แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกดูจะไม่ทุเลา ซ้ำร้ายสถานการณ์การระบาดในประเทศไทยส่อเค้าจะกลับมา ‘รุนแรง’ อีกครั้ง แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน สถานะความมั่งคั่งของอภิมหาเศรษฐีของโลกกลับ ‘เพิ่มสูงขึ้น’ อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ภาพ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ของโลกใบนี้ก็ยิ่งปรากฏชัดเจนเช่นเดียวกัน
นิตยสาร Forbes ได้เปิดเผยข้อมูล ดัชนีมหาเศรษฐีที่มีมูลค่าความมั่งคั่งและทรัพย์สินสูงที่สุดในโลกประจำปี 2021 (จัดขึ้นเป็นปีที่ 35) โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในลิสต์มหาเศรษฐีเหล่านี้ มีจำนวนมหาเศรษฐีรวมทั้งสิ้น 2,755 ราย ในจำนวนนี้ 493 รายเป็นเศรษฐีหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในลิสต์ได้เป็นครั้งแรก ซึ่งตามสถิติระบุว่าในทุกๆ 17 ชั่วโมง จะมีเศรษฐีใหม่ที่ติดโผเข้ามาในดัชนีของ Forbes
และเมื่อคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีทั้งหมดในดัชนีประจำปี 2021 นี้ จะพบว่า มูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีทุกคนรวมกันจะอยู่ที่ 13.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 410.4 ล้านล้านบาท ขยับขึ้นจากปีที่แล้วมากถึงกว่า 5.1 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ แม้โควิด-19 จะระบาดรุนแรงแค่ไหน เศรษฐกิจพังหรือทรุด แต่กลุ่มมหาเศรษฐีเหล่านี้กลับมีมูลค่าสินทรัพย์และรวยเพิ่มมากขึ้นสวนทางกระแสดังกล่าว
สำหรับเศรษฐีอันดับที่หนึ่งของโลกยังคงเป็น เจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ก่อตั้ง Amazon ที่ยังรั้งตำแหน่งนี้ได้อย่างเหนียวแน่นเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยมีมูลค่าสินทรัพย์รวม 1.77 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.54 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วราว 56.6%
อันดับที่สอง ตกเป็นของ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง SpaceX และ Tesla โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมที่ 1.51 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4.73 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วแบบก้าวกระโดดที่ 513.8% สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ความสนใจที่บรรดานักลงทุนมีต่อ Tesla การดีดตัวกลับมาพลิกทำผลงานได้เป็นอย่างดีของพวกเขา ซึ่งตรึงกระแสความสนใจจากหน้าสื่อได้แทบตลอดทั้งปีที่ผ่านมา
ขณะที่อันดับสาม เป็น เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ประธานบริหาร LVMH (ธุรกิจในกลุ่มแฟชั่น) และครอบครัว ซึ่งมีมูลค่าความมั่งคั่งโดยรวมที่ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ จ่อคอหอยมัสก์มาติดๆ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.7 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 97.3%
ส่วนอันดับสี่และห้า เป็น บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้ง Microsoft และ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Facebook ที่มีมูลค่าทรัพย์สินในครอบครองรวมกว่า 1.24 แสนล้านดอลลาร์ (+26.5%) และ 9.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (+77.3%) ตามลำดับ
ในแง่ของความหลากหลายทางเพศ Forbes พบว่า สัดส่วนราว 11% หรือ 316 รายจากอันดับมหาเศรษฐีทั้งหมดในการจัดอันดับดัชนีอภิมหาเศรษฐีของพวกเขาเป็นผู้หญิง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 87 ราย โดยสตรีที่มีมูลค่าความมั่งคังสูงที่สุดในโลกคือ Francoise Bettencourt Meyers หลานสาวผู้ก่อตั้งเจ้าตลาดเครื่องสำอาง L’Oreal และครอบครัว ที่มีมูลค่าความมั่งคั่งรวม 7.36 หมื่นล้านดอลลาร์ รั้งอันดับที่ 12 ของลิสต์นี้
ส่วน วิตนีย์ โวลฟี ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชันเดตเอาใจผู้ใช้งานฝ่ายหญิงอย่าง Bumble ซึ่งมีมูลค่าความมั่งคั่งที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 40,786 ล้านบาท
ด้านเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP แม้ปีนี้อันดับโดยรวมจะตกลงมาอยู่ในลำดับที่ 103 ของโลก (ปี 2020: อันดับ 81) แต่เขาก็ยังเป็นบุคคลที่ได้ชื่อว่ามีมูลค่าความมั่งคั่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยอยู่ดี โดยมีมูลค่าสินทรัพย์รวมที่ 1.81 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.67 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามากถึง 34%
(หมายเหตุ: Forbes ใช้มาตรวัดการคำนวณและประเมินมูลค่าความมั่งคั่งจากราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อคำนวณมูลค่าสุทธิของดัชนีความมั่นคั่งของมหาเศรษฐีแต่ละคน)
อีกประเด็นที่น่าสนใจที่ตอกย้ำให้เห็นถึง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในด้านสถานะของผู้คนคือการที่ Gabriel Zucman นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กลีย์ ระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มคนที่มั่งคั่งที่สุดในสหรัฐฯ มีมูลค่าทรัพย์สินในครอบครองรวมกันเทียบเท่าสัดส่วน 18% ของ GDP ทั้งประเทศ ซึ่งถือว่าสูงเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2010 ที่สัดส่วนดังกล่าวเพิ่งจะอยู่ที่ 9% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการ ‘กระจุกตัว’ ของทั้งความมั่งคั่ง และ ‘อำนาจ’ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ควรเพิกเฉย และต้องเข้ามาเร่งจัดการโดยด่วน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: