×

Bird Thongchai on IG กลยุทธ์ตีป้อม Gen Z ของ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์

19.03.2021
  • LOADING...
Bird Thongchai on IG กลยุทธ์ตีป้อม Gen Z ของ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ถ้าพูดถึงแพลตฟอร์มที่ครองใจวัยรุ่นยุคนี้ ก็ต้องยกให้ทวิตเตอร์และอินสตาแกรม แต่ทวิตเตอร์ดูจะดุเดือดเกินไป ในขณะที่อินสตาแกรมมีความทันสมัยและดูเฟรนด์ลี่กว่า นี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลให้พี่เบิร์ดเลือกเปิดบัญชีอินสตาแกรมสำหรับสื่อสารอีกช่องทางหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นสื่อยอดนิยมที่สายข่าวบันเทิงใช้เป็นแหล่งข้อมูลหาข่าวดารา นั่นย่อมมีผลต่อการชิงพื้นที่สื่ออย่างเลี่ยงไม่ได้
  • ระยะหลังๆ คนดังที่ไม่คิดว่าจะเล่นโซเชียลมีเดียก็หันมาเล่น ไม่ว่าจะเป็น เจมส์ มาร์, ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร, ณเดชน์ คูกิมิยะ, ปาล์มมี่-อีฟ ปานเจริญ ทำให้เราได้เห็นแง่มุมที่ไม่ได้ผ่านการปรุงแต่งจนทำให้รู้สึกรักพวกเขามากขึ้น ใครจะคิดว่าภายใต้ภาพลักษณ์ศิลปินจัดๆ ของปาล์มมี่ ตัวจริงเธอเป็นคนตลกมาก หรือจริงๆ แล้วณเดชน์เป็นคนที่ถ่ายรูปสวยและอ้อนแฟนเก่งมาก
  • เหล่านี้คือแง่งามแสนธรรมดา แต่มันสะท้อนความเป็น ‘มนุษย์’ ที่สัมผัสใจคนรุ่นใหม่

“พี่เบิร์ดเล่นอินสตาแกรมแล้วเหรอ…เออ…อืมๆ” นี่อาจเป็นปฏิกิริยาของเด็กรุ่นใหม่เมื่อรู้ว่าบุคคลที่เราพูดถึงคือ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ แต่สำหรับคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไป นี่คือเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะ ‘พี่เบิร์ด’ สำหรับคนในเจเนอเรชันตั้งแต่ Baby Boomer ถึง Gen Y ตอนต้น เขาคือซูเปอร์สตาร์ผู้หวงแหนความเป็นส่วนตัวอย่างที่สุด การลงมาเล่นอินสตาแกรมในวัย 62 ปีแบบนี้น่าจะมีนัยอะไรบางอย่างมากกว่าความสนุกแน่นอน 

 

ถ้าย้อนในสู่ยุค 80 ภาพลักษณ์ของซูเปอร์สตาร์มักออกมาในรูปแบบ ‘Untouchable’ ยิ่งสัมผัสยากยิ่งน่าหลงใหล เราจึงได้เห็นคนกรี๊ดจะเป็นจะตายเมื่อได้ขึ้นเวทีกับไมเคิล แจ็คสัน หรือการได้เห็นมาดอนน่าเดินถนนก็นับว่าเป็นสิ่งแสนพิเศษ สำหรับในเมืองไทย ก็เห็นจะมีแต่พี่เบิร์ด ธงไชยนี่แหละที่เราแทบไม่ได้เห็นเขาออกจากบ้านเลย ทั้งจากนิสัยส่วนตัวที่ชอบอยู่ติดบ้าน บวกกับความ ‘ดัง’ ของเขาในยุคนั้นที่เวลาออกไปไหนจะต้องมีแฟนคลับรุมล้อม (ครั้งหนึ่งพี่เบิร์ดเคยให้สัมภาษณ์ว่าไปเดินสวนจตุจักรแล้วพ่อค้าแม่ค้าไม่ได้ขายของเลย เขาจึงตัดสินใจไม่ออกไปไหนอีก) เรียกว่าพี่เบิร์ดเป็น ‘ศาสดาแห่งการกักตัว’ ก่อนยุคโควิด-19 เสียด้วยซ้ำ แต่ในปัจจุบันคนในเจเนอเรชันใหม่ยังต้องการซูเปอร์สตาร์แบบนั้นอยู่หรือเปล่า? นี่คือคำถามที่น่าสนใจ ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งใหม่ในโลกอินสตาแกรมน่าจะเป็นการขยับเข้าใกล้โลกปัจจุบันและสร้างฐานแฟนคลับในเจเนอเรชัน Z ของเขา หลังจากพิชิตใจคนรุ่นก่อนหน้ามาได้เกือบทั้งหมด  

 

 

