดถึงในเชิงคอนเซปต์เพื่อให้เข้าใจง่าย แต่ถ้ากล่าวโดยละเอียดจะพบว่ากลไกการเข้ารหัสมีความซับซ้อน ซึ่งผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://bitcoin.org/en/developer-guide#wallets
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising