×

BIG Trees : ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มคนรักต้นไม้ใหญ่ และเป้าหมายต่อไปที่ยังรอให้พิชิต

09.12.2020
  • LOADING...
อรยา สูตะบุตร

HIGHLIGHTS

  • 10 ปีก่อน กลุ่มคนที่รักสิ่งแวดล้อมจากหลากหลายสาขาอาชีพจับมือรวมตัวกันในนาม BIG Trees Project เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว อันหมายถึงการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น และดูแลต้นไม้ที่มีอยู่แล้วให้แข็งแรงงอกงาม
  • “เราเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่ได้มีหน้าที่หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต้นไม้หรือสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่ว่ารู้สึกไม่สบายใจเวลาเห็นต้นไม้ พื้นที่สีเขียวลดลง หรือมีการโค่นต้นไม้ทิ้ง เลยหาวิธีการให้ต้นไม้ใหญ่ยังอยู่ในเมืองได้เยอะที่สุด” ปุ้ม-อรยา สูตะบุตร ให้คำอธิบายถึงกลุ่ม Big Tress ในฐานะหัวเรือหลักคนสำคัญของกลุ่ม
  • งาน BIG Trees Festival 2020 เทศกาลต้นไม้ใหญ่ ครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 11-13 ธันวาคมนี้ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อชวนทุกคนมาขอบคุณต้นไม้ใหญ่ และรับรู้เรื่องราวของกลุ่มที่เดินหน้ามาตลอดทศวรรษ

ถอยหลังย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน กลุ่มคนที่รักสิ่งแวดล้อมจากหลากหลายสาขาอาชีพจับมือรวมตัวกันในนาม BIG Trees Project เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว อันหมายถึงการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น และดูแลต้นไม้ที่มีอยู่แล้วให้แข็งแรงงอกงาม นำไปสู่การสร้างความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง

 

หมุนเข็มนาฬิกากลับมายังเวลาปัจจุบัน BIG Trees Project ยืนระยะมานับสิบปี เครือข่ายต่างๆ แข็งแรงขึ้นตามลำดับ สิ่งที่งอกงามตามมาหลังจากนั้นไม่ใช่แค่ต้นไม้ใหญ่หรือปริมาณพื้นที่สีเขียว แต่มันยังขยับขยายไปถึงเรื่องของวัฒนธรรมการทำงาน บทบาทขององค์กรต่างๆ ตลอดจนการให้ความสำคัญต่ออาชีพของคนที่ทำงานด้านนี้

 

เรานั่งคุยกับหนึ่งในหัวเรือของ Big Trees อย่าง ปุ้ม-อรยา สูตะบุตร ที่สวนเบญจสิริในบ่ายวันหนึ่ง แดดไม่ร้อนนัก ส่วนหนึ่งก็คงเพราะว่าร่มเงาไม้ใหญ่คอยบังแดดให้พวกเราด้วย อรยาบอกเราถึงต้นกำเนิดอันยาวนานเมื่อ 10 ปีก่อนของ Big Trees พร้อมรอยยิ้มละไม “เราเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่ได้มีหน้าที่หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต้นไม้หรือสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่ว่ารู้สึกไม่สบายใจเวลาเห็นต้นไม้ พื้นที่สีเขียวลดลง หรือมีการโค่นต้นไม้ทิ้ง เลยหาวิธีการให้ต้นไม้ใหญ่ยังอยู่ในเมืองได้เยอะที่สุด” นั่นคือต้นกำเนิดความตั้งใจที่ท้ายที่สุด ต่อยอดออกดอกผลยาวนานนับ 10 ปี นำมาสู่งาน BIG Trees Festival 2020 เทศกาลต้นไม้ใหญ่ ครั้งที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 11-13 ธันวาคมนี้ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

และไม่เพียงแต่เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อขอบคุณเหล่าต้นไม้ใหญ่ แต่ยังหมายถึงการขอบคุณกันและกันที่อยู่เคียงข้างกันมาตลอดจนครบทศวรรษด้วย