Facebook ไม่ใช่สื่อที่ตอบโจทย์การสื่อสารกับคนรุ่นใหม่

ความจริงพี่เบิร์ดเริ่มต้นสื่อสารกับแฟนคลับแบบกึ่ง ‘ส่วนตัว’ ด้วยเฟซบุ๊ก Bird Thongchai ที่สร้างมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 ปัจจุบันมียอดผู้ติดตามราวๆ 2.2 ล้านคน นอกจากจะนำเสนอผลงานต่างๆ ก็ยังเผยมุมการใช้ชีวิตส่วนตัวของเขาด้วย ผู้เขียนจำภาพแบกกระสอบทรายล้อมบ้านของพี่เบิร์ดเมื่อครั้งน้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 ได้ดี และยังได้แชร์ลงในเพจนิตยสารที่ตัวเองทำงานอยู่ในขณะนั้น ซึ่งก็มีแอ็กเคานต์ของพี่เบิร์ดมาคอมเมนต์ให้กำลังใจ นับเป็นสิ่งพิเศษที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน แต่ปัจจุบันการจำกัดการมองเห็นของเฟซบุ๊กและแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กเองก็ถูกมองว่า ‘เป็นของคนแก่’ ในสายตาคนรุ่นใหม่ ทำให้ซูเปอร์สตาร์ของเมืองไทยเริ่มเหินห่างออกไป ถึงจะเป็นแฟนคลับแต่ไม่เคยเอ็นเกจเลยก็ไม่มีวันได้เห็น 

 

 

ภาพจากเพจ Bird Thongchai  

 

อีกทั้งคนรุ่นใหม่ก็สร้างบัญชีเฟซบุ๊กเพียงเพื่อให้ญาติแท็กเวลาไปแฟมิลี่ทริป ทำให้ฐานแฟนคลับมีเพียงคนกลุ่มเดิมๆ เท่านั้น 

 

ผู้เขียนเชื่อว่าในวัย 62 ปี เลือดนักสู้ในตัวพี่เบิร์ดยังคงพลุ่งพล่าน เพราะตลอด 35 ปีของการเป็นนักร้อง เขาคนนี้สร้างเซอร์ไพรส์ได้เสมอ หลังจากประสบความสำเร็จอย่างสูงจากอัลบั้ม บูมเมอแรง ในปี 2533 เราก็คิดว่านั่นคือที่สุดแล้ว แต่ในปี 2546 พี่เบิร์ดในวัย 45 ปีก็ประสบความสำเร็จขึ้นไปอีกกับอัลบั้ม แฟนจ๋า..สนิทกันแล้วจ้ะ ด้วยการเชิญนักร้องขวัญใจคนในยุคนั้นมาร่วมฟีเจอริงด้วย ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เขาครองใจคนเจเนอเรชันใหม่ๆ อย่างที่เราได้เห็นกันบนเวทีคอนเสิร์ตของพี่เบิร์ดว่าจะต้องมีนางเอกชื่อดังหรือคนที่อยู่ในกระแสมาเป็นแขกรับเชิญ ไม่ว่าจะเป็น แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์, เบลล่า-ราณี แคมเปน ไปจนถึง BNK48 เลยทีเดียว มาในปี 2561 พี่เบิร์ดก็กลับมาใช้สูตรนี้อีกครั้งในอัลบั้ม Bird Mini Marathon ร่วมทำงานกับศิลปินรุ่นใหม่ถึง 8 กลุ่มกับแนวดนตรีที่หลากหลาย แต่ก็ประสบความสำเร็จไปในระดับกลางๆ เท่านั้น ความหวังจะคว้าใจคนใน Gen Z จึงยังไม่ถึงฝั่งฝันอย่างที่ตั้งใจ 

 

‘ความเป็นมนุษย์’ ที่สัมผัสได้คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ 

 

ภาพโพสต์แรกในอินสตาแกรมของ @birdthongchaiofficial

 

