นิตยสาร TIME ฉบับเดือนพฤษภาคมปี 2025 มาพร้อมกับหน้าปกที่สร้างการพูดถึงระลอกใหญ่อีกครั้ง เมื่อภาพบนปกนั้นเป็นรูปหมาป่าตัวสีขาว พร้อมคำว่า Extinct ที่หมายถึงการสูญพันธุ์ แต่ถูกขีดฆ่าออก ซึ่งความหมายของมันตรงตัวว่า หมาป่าที่อยู่ในรูปนั้นเคยสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน แต่วันนี้สัตว์ชนิดนี้ได้มีโอกาสกลับมาลืมตาดูโลกอีกครั้ง ด้วยพลังของวิทยาศาสตร์ที่ต้องการฟื้นคืนชีพสัตว์ดึกดำบรรพ์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หมาป่าในรูปนี้มีชื่อว่า ‘รีมัส’ (Remus) เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ไดร์วูล์ฟ และมันเกิดมาเพื่อเปลี่ยนโลกนี้ไปตลอดกาล
De-extinction ความทะเยอทะยานในการฟื้นคืนชีพสัตว์ป่า
ไดร์วูล์ฟ (Dire Wolf) หรือหมาป่าโลกันตร์ ตามชื่อภาษาไทยที่ปรากฏในซีรีส์ Game of Thrones เคยมีชีวิตอยู่จริงในทวีปอเมริกาเหนือช่วงยุคน้ำแข็งเมื่อราว 125,000-9,500 ปีก่อน ซึ่งไดร์วูล์ฟสูญพันธุ์ไปพร้อมๆ กับสัตว์ชนิดอื่นในยุคเดียวกันอีกจำนวนมาก เนื่องจากการสิ้นสุดลงของยุคน้ำแข็งเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน ที่ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลต่อพืชพรรณต่างๆ สัตว์กินพืชที่เป็นเหยื่อของไดรฟ์วูล์ฟและตัวของไดร์วูล์ฟเองไม่อาจปรับตัวตามได้ทัน
มัมมี่ช้างแมมมอธขนยาวอายุ 39,000 ปีที่มีชื่อว่า ยูก้า (Yuka)
ภาพ: Courtesy of Anastasia Kharlamova
เมื่อพูดถึงยุคน้ำแข็ง สัตว์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของยุคดังกล่าวคงหนีไม่พ้น ‘ช้างแมมมอธ’ สัตว์ที่มีลักษณะคล้ายช้างแต่ตัวใหญ่และขนยาวกว่า ซึ่งก็เคยมีชีวิตอยู่ร่วมยุคกับไดร์วูล์ฟและมนุษย์ แต่เมื่อราว 4,000 ปีก่อน ช้างแมมมอธตัวสุดท้ายก็ได้ตายลง ทำให้พวกมันสูญพันธุ์ไปก่อนที่มนุษย์ยุคหลังอย่างพวกเราจะได้เห็นหน้าตาจริงๆ ของพวกมัน มีเพียงแค่ภาพวาด ภาพยนตร์ และเรื่องราวของมันเท่านั้น ที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพื่อให้เราทำความรู้จักกับมัน
แต่สัตว์ยุคโบราณที่กล่าวถึง ทั้งช้างแมมมอธ และไดร์วูล์ฟ ล้วนมีซากดึกดำบรรพ์ หรือ ‘ฟอสซิล’ ที่ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้เรารู้จักมันมากขึ้น โดยฟอสซิลที่อยู่ในยุคน้ำแข็งมักพบในลักษณะที่มีความสมบูรณ์มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับไดโนเสาร์ เพราะปัจจัยทางสภาพแวดล้อม อุณหภูมิหนาวเย็นที่เก็บตัวอย่างได้ดีกว่า รวมถึงระยะเวลาที่สัตว์ในยุคน้ำแข็งเคยมีชีวิตอยู่ก็ใกล้เคียงกับช่วงเวลาปัจจุบันมากกว่าไดโนเสาร์ที่อาศัยอยู่บนโลกเมื่อโบราณกาล
เบน แลมม์ (Ben Lamm) ผู้ก่อตั้ง โคลอสซอล ไบโอไซน์ (Colossal Biosciences)
ภาพ: Colossal Biosciences
ฟอสซิลที่สมบูรณ์ของสัตว์ในยุคน้ำแข็งไปเตะตาบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพชื่อว่า โคลอสซอล ไบโอไซน์ (Colossal Biosciences) ที่ก่อตั้งโดย เบน แลมม์ (Ben Lamm) ให้เกิดการระดมทุนเพื่อทำการวิจัยเทคโนโลยีที่จะฟื้นคืนชีพให้กับสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วหลายชนิด เช่น นกโดโด้ เสือแทสเมเนียน ช้างแมมมอธ หรือแม้กระทั่งไดร์วูล์ฟ โดยการวิจัยเพื่อฟื้นคืนชีพให้กับสัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้วเช่นนี้ ถูกเรียกว่า De-extinction
แนวคิดที่บริษัท โคลอสซอล ไบโอไซน์ ยึดถือในการศึกษาหาวิธีคืนชีพให้กับสัตว์สูญพันธุ์นั้นไม่ใช่เพียงแค่การคืนความหลากหลายทางชีวภาพให้กับโลกยุคใหม่ แต่เป็นการหาองค์ความรู้ด้านพันธุวิศวกรรม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับวงการเทคโนโลยีชีวภาพ เพราะระหว่างการหาวิธีฟื้นคืนชีพให้สัตว์ชนิดต่างๆ แล้ว นักวิจัยยังค้นพบแนวทางใหม่ๆ ในการตัดต่อพันธุกรรมของสัตว์อีกหลากหลายแนวทาง
ตัวอย่างของการวิจัยที่น่าสนใจก่อนหน้านี้ คือ เมื่อเดือนกันยายนปี 2024 ทาง โคลอสซอล ไบโอไซน์ สามารถสร้างหนูที่มีขนยาวแบบช้างแมมมอธได้สำเร็จ จากการตัดแต่งยีน 7 ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัมผัส ความยาว และสีของขน ในร่างกายของหนูทดลอง โดยวิธีการตัดแต่งยีนทำได้โดยการปิดการทำงานของยีนที่ควบคุมความยาวของขน ทำให้หนูสามารถมีขนยาวได้มากกว่าปกติ 3 เท่า รวมถึงระหว่างการทดลอง นักวิจัยยังให้ความสนใจกับยีนที่ควบคุมการเผาผลาญไขมัน ที่อาจทำให้หนูทดลองเจริญเติบโตในที่อุณหภูมิต่ำได้ดีไม่แพ้ช้างแมมมอธด้วย
เมื่อสัตว์ดึกดำบรรพ์ลืมตาดูโลกได้อีกครั้ง
โรมูลัส (Romulus) และรีมัส (Remus) สองไดร์วูล์ฟยุคใหม่คู่แรกของโลก ตอนอายุประมาณ 1 เดือน
ภาพ: Colossal Biosciences
การคืนชีพของไดร์วูล์ฟด้วยฝีมือของนักวิจัยในครั้งนี้ เกิดเป็นลูกไดร์วูล์ฟตัวน้อยถึง 3 ตัว โดยมีเพศผู้สองตัวชื่อว่า โรมูลัส (Romulus) กับรีมัส (Remus) ที่มีอายุ 6 เดือนทั้งคู่ กับน้องเล็กเพศเมียชื่อว่า คาลีซี (Khaleesi) ที่มีอายุ 2 เดือน โดยการคืนชีพของทั้งสามเป็นผลมาจากการตัดแต่งยีนด้วยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรมเหมือนกันกับการทดลองอื่นๆ ของ โคลอสซอล ไบโอไซน์
เนื่องจากบนโลกของเราไม่มี ไดร์วูล์ฟ (Aenocyon dirus) อยู่แล้ว นักวิจัยจึงใช้ต้นแบบพันธุกรรมเป็นหมาป่าสีเทา (Canis lupus) แทน แต่ถึงแม้ว่าต้นแบบในการสร้างไดร์วูล์ฟขึ้นมาจะไม่ใช่ไดร์วูล์ฟจริงๆ แต่หมาป่าสีเทาถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับไดร์วูล์ฟมาก รหัสพันธุกรรมมีความเหมือนกันถึง 99.5%
นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมในจีโนมของไดร์วูล์ฟอย่างละเอียด จากตัวอย่างดีเอ็นเอทีสกัดมาจากฟันอายุ 13,000 ปีและกะโหลกอายุ 72,000 ปีของไดร์วูล์ฟ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบรหัสพันธุกรรมกับหมาป่าสีเทาแล้ว พบว่ามีความแตกต่างอยู่ 20 ตำแหน่งบน 14 ยีน ที่ทำให้สัตว์สองชนิดนี้มีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านไซซ์ สีขน ขนาดหัวและฟัน ขนาดของกล้ามเนื้อ รวมถึงเสียงเห่าและหอนของสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ด้วย