 

อรยา สูตะบุตร 

 

Big Trees เดินทางมาครบ 10 ปีแล้ว เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

 

พอครบ 10 ปี จุดประสงค์แรกคืออยากขอบคุณองค์กร เครือข่ายทั้งหมดที่ช่วยกัน ร่วมมือกันมาตลอด 10 ปี และอยากสรุปผลงานว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรสำเร็จ ยังไม่สำเร็จ อะไรที่เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าโอเคแล้ว หรืออะไรที่จะต้องผลักดันกันต่อไป ในงานจะมีองค์กรเครือข่ายเยอะมากเลยที่มาจัดเวิร์กช็อป จัดงานเสวนา มาขายของ หรือมาประชาสัมพันธ์องค์กรของเขา

 

สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จ อย่างแรกคือสำหรับประชาชน คือรู้สึกว่าประชาชนทั้งที่เดินถนนทั่วไปหรือเจ้าของบ้านที่มีต้นไม้ เขามีความสนใจอยากรู้ว่าการดูแลต้นไม้ที่ดีที่ถูกต้องมันควรเป็นอย่างไรมากขึ้นกว่าเดิม และเริ่มที่จะเข้าใจถูกและเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันที่บ้านเขา รวมทั้งมีการแจ้งมาที่เพจเราทุกวันเวลามีใครตัดแต่งต้นไม้แย่ๆ หรือตัดทิ้ง ที่น่าสังเกตคือการฟ้องนี้มันลดลงเป็นลำดับ และที่แน่ๆ ใน กทม. การฟ้องพวกนี้น้อยลง แต่ตามต่างจังหวัดยังมีอยู่พอสมควร เพราะนั่นเป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่ยิ่งไม่มีความรู้เรื่องต้นไม้เข้าไปใหญ่ เช่น เทศบาล อบจ. อบต. เขาจะฟันกิ่งฟันอะไรทิ้งจนมันงอกขึ้นมาใหม่ แต่กิ่งที่งอกขึ้นมาใหม่นี่มันหักง่ายมาก กระรอกกระโดดทีเดียวก็หักแล้ว (หัวเราะ) เราไม่อยากให้เกิดกิ่งแบบนี้เยอะ เราอยากให้เกิดกิ่งใหญ่ๆ แข็งแรง พออยู่ได้นานๆ ดูแลให้ดี มันก็จะไม่หัก จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ แล้วต้นไม้เขาต้องการใบมาสังเคราะห์แสง เราก็อยากได้ใบเพื่อมาให้ร่มเงา เราจึงต้องโปรโมตเรื่องนี้

 

สำหรับเรา เรามองว่าคนที่ใส่ใจเรื่องต้นไม้มีมากขึ้น มีความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น และในขณะเดียวกัน องค์กรแบบกทม. เมื่อ 10 ปีที่แล้วนี่พูดกันไม่ได้เลยนะ ทะเลาะกันเลย แต่พอผ่านไปเรื่อยๆ เราก็พยายามให้กทม. เข้าใจท่าทีของเราให้ชัดเจนว่า เราไม่ได้มาขอเงินคุณ เราไม่ได้อยากจะมารับจ้างคุณ แต่เราอยากนำเสนออีกวิธีหนึ่งในการดูแลต้นไม้ ซึ่งในระยะยาว หน่วยงานแบบคุณจะเปลืองแรงน้อยลง ถ้าตัดแต่งดูแลให้ถูก รอบในการจะมาดูแลใหม่มันก็ลดลงไปเอง แล้วเขาก็โดนด่าน้อยลงด้วย เพราะต้นไม้มันโดนตัดแบบน่าเกลียดๆ หรือล้มหรือหักน้อยลง เขาก็โดนต่อว่าน้อยลงไปด้วย อย่างเช่นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือ สวนจตุจักร เมื่อก่อนเราจะจัดงานอะไร ขอจัดงานจะค่อนข้างยุ่งยาก ต้องจ่ายเงิน แต่ตอนนี้ โดยเฉพาะเครือข่ายที่รู้จักกันและทำสิ่งแวดล้อม ถ้าบอกว่าเป็นการเป็นงานให้ความรู้ประชาชน หรือให้ประชาชนเข้ามาทำกิจกรรมในสวน กทม. เขาจะให้ความร่วมมือมากขึ้น บางทีก็จัดงานร่วมกันเลย เช่น ชวนเด็กมาปีนต้นไม้ หรือมีกิจกรรมให้ความรู้ ที่สำคัญคือ อย่างสวนจตุจักรเขาก็ส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกอบรมกับทีมพวกเรา ปรากฏเขาบอกว่าผ่านไป 3 ปี เขาเก็บข้อมูลแล้วพบว่า ตั้งแต่ส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกวิธีการจัดแต่งต้นไม้ที่ถูกต้อง ต้นไม้จากที่เคยล้มปีละประมาณ 100 ต้น เหลือล้มแค่ 30 ต้นโดยเฉลี่ย เขาเลยบอกว่ารู้แล้วว่าทำไมต้องเปลี่ยนวิธีการดูแลต้นไม้ เพราะถ้าดูแลได้ดีก็เหมือนหมอฟัน พอหมอฟันทำให้ฟันไม่ผุ มันก็ไม่ลามไปที่กรามหรือลงไปถึงราก 

 

อรยา สูตะบุตร

 

ดูเหมือนว่าการแต่งต้นไม้เป็นเรื่องที่จำเป็นมากๆ เลยเหมือนกันในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

 

จุดประสงค์เราคือเก็บต้นเดิมที่อยู่ตามที่ตามๆ และอย่างที่สองคือ หากเป็นไปได้ค่อยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เพราะอย่างที่เราบอกกันว่ามันไม่มีพื้นที่ให้เพิ่ม 

 

อย่างการเก็บต้นเดิม เราจะลงรายละเอียดไปถึงว่า ต้นไม้ต้นใหญ่ต้นหนึ่งนั้นมันต้องดูแลอย่างไรให้เขาแข็งแรงปลอดภัย ไม่ว่าต้นไม้ต้นหนึ่งจะอยู่ที่ไหนก็ตาม จะที่ส่วนตัวหรือสาธารณะ มันก็มีวิธีการตัดแต่งว่า ถ้าตัดกุดหมดเลย ไม่เหลืออะไรเลย อยู่ไปอยู่มามันจะตายนะ คือโอเคล่ะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวนั้นมันดี แต่ถ้ามันยากมากและใช้งบเยอะ ใครจะมายกที่ให้เรา ใครจะมาออกค่าทำสวนให้ ถ้าไม่ใช่รัฐก็ลำบาก เราจึงโฟกัสภารกิจสำคัญคือเปลี่ยนวิธีการมองต้นไม้และการดูแลต้นไม้ให้มันปลอดภัยและยั่งยืน เพื่อให้เราจะไม่ต้องรอให้ต้นไม้มันล้มตายแล้วปลูกใหม่ คือเก็บรักษาต้นที่มีอยู่ และเกิดชื่ออาชีพ รุกขกร คือคนที่ดูแลต้นไม้ใหญ่

 

กลุ่มเราและเครือข่ายจึงช่วยกันดันให้อาชีพนี้มีคนรู้จักมากขึ้น จากที่มีอาจารย์ท่านหนึ่งคือ อาจารย์เดชา บุญค้ำ แกคิดคำนี้เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว แล้วก็พยายามผลักดันให้มีอาชีพนี้ เพราะต้นไม้มันก็ต้องได้รับการดูแล เหมือนเราปวดฟันก็ไปหาหมอฟัน อยากตัดผมให้ทรงมันเข้ากับเราและเมื่อผมยาวออกมาหน่อยก็ยังสวย เราก็ไปหาช่างตัดผม ไม่ใช่สลับกัน (หัวเราะ) 

