#metoo น่าจะเป็นแคมเปญที่มีอิทธิพลมากที่สุดแคมเปญหนึ่งในประเด็นทางเพศ
สำหรับฉัน ความสำคัญของแคมเปญ #metoo คือการพลิกกลับบทบาทของผู้ถูกกระทำหรือผู้ถูกล่วงละเมิดจากการเป็น ‘เหยื่อ’ ที่ต้องย่อยยับอับปาง เจ็บปวดกับบาดแผล หวาดผวา หวาดกลัว หลอน ขยะแขยง แปดเปื้อน ให้กลายเป็น ‘ผู้แสวงหาความยุติธรรม’
ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศคือผู้ถูกละเมิดสิทธิ์ ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ไม่ได้ต่างอะไรจากการถูกขโมยของ ถูกโจรขึ้นบ้าน ถูกฉ้อโกง ดังนั้นเมื่อถูก ‘ละเมิด’ ก็ต้องออกมาแจ้งความ ออกมาพูด ออกมาป่าวประกาศ ออกมาประณามคนที่ละเมิดเรา แทนที่จะกลัว จะอาย เพราะความอายไม่ได้อยู่ที่ผู้ถูกละเมิด แต่อยู่ที่ผู้ละเมิดต่างหาก
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำให้การล่วงละเมิดทางเพศในลักษณาการใดก็ตามดำเนินมาได้เรื่อยๆ นั่นเป็นเพราะการ ‘ปิดปาก’ หรือ ‘ความเงียบ’ ที่ดำเนินไปภายใต้ความอาย และคงไม่ต้องเขียนซ้ำซากว่าความอายเพราะถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้นเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม หนทางเดียวที่เราจะเป็นอิสระและกอบกู้อำนาจของเราขึ้นได้ก็คือต้องรื้อไอ้เจ้าตัวประกอบสร้างนั้นออกไปเสีย
สำหรับฉัน แม้แคมเปญ #metoo ที่เกิดขึ้นจะจุดประกายได้สว่างไสว แต่กลับไม่สามารถผลักดันประเด็นให้ถึงรากถึงโคนของปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศให้ลึกไปกว่านี้ได้ ไม่นับว่าแคมเปญนี้เกือบจะทำให้เราเห็นว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องของ ‘ผู้หญิง’ ที่ถูกกระทำจากผู้ชาย ในพื้นที่ข่าวของ #metoo แทบไม่มีประเด็นของการล่วงละเมิดทางเพศผู้ชาย เด็กผู้ชาย และเพศอื่นๆ เลย
ทำไมเราจึงต้องให้ความสำคัญกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศของ ‘ผู้ชาย’ ด้วย ลองมาดูในส่วนที่เป็นสถิติกัน
- ในรายงานของ The National Alliance to End Sexual Violence บอกว่า 14% ของคนถูกข่มขืนที่รายงานเข้ามาเป็นผู้ชายและเด็กผู้ชาย ซึ่ง 1 ใน 6 ของรายงานเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศนั้นเกิดกับผู้ชาย
- ในผลวิจัยของ University of California”s Health and Human Right Law Project ระบุว่า เหยื่อข่มขืนที่เป็นชายไม่ได้พบมากในเขตสงครามหรือในแอฟริกาเท่านั้น แต่ยังพบในชิลี, กรีซ, โครเอเชีย, อิหร่าน, คูเวต, สหภาพโซเวียต และยูโกสลาเวีย
- 21% ของชายศรีลังกาที่เข้าบำบัดที่ London Torture Treatment Centre เป็นชายที่ถูกข่มขืน
- จากผลการสำรวจในปี 1980 พบว่า 76% ของนักโทษการเมืองเพศชายในเอลซัลวาดอร์เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ค่ายกักกันในเมืองซาราเยโว 80% ของผู้ถูกจับกุมเพศชายรายงานว่าตัวเองถูกข่มขืน