หลังจากที่วิเคราะห์ยีนของไดร์วูล์ฟและหมาป่าสีเทาเทียบกันแล้ว ลำดับต่อไปคือการเก็บ Endothelial Progenitor Cells (EPCs) ซึ่งเป็นสเต็มเซลล์ที่สามารถเจริญไปเป็นเซลล์เยื่อบุโพรง โดยเซลล์เยื่อบุโพรงเป็นส่วนประกอบสำคัญของหลอดเลือด นักวิจัยจึงต้องเก็บ EPCs จากหลอดเลือดของหมาป่าสีเทา แล้วนำมาตัดแต่งทั้ง 14 ยีนในนิวเคลียส เพื่อให้ได้ 20 ลักษณะของไดร์วูล์ฟกลับคืนมา
ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งที่นักวิจัยต้องพบ คือ มี 3 ยีนของไดร์วูล์ฟที่ทำให้ขนเป็นสีขาวสว่าง แต่ยีนเหล่านั้นในหมาป่าสีเทาส่งผลให้มีอาการหูหนวกและตาบอดได้ ทางทีมวิจัยจึงตัดแต่งยีนอื่น 2 ยีน เพื่อปิดการแสดงออกของเม็ดสี สีดำและสีแดงในขน เพื่อให้ขนมีสีขาวสว่างจากการลดเม็ดสีเข้มลงแทน ไดร์วูล์ฟที่ถือกำเนิดใหม่นี้จึงมีสีขาวราวหิมะไม่ต่างจากไดร์วูล์ฟในสมัยอดีต โดยที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน ความเจ็บปวด หรือภาวะหูหนวกและตาบอดเลย
เมื่อตัดแต่งพันธุกรรมภายในเซลล์จนเสร็จสิ้น ลำดับถัดไปคือการสร้างตัวอ่อนขึ้นมา โดยทีมวิจัยนำนิวเคลียสของ EPCs ที่ทำการตัดต่อพันธุกรรมเรียบร้อยแล้ว ใส่ลงไปเซลล์ไข่ของหมาป่าสีเทาที่นำนิวเคลียสออกมาก่อนหน้านั้น และปล่อยให้เกิดการแบ่งเซลล์ กลายเป็นตัวอ่อนในระยะเอ็มบริโอ เมื่อเอ็มบริโอเจริญเติบโตถึงจุดหนึ่ง ทีมนักวิจัยจะทำการแบ่งเอ็มบริโอไปใส่ในมดลูกของแม่อุ้มบุญ ซึ่งเป็นหมาบ้านพันธุ์ทาง 2 ตัว หลังจากอุ้มท้อง 65 วัน โรมูลัสและรีมัสก็ได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2024 จากนั้นอีกไม่กี่เดือนต่อมาก็มีการทำแบบเดียวกันซ้ำอีกครั้งกับแม่อุ้มบุญตัวที่ 3 จนได้ลูกไดร์วูล์ฟอีกอย่าง คาลีซี มาด้วยอีกตัว
ลูกไดร์วูล์ฟทั้งสามตัวนี้ เกิดมาด้วยวิธีการผ่าคลอด เพื่อลดความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บระหว่างการคลอด และลดความเสี่ยงของการแท้งระหว่างกระบวนการ ลูกไดร์วูล์ฟทั้งสามตัวนี้จึงมีโอกาสได้ออกมาลืมตาดูโลกได้สำเร็จจริงๆ
ลูกไดร์วูล์ฟยุคใหม่ตอนแรกเกิด
ภาพ: Colossal Biosciences
ทางบริษัท โคลอสซอล ไบโอไซน์ ภูมิใจกับผลงานการสร้างลูกไดร์วูล์ฟออกมาในครั้งนี้มาก แต่ทีมนักวิจัยก็จะไม่หยุดแค่นี้ แต่จะนำความรู้จากการฟื้นคืนชีพหมาป่าโบราณนานหมื่นปีชนิดนี้ เพื่อใช้ในการฟื้นคืนชีพช้างแมมมอธขนยาวเป็นลำดับถัดไป ซึ่งทีมนักวิจัยคาดการณ์ว่าจะมีการใช้เทคนิคแบบเดียวกัน และสามารถให้กำเนิดลูกช้างแมมมอธขนยาวได้ภายในปี 2028 จากการดัดแปลงพันธุกรรมของช้างเอเชียที่มีความเหมือนกันของรหัสพันธุกรรมถึง 99.6% ซึ่งตอนนี้กระบวนการศึกษาอยู่ในขั้นตอนเตรียมการอุ้มบุญในมดลูกช้างเอเชียภายในปี 2026 และช้างจะใช้เวลาในการอุ้มท้องอีก 2 ปี ก่อนจะคลอดลูกแมมมอธขนยาวตามแผน
โดยข้อมูลล่าสุดที่มีการเปิดตัว โรมูลัสและรีมัส ซึ่งเติบโตมาได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรง ปัจจุบันไดร์วูล์ฟอายุ 6 เดือนคู่นี้ มีความยาวลำตัวกว่า 1.2 เมตร และมีน้ำหนักกว่า 36 กิโลกรัม โดยพวกมันอาจจะเติบโตได้มากกว่านี้จนมีความยาวลำตัว 1.8 เมตร และมีน้ำหนักถึง 70 กิโลกรัมได้ ซึ่งลักษณะความใหญ่โตของพวกมันมีความแตกต่างจากลูกหมาป่าทุกวันนี้อย่างมาก รวมถึงพฤติกรรมของพวกมันด้วย โดยลูกไดร์วูล์ฟคู่นี้มักรักษาระยะห่างจากมนุษย์เสมอ ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายกับพฤติกรรมของไดร์วูล์ฟจริงๆ