 

ฉะนั้น ตอนนี้มันจึงเป็นปัญหาที่เราเชื่อว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วการดูแลต้นไม้มันหนักกว่านี้เยอะ ทำอย่างเข้าใจผิดมาตลอด แต่พอมาสิบปีให้หลังก็คิดว่าความเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้น อย่างพี่เสื้อสีเขียว (ชี้ไปที่พนักงานของสวนเบญจสิริ) บางคนเขาก็มาฝึกอบรมกับเครือข่ายของพวกเรา เพื่อที่จะได้เข้าใจให้ถูกต้องขึ้นว่าต้นไม้มันควรดูแลอย่างไร

 

อรยา สูตะบุตร

 

การตัดผิดมันส่งผลรุนแรงขนาดไหน

 

ต้นราชพฤกษ์นี่ก็ได้ (ชี้ไปทางต้นไม้ด้านหลัง) ถ้ามองขึ้นไปจะเห็นตุ่มตามลำต้น สังเกตไหมว่าตุ่มมันจะแห้งๆ และไม่มีอะไรดูผุพัง นี่คือเป็นตำแหน่งการตัดที่ถูกต้อง แผลเขาจะปิด แต่ถ้าเกิดตัดผิด จะมีกิ่งฝอยๆ เล็กๆ งอกออกมาจากแผล อันนั้นคือเกิดจากการตัดผิดวิธี แผลต้นไม้จึงฉีก เป็นโพรง 

 

ถ้าตัดถูกก็จะเป็นเหมือนหมอฟันที่อุดฟันเราถูกต้อง ไม่ผุแล้ว แต่ถ้าตัดผิดคือเหมือนหมอฟันอุดมั่ว ข้างในก็เลยยิ่งผุกว่าเดิม

 

อย่างต้นไม้ทางเท้าก็เคยสร้างปัญหา อันนี้ประชาชนจะรับรู้ได้ดี

 

คนดูแลโดยตรงคือ กทม. ซึ่งส่วนใหญ่ก็แบ่งเป็นแต่ละเขต สิ่งที่เราพยายามทำคือ ทุกปีเราจะพยายามเอาเจ้าหน้าที่ของ กทม. มาฝึกด้วยกัน มีหลักสูตรอบรมที่ช่วยกันจัด ซึ่งแทบไม่ได้ใช้งบของ กทม. เลย เราก็หาสปอนเซอร์ข้างนอกมาช่วยกันดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ถ้ามีโอกาสก็ไปติดตามผลบ้าง แต่ข้อสำคัญคือ ถ้าเรามีประกาศข้อกำหนดการดูแลต้นไม้ขึ้นมาแล้วผู้บริหาร กทม. ประกาศจริงจัง แล้วตอนนี้ กทม. กับเราก็ร่วมกันไปตั้งองค์กรหนึ่งชื่อว่า สมาคมรุกขกรรมไทย เป็นสมาคมวิชาชีพเรื่องอาชีพดูแลต้นไม้เป็นแห่งแรกของไทย มีจัดสอบเพื่อออกใบประกาศให้คนที่เป็นรุกขกรอาชีพ กทม. มีแล้วนะคะ คนแรกของประวัติศาสตร์ กทม. เลย ซึ่งเดี๋ยวเขาจะไปรับใบประกาศในงานนี้ (ยิ้ม) ฉะนั้น มันจึงเป็นประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของ กทม. จากที่คุยกันไม่รู้เรื่อง ฉันจะตัดต้นไม้แบบนี้ ก็กลายเป็นว่าส่งเจ้าหน้าที่มาสอบ แล้วหวังว่าน้องคนนี้จะกลายเป็นครูฝึกให้คนอื่นใน กทม. ด้วยนะ เราก็เห็นว่าเขาพิถีพิถัน ใช้ความรู้ และทำด้วยใจรัก ซึ่งนี่แหละเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าขนลุกว่าเห็นผลอยู่ในระดับหนึ่ง