- ในอังกฤษ จำนวนผู้ถูกข่มขืน 78,000 คน มีผู้ชายอยู่ 9,000 คน และน่าจะเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเหยื่อผู้ชายจะไม่กล้าเข้าแจ้งความ
- ในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เด็กชายเป็นเหยื่อของการข่มขืน 2-3% ในขณะที่สถิติของเด็กหญิงอยู่ที่ 1%
- ในฮ่องกง กรณีเด็กชายถูกข่มขืนสูงกว่าเด็กหญิง 2.7%
- ปี 2017 ในอังกฤษ มีรายงานว่ามีผู้ชายถูกข่มขืน 12,000 คน ผู้หญิง 85,000 คน
- กรณีของไทย เด็กผู้ชายถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่าเด็กผู้หญิง 3-5 เท่า ส่วนรูปแบบนั้นมีทั้งการพูดลวนลาม จับจูบลูบคลำจากคนใกล้ชิด หนักสุดก็ถูกล่อลวงหรือบังคับร่วมเพศ และที่พบในเพศชายมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะความรู้สึกที่ไม่คิดว่าการที่ผู้ชายใกล้ชิดหรือไปกับผู้ชายด้วยกันจะเกินเลยถึงขั้นล่วงละเมิดทางเพศ
บาดแผลของผู้ชายที่ถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศคือการที่สังคมสร้างให้ผู้ชายเป็นตัวแทนของความเข้มแข็ง ความเป็นผู้นำ เป็นผู้กระทำ มิใช่ผู้ถูกกระทำ ผู้ชายจึงตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า no man is allowed to be vulnerable
เมื่อไรก็ตามที่ผู้ชายถูกข่มขืนหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเป็นชายของเขาล่มสลายลงไปด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ถูกข่มขืนหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้ชายด้วยกัน พวกเขาไม่กล้าแจ้งความ ไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง เพราะกลัวคนอื่นจะมองว่าเขากลายเป็นเกย์ กลัวถูกเพื่อนเลิกคบ กลัวโดนรังเกียจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่เกลียดชัง เหยียดหยามเกย์ หรือการเป็นเกย์นั้นผิดกฎหมาย สังคมเช่นนี้ยิ่งซ้ำเติมผู้ชายที่ถูกข่มขืนหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ภรรยาของเหยื่อข่มขืนที่เป็นชายบางคนถึงกับเลิกกับสามี เพราะไม่เชื่ออีกแล้วว่าสามีของเธอยังคงเป็น ‘ผู้ชาย’ อยู่ ดังนั้นจึงไม่อาจดำรงสถานะ ‘สามี’ ได้
นอกจากจะอ่อนแอไม่ได้และมีปมเกลียดกลัวเกย์มาซ้ำเติมผู้ชายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้ว ดูเหมือนว่าสังคมยังเข้าใจเรื่องเพศและการถูกข่มขืนของผู้ชายอย่างผิดๆ อีกด้วย เช่น
- ลูกผู้ชายไม่อ่อนแอ มายาคตินี้ทำให้สังคมไม่เชื่อว่าผู้ชายสามารถตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนได้