เรากำลัง ‘คืนชีพ’ ให้สัตว์สูญพันธุ์ หรือเรากำลัง ‘สร้างใหม่’ ให้เกิดสายพันธุ์สัตว์ที่ไม่เคยมีมาก่อนกันแน่
หลังจากการเปิดตัวลูกไดร์วูล์ฟคู่แรกของโลกที่มีลักษณะสมบูรณ์แข็งแรงในครั้งนี้ก็มีกระแสตอบรับอย่างมากมาย ทั้งในแง่บวกที่แสดงความตื่นเต้นกับเทคโนโลยีการฟื้นคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์ ที่เคยเป็นเพียงแค่จุดขายของภาพยนตร์เท่านั้น ให้กลายเป็นสิ่งที่เราเห็นกันได้ด้วยตาของตัวเอง แต่ก็มีกระแสตอบรับในแง่ลบเช่นกัน ที่ไม่เห็นด้วยว่า ทั้งโรมูลัสและรีมัส นับได้ว่าเป็นไดร์วูล์ฟจริงๆ
ประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการถกเถียงว่า โรมูลัสและรีมัส ไม่ใช่ไดร์วูล์ฟ เป็นเพราะแนวคิดที่ว่า การวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นมาหลายล้านปีบนโลกนี้ไม่ได้ทำงานอย่างที่ทีมนักวิจัยนำเสนอ การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในหลักหมื่นปีจนสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงจากสปีชีส์หนึ่งไปเป็นอีกสปีชีส์หนึ่ง ไม่น่าจะขึ้นอยู่กับยีนในร่างกายเพียงแค่ 14 ยีน รวมถึงไดร์วูล์ฟตัวจริงในสมัยโบราณนั้น แยกสายวิวัฒนาการออกจากหมาป่าและหมาบ้านมาตั้งแต่ 5.7 ล้านปีที่แล้ว ยากที่จะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมไม่กี่ตำแหน่งจะทำให้สิ่งมีชีวิตโบราณอย่างไดร์วูล์ฟถือได้ว่าฟื้นคืนชีพขึ้นมาจริงๆ
หลักฐานชัดเจนที่สนับสนุนกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับเปิดตัวไดร์วูล์ฟในครั้งนี้ คือ กระบวนการตัดแต่งพันธุกรรมของหมาป่าสีเทา เพื่อทดแทนยีนที่อาจทำให้เกิดภาวะหูหนวกและตาบอดได้ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่ายีนที่อยู่ในร่างกายลูกไดร์วูล์ฟยุคใหม่เหล่านี้ ไม่ใช่ยีนของไดร์วูล์ฟแท้ๆ จนเกิดการตั้งคำถามว่า ลูกหมาป่าที่เปิดตัวมานี้ อาจเป็นเพียงแค่ หมาป่าสีเทาธรรมดาๆ ที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมใหม่เพียงเท่านั้น ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการคืนชีพสัตว์ดึกดำบรรพ์
เรื่องนี้ชวนให้เกิดการตั้งคำถามว่า กระบวนการ De-extinction ทำได้จริงหรือไม่? สิ่งที่บริษัท โคลอสซอล ไบโอไซน์ กำลังทำนั้นนับว่าเป็นการ ‘ฟื้นคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์’ หรือเป็นการ ‘สร้างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่’ ที่ไม่เคยมีบนโลกขึ้นมา ซึ่งถ้าหากว่าอิงกับภาพยนตร์ที่เป็นต้นแบบงานวิจัยเหล่านี้อย่าง Jurrassic World ก็มีการกล่าวถึงเรื่องการพัฒนาไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ที่ดุร้ายกว่าไดโนเสาร์ที่เคยมีอยู่จริง เป็นพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยให้ชื่อมันว่า Indominus Rex ซึ่งนักอนุกรมวิธานก็ได้ให้ความเห็นไว้ว่า มันเพียงแค่หน้าตาคล้ายไดโนเสาร์ แต่เราไม่อาจจัดมันว่าเป็นไดโนเสาร์ได้อย่างเต็มปาก เพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถหาตำแหน่งทางวิวัฒนาการให้มันได้ ว่าควรเป็นลูกหลานสัตว์พันธุ์ไหน เพราะมันเกิดจากการสร้างผ่านพันธุกรรมและลักษณะทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด
อินโดมินัส เร็กซ์ (Indominus Rex) ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่จาก Jurassic World
ภาพ: https://jurassicpark.fandom.com/wiki/Indominus_rex
ในโลกแห่งความจริงนี้ก็เคยมีการสร้างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ขึ้นมา โดยเรียกมันว่า Chickenosaurus โดยเป็นการพยายามสร้างไดโนเสาร์ขึ้นมา โดยใช้ร่างกายต้นแบบจากไก่ แต่ทำให้มีลักษณะบางอย่างเหมือนกับไดโนเสาร์ ซึ่งแบบนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ถือว่าเป็นไดโนเสาร์ เพราะไม่ได้มีการสร้างมาจากเนื้อเยื่อของไดโนเสาร์จริงๆ
นอกจากนี้ยังมีความกังวลจากคนอีกกลุ่มหนึ่งว่า ถ้าหากมันเป็นการสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ที่ไม่เคยมีบนโลกขึ้นมา จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อระบบนิเวศ เพราะไม่เคยมีการศึกษามาก่อนว่าสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยมีมาก่อนจะล่าเหยื่อแบบไหน แข่งขันกับใคร แล้วจะทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลหรือไม่
สุดท้ายนี้ยังมีอีกความคิดเห็นที่น่าสนใจกล่าวว่า การฟื้นคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์ อาจไม่ได้ทำให้การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพลดลง มนุษย์อาจคิดว่าหากสัตว์บางชนิดสูญพันธุ์ไปก็สามารถสร้างใหม่ได้เรื่อยๆ แม้ว่ามันจะไม่ใช่สัตว์พันธุ์แท้อย่างที่เคยเป็นก็ตาม การฟื้นคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์จึงไม่ใช่สัญลักษณ์ของการดูแลรักษาโลก แต่เป็นเพียงการระลึกถึงความสวยงามยุคโบราณด้วยเทคโนโลยียุคใหม่เพียงเท่านั้น
ความหวังในการคืนชีพสัตว์อีกนานาพันธุ์
การฟื้นคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์ในครั้งนี้ แม้ว่าจะยังมีข้อถกเถียงมากมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สามารถตัดแต่งพันธุกรรมสิ่งมีชีวิตอื่นได้อย่างไร้ขีดจำกัด สามารถสร้างลักษณะที่ต้องการให้แสดงเกิดขึ้นในสัตว์ทดลองได้ ซึ่งนอกจากจะได้รับองค์ความรู้ใหม่ในการประยุกต์ต่อยอดเข้ากับเทคนิคทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ แล้ว มันอาจจะยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนยุคใหม่อยากพัฒนาสัตว์อีกหลากหลายชนิด
เมื่อปัจจุบันนี้ เราได้เข้าสู่ยุคของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สัตว์หลายชนิดที่เราเคยมีโอกาสได้เห็น ลูกหลานของพวกเราอาจจะไม่ทันได้พบเจอมันได้ตาตัวเองอีกต่อไป แต่เทคโนโลยีใหม่ในการฟื้นคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์นี้ อาจรักษาชีวิตสัตว์หลายชนิดให้ไม่สูญพันธุ์ตั้งแต่แรก และอาจจะนำพาความสวยงามในอดีตกลับมาด้วยการคืนชีวิตให้แก่สมัน แรดชวา กระซู่ หรือกูปรี ที่เคยสูญพันธุ์จากในไทยให้กลับมาเดินท่องไปในธรรมชาติได้อีกครั้ง