 

แล้วความซับซ้อนอีกอย่างคือ กทม. มันควรทำนา ปลูกข้าว เพราะมันเป็นที่ลุ่มปากแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคกลางตอนใต้ทั้งหมด น้ำใต้ดินจึงสูงมาก พี่ๆ กทม. เขาจะบอกเลยว่าเวลาขุดดินลงไปนี่ฟุตนึงก็เจอน้ำแล้ว น้ำถึงท่วมง่ายไง จริงๆ ทุกคนควรอยู่ในบ้านยกสูง แล้วอีกอย่างคือควรเลือกพันธุ์ไม้ที่ชอบน้ำ อยู่กับน้ำได้ แต่เราไปปลูกพวกประดู่ ราชพฤกษ์ หางนกยูง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นต้นไม้ไม่ชอบน้ำ มันเลยยกรากหนีน้ำไง สมมติเรากลัวน้ำเย็น พอเราเจอน้ำเย็นก็จะไม่เอาขาลงไปแหย่ ต้นไม้ก็เหมือนกัน รากมันเลยลอยอยู่แบบนั้น 

 

แต่รากลอยก็ไม่แย่มากถ้าเผื่อว่าบริเวณรอบๆ รากมันมีดิน ถ้าเขาแผ่รากไปได้มันก็จะพอยึดกินไว้ แต่คราวนี้พอข้างล่างก็ต้องหนีน้ำ รอบๆ ก็เทปูน ตัดรากอีก โอกาสที่ต้นไม้จะแข็งแรงเลยน้อย แล้วก็ไปล้ม ไปยืนตายบ้าง มันเป็นปัญหาที่แก้ในเชิงระยะสั้นค่อนข้างยากเพราะมันลงพันธุ์ที่ผิดไปก่อนแล้ว ดังนั้น อย่างน้อยๆ ก็อย่าไปเทปูนรอบๆ แล้วเดี๋ยวนี้มันมีวัสดุใหม่ๆ เอามาปูใกล้ๆ โคนต้นแล้วน้ำและอากาศยังพอถ่ายเทได้ ไม่ขังมากเท่าที่เป็นอยู่ และต้องมีการบำรุงนิดหนึ่ง ต้องใส่ปุ๋ย ใส่สารเพื่อบำรุงรากให้แข็งแรงเพื่อต่อสู้กับปัจจัยคุกคามทั้งหลาย พูดง่ายๆ ว่าถ้าจุดไหนต้นไม้มันตาย มีที่ปลูกเพิ่มได้ ก็ต้องเปลี่ยนชนิดให้ไปเป็นที่อยู่ได้กับน้ำ ตอนนี้ กทม. เลยเริ่มเปลี่ยน สมมติว่าต้นไหนตาย ดูอ่อนแอจริงๆ จะเอาพวกต้นพิกุลลง เพราะมันเป็นต้นที่ทนมาก มันโตช้าแต่ทนและขนาดไม่ใหญ่มาก แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ กทม. ชอบมากคือใบมันร่วงน้อย ไม่ต้องกวาดบ่อย ขณะที่ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ซึ่งเคยฮิตอยู่ช่วงหนึ่ง ใบมันจะร่วงเกลื่อนทุกวันเลย

 

อรยา สูตะบุตร

 

กลับมาที่เป้าหมายของ Big Trees ยังมีส่วนที่เรารู้สึกว่ายังไม่สำเร็จบ้างไหมใน 10 ปีที่ผ่านมานี้

 

เรายังเปลี่ยนระบบ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลต้นไม้โดยตรงไม่สำเร็จ มันเหมือนว่าจ่ออยู่แล้ว มีร่างขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่เสร็จและยังรอให้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ 

 