- ผู้ชายเป็นเพศที่หื่น บ้ากามโดยธรรมชาติ คนมักคิดว่าถ้าอวัยวะเพศชายแข็งตัวแล้วจะมีการร่วมเพศหลังจากนั้น และจบลงด้วยการถึงจุดสุดยอด แปลว่าผู้ชายเหล่านั้นเอ็นจอยกับการร่วมเพศ และเต็มใจจะมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งที่มีโอกาส แต่จากงานวิจัยของ Roy J. Levin และ Willy Van Berlo ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Forensic Medicine ชี้ให้เห็นว่า แม้แต่ความเครียดก็สามารถทำให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายได้ โดยที่อวัยวะเพศนั้นไม่ได้ถูกกระตุ้นหรือสัมผัสใดๆ เลย การแข็งตัวของอวัยวะเพศชายสามารถเกิดขึ้นทั้งโดยความเจ็บปวดและบาดแผลจากการสถานการณ์ทางกามารมณ์ ดังนั้นการแข็งตัวของพวกเขาไม่ใช่เครื่องยืนยันความยินยอมพร้อมใจที่จะมีเพศสัมพันธ์ และชัดเจนว่าการแข็งตัวของอวัยวะเพศไม่เกี่ยวกับ ‘ความต้องการหรือการตอบสนองต่อการปลุกเร้า’ แรงปรารถนาทางเพศกับการถูกกระตุ้น ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน (arousal and stimulation is not the same thing) การถูกกระตุ้นเป็นปฏิกิริยาตอบสนองทางกาย ไม่ใช่ทางอารมณ์ความรู้สึก ผู้ชายจำนวนไม่น้อยรู้สึกกลัว หวาดผวาต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศที่ตนเองไม่ได้มีความรู้สึกร่วม
- ผู้ชายเจ็บปวดน้อยกว่าผู้หญิงเมื่อถูกข่มขืน ข้อนี้ไม่เป็นความจริงเลย เมื่อผู้ชายถูกข่มขืน บาดแผลของพวกเขาจะถูกซ้ำเติมจากอคติของสังคมที่ไม่เชื่อว่าพวกเขาคือเหยื่อ และความเครียดกังวลจะสั่งสมยาวนานกว่าผู้หญิง
- ผู้ชายที่ถูกข่มขืนแปลว่าโชคดี ในกรณีที่ผู้ชายถูกผู้หญิงข่มขืน เมื่อไปแจ้งความ หรือเมื่อเป็นข่าว สังคมจะพูดถึงกรณีเหล่านั้นอย่างตลกขบขัน และแสดงความเห็นในทำนองว่าช่างเป็นผู้ชายที่โชคดีเสียนี่กระไร!
จากข้อมูลเหล่านี้คงพอทำให้เราเห็นภาพว่า การเป็น ‘ผู้ชาย’ ไม่ได้เท่ากับ ‘ผู้กระทำทางเพศ’ สักแต่ว่ามีจู๋แข็งๆ แล้วจะได้เที่ยวเดินหน้าเอาจู๋นั้นทิ่มแทงคนได้เสมอไปโดยจะไม่มีวันตกเป็นผู้ถูกกระทำเสียเอง
ความเชื่อที่ว่าผู้ชายคือเพศที่เกิดมาเพื่อจะมักมาก หื่น ไม่เคยพอในทางกามารมณ์ อันเป็นเหตุผลที่คนจำนวนมากใช้อธิบายว่าทำไมผู้ชายชอบตีกะหรี่หรือต้องมีเมียหลายคนจึงเป็นอคติทางเพศโดยแท้ อคตินี้นำไปสู่การมองปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่อง ‘เพศ’ ผิดฝาผิดตัวไปอีกหลายเรื่อง
เช่น การมีเมียหลายคนของผู้ชายไม่เกี่ยวกับ ‘ความหื่น’ แต่เกี่ยวกับการสถาปนาระบบครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวขึ้นในสังคมสมัยใหม่ และปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเป็นผัวเดียวเมียเดียวนั้นไม่ได้เป็นสมบัติของมนุษยชาติมาตั้งแต่ต้น ทว่าจะทำให้มันสำเร็จก็ต้องการปัจจัยเกื้อหนุนหลายอย่าง กระนั้นความบิดพลิ้วของระบบนี้ก็ยังถูกตัดสิน ให้คุณค่า และประณามแตกต่างกันออกไปในแต่ละกรณี หรือในแต่ละบริบททางสังคมการเมืองอีก (แต่เมื่อเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นหลักของบทความชิ้นนี้ก็จะขอเว้นไปก่อน)
