กรณีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอแถลงข่าวพบชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ถูกฆ่าเผายัดถังน้ำมันใต้สะพานแขวนเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตรวจพันธุกรรม พบว่า ตรงกับแม่ของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ กะเหรี่ยงที่หายตัวไป หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 4 กันยายน ทางเครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเลในประเทศไทยได้ร่วมประชุมเพื่อผลักดันมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553 ให้มีผลเชิงปฏิบัติในการปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย โดยทางเครือข่ายฯ ได้เคลื่อนไหวทวงถามความเป็นธรรมให้กับบิลลี่และครอบครัวด้วย
เครือข่ายฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 4 ข้อต่อกรณีนี้ คือ
1. ขอขอบคุณและเป็นกำลังใจกับเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ทุ่มเททำงานด้วยความมานะอุตสาหะ จนสามารถพิสูจน์ยืนยันวัตถุพยานหลักฐานสำคัญประกอบการสอบสวนคดีอุ้มหาย และสามารถระบุได้ว่า พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ เสียชีวิตแล้ว อันจะไปสู่การดำเนินคดีและการคืนความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัว ชุมชน รวมถึงเครือข่ายกะเหรี่ยงที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งนี้
2. จากความคืบหน้าของการพิสูจน์พยานหลักฐานดังกล่าว ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดเร่งรัดดำเนินการสืบสวน สอบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดรวมถึงผู้ที่มีส่วนทั้งหมดมาดำเนินคดีโดยเร่งด่วน รวมถึงให้มีการดำเนินคดีผู้กระทำผิดและผู้เกี่ยวข้องในกรณีการวางเพลิงเผาทรัพย์ชุมชนบ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบน จำนวนมากกว่า 100 หลังคาเรือน รวมทั้งบ้านปู่คออี้ ซึ่งไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ เลย
3. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553 ในการคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด กรณีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมบ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบน ซึ่ง นายพอละจี รักจงเจริญ เป็นผู้ประสานงานการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จนได้รับชัยชนะในคดีศาลปกครองสูงสุด
4. ขอเรียกร้องให้ประเทศไทยบัญญัติกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และกฎหมายว่าด้วยการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ ตามหลักสากลของสหประชาชาติว่าด้วยอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามแล้ว เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แต่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคี จึงไม่มีสภาพบังคับอย่างใด
นอกจากนี้ทางคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และองค์กรภาคีจำนวน 99 องค์กร และบุคคลจำนวน 169 รายชื่อ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1. ให้เร่งรัดดำเนินการเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ว่าผู้กระทำความผิดจะเป็นใครก็ตาม
2. ให้ดำเนินการชดเชยเยียวยาความเสียหายให้แก่ครอบครัวของบิลลี่อย่างเป็นธรรมและเหมาะสม แม้ยังไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด แต่ความเสียหายต่อครอบครัวได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว
3. ให้รัฐบาลไทยพิจารณาเร่งรัดเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ เพราะแม้ว่ารัฐบาลไทยจะได้ลงนามแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แต่เมื่อยังไม่ได้เข้าเป็นภาคี จึงไม่มีสภาพบังคับ
4. ให้รัฐบาลไทยมีมาตรการที่เป็นไปตามหลักการสากลของสหประชาชาติว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
5. ให้รัฐบาลไทยเร่งรัดออกกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจในทางกฎหมายโดยมิชอบ ก่ออาชญากรรมต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และทรัพย์สินประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ประชาชนทุกคนว่าจะไม่ถูกกระทำโดยผู้ใช้อำนาจรัฐ
ด้าน ประยงค์ ดอกลำใย ประธาน กป.อพช. กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการขอเข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กำกับดูแลสอบสวนเรื่องนี้ และจะรณรงค์ไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก พร้อมผลักดันกฎหมายคุ้มครองไม่ให้เกิดการอุ้มหายและทรมานอีกต่อไป ส่วนพยานคนสุดท้ายที่เห็นบิลลี่คือ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาตินั้น ตนอยากให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติสอบสวนว่า เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของบิลลี่หรือไม่ด้วย ในเวลา 13.00 น. ทางเครือข่ายจะส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือขอบคุณและเร่งรัดคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถนนแจ้งวัฒนะ ต่อไป