เราอาจจะแยกเป็นสองส่วน คือเรื่องของการดูแลต้นไม้ ประเทศต่างๆ อย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เขามีกฎหมายคุ้มครองต้นไม้ในเมืองหมดเลย เขาไม่ได้บอกว่าให้ไปคุ้มครองแต่ในป่า ในที่ที่เป็นอุทยานแห่งชาติอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้นไม้ทุกต้นโดยเฉพาะต้นที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะจะมีวิธีการชัดเจนว่าต้องตัดอย่างไร ใส่ปุ๋ยอย่างไร แล้วถ้ามีใครทำเสียหาย ต้นไม้ตาย โดนค่าปรับเลยก็มี ในประเทศที่เขาเอาจริงเอาจังเรื่องต้นไม้ ต้องเป็นมืออาชีพ มีใบรับรองเท่านั้นที่จะมาทำอาชีพเป็นคนดูแลต้นไม้ ถึงจะไปแตะต้องต้นไม้ที่เป็นพื้นที่สาธารณะได้ ถ้าใครไม่มีใบรับรองแล้วไปตัดต้นไม้ก็โดนทำโทษ แล้วห้ามมาแตะต้องต้นไม้ต้นนั้นอีก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ประเทศไทยก็เริ่มคิด เริ่มมีความพยายามที่จะประกาศเป็นพื้นที่นำร่องในบางพื้นที่ แต่ว่ายังไม่เสร็จ ตอนนี้ก็มี กทม. เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราชที่เริ่มผลักดันประเด็นเหล่านี้

 

เมืองใหญ่ทั้งนั้นเลย

 

จำเป็นต้องไปดันเมืองใหญ่ เพราะว่าไม่อย่างนั้นอิมแพ็กมันน้อย แล้วก็มันจำเป็นต้องทำงานกับองค์กรที่เขามีพื้นที่ดูแล อย่างเชียงใหม่ก็เริ่มจะได้ร่วมงานกับ อบจ.เชียงใหม่ ร่วมกันกับอค์กรแบบเราที่นั่น ที่นครศรีธรรมราชก็เหมือนกัน จะเป็นองค์กรที่ทำงานคล้ายๆ เราที่โน่น แต่เขาทำงานใกล้ชิดกับ อบจ.นครศรีธรรมราช ก็หวังว่าภายในเวลาไม่นานเกินไป สามพื้นที่คือ กทม. เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช จะเอาจริงเอาจังเรื่องข้อกำหนดเรื่องต้นไม้

 

อรยา สูตะบุตร

 

มองว่าโตเร็วไหม 10 ปีนี้

 

(คิด) จริงๆ คนอื่นเขามองว่าเร็ว เพราะ 10 ปีคือนับจากเราเพิ่งตั้งเลย ถ้าพูดถึงองค์กรสิ่งแวดล้อมทั่วไปในไทย เราน่าจะอายุน้อยที่สุดองค์กรหนึ่ง แต่แน่นอนว่ามันก็ต้องทำงานร่วมกันกับองค์กรเครือข่ายเยอะแยะ แต่แค่ว่าจุดที่เราประสบความสำเร็จพอสมควรคือว่า นอกจากเราจะรณรงค์ให้คนตระหนัก ทำให้องค์กรของรัฐเขาตื่นตัวว่าเขาต้องเปลี่ยนแล้ว อีกฝั่งหนึ่งคือเราหาทางออก หาทางแก้ปัญหาให้เขาด้วย แล้วช่วยกันแก้ไปด้วยกัน มันจะไม่ใช่แบบที่เราชี้ปัญหาให้พวกเขาทำแล้วบอกว่า เธอก็ทำสิ ฉันหมดหน้าที่แล้ว มันจะไม่ไปถึงไหน เพราะทุกคนก็รู้อยู่ว่าหน่วยงานของรัฐโดยตรงแล้วหน้าที่เขาเยอะมาก ค่าตอบแทนเขาไม่ได้เยอะ อย่างบางคน เสาร์-อาทิตย์เขาก็ไม่ได้หยุดนะคะ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ระดับกลาง หรือพี่คนสวน วันหยุดเขาน้อยมาก เขาทำงานเยอะเกินไป ทั้งที่จริงๆ ในหลายประเทศ งานคนสวน งานดูแลต้นไม้ เขาจะจ้างเป็น Subcontract หมดเลย แล้วหน่วยงานแบบ อบจ. อบต. ก็จะเป็นคนควบคุมกติกาเฉยๆ ว่าต้นไม้ต้องตัดอย่างไร ทำอย่างไรให้มันแข็งแรง แต่พอ กทม. ต้องมาทำเองก็งานค่อนข้างเยอะ เลยหนักหนานิดหนึ่ง

