×

กทม. แจง ตัดต้นไม้ชุมชนป้อมมหากาฬเพราะเอียงมาก เสี่ยงโค่น ยันอนุรักษ์ต้นไม้ต้องไม่กระทบโบราณสถาน

05.10.2017
  • LOADING...

     จากกรณีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม เพจ ‘BIG Trees’ เผยแพร่ภาพต้นไม้ใหญ่ในชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร ถูกตัดเหลือแต่ตอ พร้อมตั้งคำถามว่าเหตุใดกรุงเทพมหานครจึงตัดต้นไม้ ทั้งที่อ้างว่าการรื้อชุมชนป้อมมหากาฬเป็นไปเพื่อการสร้างสวนสาธารณะ

     อนันตา อินทรอักษร ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มบิ๊กทรีส์ (BIG Trees Project) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ภาพดังกล่าวทางเครือข่าย BIG Trees ส่งมาเมื่อวาน (4 ต.ค.) ยืนยันว่าเหตุการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้น ขณะที่คนในชุมชนเองก็ตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ได้รับทราบข้อมูลจากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ว่าสาเหตุที่ต้องตัดต้นไม้ดังกล่าวเนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะต้นไม้เอียง เสี่ยงที่จะล้ม

     อนันตากล่าวว่า เข้าใจว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากวัตถุประสงค์ที่ดี แต่เป็นการเลือกใช้วิธีการที่ผิดและไม่สร้างสรรค์ ทั้งที่จริงแล้วมีวิธีการอื่นนอกจากการตัดทิ้ง เช่น เทคนิคการทำศัลยกรรมต้นไม้ หรือทำเครื่องค้ำต้นไม้

     ตัวอย่างต้นไม้ใหญ่ที่รากเริ่มเน่าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งต้นไม้เริ่มรับน้ำหนักไม่ไหว แต่ยังสามารถขุดขึ้นมาฟื้นฟูรากแล้วนำไปตั้งไว้ที่เดิมอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน

     ทั้งนี้ BIG Trees ทำงานร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มากว่า 9 ปี แต่ต้องเข้าใจว่าโครงสร้างของกรุงเทพมหานครใหญ่โตและซับซ้อน ดังนั้นสำนักสิ่งแวดล้อมจึงไม่ได้ดูแลต้นไม้ทุกต้นในกรุงเทพฯ แต่เป็นการแบ่งหน่วยงานกระจายกันดูแต่ละพื้นที่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนวิธีการทำงานที่ขาดการบูรณาการของกรุงเทพมหานครอย่างชัดเจน แม้ภาครัฐจะประกาศขับเคลื่อนประเทศภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 แล้วก็ตาม

     ศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการกองจัดการกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ตอไม้ที่ปรากฏในสังคมออนไลน์คือต้นไกร เป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนเนื้อดินจริงและมีเศษขยะทับถม ทำให้เนื้อดินอ่อน อีกทั้งเป็นต้นไม้ชนิดรากลอย ไม่มีรากแก้ว และมีลักษณะเอียงมาก ทาง กทม. ร่วมกับทหารหารือกันแล้วเห็นว่าควรตัดทิ้งเพื่อความปลอดภัย ส่วนต้นโพที่อยู่ข้างๆ ปัจจุบันรากของมันไปดันตัวกำแพงป้อม ล่าสุด กทม. ตัดไปแต่ส่วนกิ่งไม้ที่โน้มเข้าหาบ้านคน แต่ในอนาคตก็คงต้องตัดทิ้ง เพราะรากต้นไม้ไปทำลายโบราณสถาน

     ส่วนเหตุที่ไม่ใช้เทคนิคการค้ำยันต้นไม้แทนการตัดทิ้งนั้น เนื่องจากเคยมีประสบการณ์จากการค้ำยันต้นโพใหญ่ฝั่งคลองวัดเทพธิดามาแล้ว ปรากฏว่าเมื่อฝนตกหนักแล้วต้นไม้โค่นลงมาจนเกิดความเสียหาย

     ศักดิ์ชัยชี้แจงว่า โดยหลักการจะรักษาต้นไม้ไว้ ซึ่งมีเกณฑ์การพิจารณาคือต้องดูประเภทของต้นไม้ว่าเป็นชนิดหายากหรือไม่ รวมถึงดูอายุของต้นไม้ และดูลักษณะการขึ้นของต้นไม้ว่าไปกระทบกำแพงเมืองที่เป็นโบราณสถานหรือไม่

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X