กลับมาที่อคติทางเพศแบบทวิลักษณ์ที่เห็นว่าหญิงอ่อนแอ ชายเข้มแข็ง เมื่อมาถึงปริมณฑลของการการล่วงละเมิดทางเพศและการข่มขืนจึงมีปัญหา เพราะมันทำให้เราละเลยประเด็นผู้ชายที่ถูกละเมิดไปเสียหมด เนื่องจากเราไปโฟกัสเรื่องเพศและความเปราะบางของผู้หญิงมากกว่าจะพยายามทำความเข้าใจว่า การล่วงละเมิดทางเพศและการข่มขืนเป็นเรื่องของการแสดงอำนาจที่เหนือกว่าของอีกฝ่ายหนึ่งผ่านร่างกายและกามารมณ์
หนักกว่านั้น เมื่อคิดเรื่องการแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขืนจึงมักโฟกัสไปที่การสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับ ‘ผู้หญิง’ มากกว่า การสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับ ‘ทุกคน’ เช่น แนวคิดเกี่ยวกับตู้รถไฟหญิงล้วน รถเมล์หญิงล้วน ลานจอดรถหญิงล้วน ฯลฯ แนวคิดนี้เหมือนจะหวังดีต่อผู้หญิง แต่ผลด้านลบของมันน่าสยดสยองสำหรับผู้หญิงมาก เพราะนั่นเท่ากับว่าผู้หญิงจะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีพิเศษราวกับพืชผักที่ต้องถูกจับไปอยู่ในกรีนเฮาส์ แลดูเป็นเพศที่พิกลพิการ เปราะบางต่อการถูกทำลาย ง่ายต่อการถูกทุบทิ้ง ถ้าอยากมีชีวิตอยู่ดีๆ ก็ต้องไปใช้ชีวิตในห้องปลอดเชื้อ
แล้วด้วยแนวคิดเช่นนี้ไม่ใช่หรือที่หลายๆ สังคมแยกสิ่งมีชีวิตหญิง-ชายออกจากกัน ไม่ให้ทำกิจกรรมร่วมกันโดยสิ้นเชิง เช่นหลายๆ ประเทศในตะวันออกกลางที่ไม่ว่าผู้หญิงจะทำกิจกรรมอะไรก็ต้องไปทำในที่ที่จัดไว้ให้ผู้หญิงโดยเฉพาะ แล้วมันก็ทำไปบนวิธีคิดที่ว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้หญิง
#metoo จะไม่มีความหมายเลย หากเราหมกมุ่นอยู่ในสภาวะแห่งความเปราะบาง อ่อนแอ การตกเป็นเหยื่อของผู้หญิง เพราะนั่นยิ่งตอกย้ำอคติว่าผู้หญิงคือสิ่งมีชีวิตที่พร้อมจะแตกสลายทุกเมื่อ ซึ่งผู้หญิงทุกคนย่อมรู้ว่ามันไม่จริง เว้นแต่เราจะสมยอมต่อกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมนั้น และเริ่มพูด เริ่มคิด เริ่มใช้ชีวิตแบบสิ่งเปราะบาง จนในที่สุดเราก็จะแตกสลายลงไปจริงๆ
#metoo ต้องขยายขอบเขตไปที่เพศอื่นๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ชายออกมาเปิดเผยบาดแผล ความไร้สมรรถภาพ ความอ่อนแอ การยอมจำนน การถูกกระทำ และการชำเราให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อทลายสภาวะขั้วและคู่ตรงข้ามระหว่างจู๋-จิ๋ม ที่เอาเข้าจริงๆ หน้าที่สำคัญที่สุดของมันคือเอาไว้ฉี่มากกว่าร่วมเพศเสียด้วยซ้ำ และไม่ได้บอกสภาวะทางกามารมณ์และเพศสภาพของเราเลย
อย่าให้แคมเปญเพื่อปลดปล่อยเราออกจากอคติทางเพศแบบเดิมอย่าง #metoo กลายเป็นเครื่องมือตอกย้ำมายาคติเรื่องเพศที่ตั้งอยู่บนปทัสถานของความเป็นหญิง-ชายอันรังแต่จะอำพรางภาวะการกระทำทางอำนาจที่กดทับมนุษย์ทุกเพศไว้อย่างเท่าเทียมกันหมด ไม่เว้นแม้แต่ ‘ผู้ชาย’ ที่ถูกทำให้เชื่อว่าพวกเขาคือเพศที่เป็นใหญ่อยู่
อ้างอิง:
- endsexualviolence.org/where-we-stand/male-victims
- www.theguardian.com/society/2011/jul/17/the-rape-of-men
- www.voicetv.co.th/read/17247
- en.wikipedia.org/wiki/Rape_of_males