ถ้าพูดถึงแพลตฟอร์มที่ครองใจวัยรุ่นยุคนี้ก็ต้องยกให้ทวิตเตอร์และอินสตาแกรม แต่ทวิตเตอร์ดูจะดุเดือดเกินไป ในขณะที่อินสตาแกรมมีความทันสมัยและดูเฟรนด์ลี่กว่า นี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลให้พี่เบิร์ดเลือกเปิดบัญชีอินสตาแกรมสำหรับสื่อสารอีกช่องทางหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นสื่อยอดนิยมที่สายข่าวบันเทิงใช้เป็นแหล่งข้อมูลหาข่าวดารา นั่นย่อมมีผลต่อการชิงพื้นที่สื่ออย่างเลี่ยงไม่ได้ จากแพลตฟอร์มภาพสวย ตอนนี้ภาพในอินสตาแกรมไม่ต้องสวยมากก็ได้ แต่ขอให้สนุกและมีคาแรกเตอร์ก็ถูกใจคนรุ่นใหม่แล้ว อีกทั้งยังใช้ในแง่การตลาดและสื่อสารแง่มุมอื่นๆ นอกเหนือจากภาพที่เห็นผ่านสื่อหลักได้เป็นอย่างดี ในระยะหลังๆ คนดังที่ไม่คิดว่าจะเล่นโซเชียลมีเดียก็หันมาเล่น ไม่ว่าจะเป็น เจมส์ มาร์, ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร, ณเดชน์ คูกิมิยะ, ปาล์มมี่-อีฟ ปานเจริญ ทำให้เราได้เห็นแง่มุมที่ไม่ได้ผ่านการปรุงแต่งจนทำให้รู้สึกรักพวกเขามากขึ้น ใครจะคิดว่าภายใต้ภาพลักษณ์ศิลปินจัดๆ ของปาล์มมี่ ตัวจริงเธอเป็นคนตลกมาก หรือจริงๆ แล้วณเดชน์เป็นคนที่ถ่ายรูปสวยและอ้อนแฟนเก่งมาก เหล่านี้คือแง่งามแสนธรรมดา แต่มันสะท้อนความเป็น ‘มนุษย์’ ที่สัมผัสใจคนรุ่นใหม่ 

 

ภาพจากอินสตาแกรม @palmy.ig

 

ภาพจากอินสตาแกรม @kugimiyas

 

Drama 101 คลาสดราม่ามาแน่ๆ 

ต้องยอมรับความจริงว่าคิดจะเล่นโซเชียลมีเดียย่อมหนีไม่พ้นเรื่องดราม่า อย่างอินสตาแกรมก็สื่อสารออกไปได้กว้างไกลกว่าเฟซบุ๊ก ต่อให้ระมัดระวังแค่ไหนก็หนีไม่พ้น ผู้เขียนยังจำได้ดีว่าในยุคแรกๆ อินสตาแกรมของ อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ ลงแต่ภาพไม่มีแคปชันก็ยังไม่วายโดนดราม่า อย่างเรื่องภาพกระเป๋า Birkin Himalaya ที่เจ้าตัวเคยลงอินสตาแกรม ก็มีคนค่อนแคะว่าให้เอาเงินที่ซื้อไปทำบุญ หรืออย่าง ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต ก็เคยเขียนแคปชันแต่ภาษาอังกฤษ จนมาในยุคหลังๆ ทั้งคู่เริ่มปรับตัว และเสนอมุมน่ารักๆ เรื่องดราม่าก็ยังมีอยู่หรอก แต่ก็รู้จักปล่อยผ่านไปไม่เอามาใส่ใจ 

 

ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าพี่เบิร์ดมาเล่นอินสตาแกรมก็คงหนีไม่พ้นเหมือนกัน ในเฟซบุ๊กอาจจะได้สื่อสารกับคนที่ชื่นชอบ แต่อย่างที่บอกว่าอินสตาแกรมมันไปได้ไกลกว่านั้น และยังเต็มไปด้วยคน Gen Z ที่ว่ากันว่าคือผู้กุมชะตาโลก เป็นเจเนอเรชันที่สนใจใคร่รู้และสามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง ทำให้พวกเขากล้าแสดงความคิดเห็น คนรุ่นอื่นๆ อาจมองว่าก้าวร้าว แต่ต้องยอมรับว่าพวกเขาคือผู้รับช่วงต่อโลกใบพังๆ ที่คนรุ่นก่อนทำไว้ 

 

ภาพจากอินสตาแกรม @aum_patcharapa และ @chomismaterialgirl

 

อีกทั้งพวกเขายังมองโลกแตกต่างไปจากคนในเจเนอเรชันก่อนหน้า ดังนั้นถ้าอยากสื่อสารกับคนรุ่นนี้ก็ต้องปรับจูนทัศนคติให้ดี ไม่อย่างนั้นจากที่ต้องการเป็น ‘พี่เบิร์ด’ ตลอดกาล อาจกลายเป็น ‘ลุงเบิร์ด’ จากระยะห่างทางความคิดที่กว้างกว่าเดิม

 

นิยามคำว่า ‘วัยรุ่น’ ของคนรุ่นนี้ก็ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าหน้าผม แต่คือทัศนคติและการมีประสบการณ์ร่วมเป็นประชากรของโลกใบนี้เหมือนๆ กัน ง่ายๆ เลยสักวันหนึ่งอาจมีกระแสเรียกร้องการ Call Out จากเบิร์ด ธงไชย ทางที่ดีก็ควรเตรียมตัวหาทางลงที่ไม่สะเทือนทั้งฐานแฟนคลับเก่าและฐานแฟนคลับใหม่ที่ตั้งใจจะสร้างขึ้นด้วยก็ดี

 

ภาพ: @palmy.ig @kugimiyas @birdthongchaiofficial @aum_patcharapa @chomismaterialgirl Facebook: Bird Thongchai

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X