 

เท่าที่ฟัง ด้านหนึ่งก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย

 

ตอนนี้สิ่งที่ต้องดันกันต่อคือ สมมติสเตปต่อไปคือการทำข้อกำหนดนี้ขึ้นมา เหมือนกฎหมายเลยคือ ระเบียบว่าด้วยการดูแลตัดแต่งต้นไม้ รวมทั้งการสร้างบทลงโทษขึ้นมาว่าถ้าต้นไม้เสียหายขึ้นมาต้องทำอย่างไร พอเสร็จแล้วก็หวังว่าในจุดนั้นมันจะมีทั้งแรงสนับสนุนทั้งในภาครัฐและประชาชนว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับในเชิงโครงสร้าง ซึ่งมันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ค่อนข้างใหญ่

 

แต่สำหรับ กทม. และจริงๆ ก็เชียงใหม่ด้วย เขาก็เริ่มจ้างคนข้างนอก เริ่มได้ยิน แต่ยังไม่เห็นตัวเอกสาร คนรับจ้างที่เชียงใหม่เขาเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้เชียงใหม่มี TOR หรือข้อกำหนดในการจ้างงานว่าให้จ้างหน่วยงานข้างนอกเลย มีกำหนดเลยว่าต้นหนึ่งมีค่าจ้างเท่าไร ทำเสร็จในกี่วัน เขาบอกว่าตอนนี้ข้อตกลงอันนี้เป็นเหตุเป็นผลขึ้น ทำให้มืออาชีพอย่างรุกขกรที่ทำงานอยู่เชียงใหม่เขารู้สึกโอเคที่จะรับจ้าง อบจ.เชียงใหม่มากกว่าแต่ก่อน เพราะเมื่อก่อนเขาจะรู้สึกว่า ถูกขนาดนี้ทำไม่ไหวหรอก แล้วต้นยางที่เชียงใหม่แถวๆ สารภี สูงแบบ 30 เมตร ถ้าพวกเพิ่งเริ่มงานใหม่ๆ หรือคนไม่มีประสบการณ์ ไม่มีใครเขากล้าขึ้นไปตัดหรอก ต้องคนมีฝีมือและกล้าเสี่ยง มันต้องขึ้นรถกระเช้าบ้าง บางคนปีนเชือกก็มี แต่เมื่อก่อน 10 ปีที่แล้วคือ อบจ. เขาจะไปเอาใครก็ได้มา แล้วเอารถกระเช้าให้คนขึ้นไป คนจะมีความรู้หรือเปล่าไม่รู้ด้วย ขอให้มีเลื่อยแล้วก็ตัดๆ ไป ตรงไหนที่เข้าไม่ถึงก็ปล่อย ทำเท่าที่ทำได้ ต้นไม้เลยยังมีปัญหาต่อไปเรื่อยๆ แล้วคนรับจ้างก็น้อย แต่พอเขาเปลี่ยน ปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น มีเวลาทำงานเยอะขึ้น แล้วก็ใส่ใจรายละเอียดมากขึ้นว่าตัดแต่งอย่างไร มันจึงเป็นการเริ่มแก้ในเชิงระบบ แต่เราก็ต้องกระทุ้งกันต่อไป ไม่อย่างนั้นถ้าเปลี่ยนผู้บริหารอาจเปลี่ยนใหม่หมด แล้วนี่ก็กำลังจะเลือกใหม่ด้วย เราก็กลัวว่าเราเงียบเสียงไปอาจกลับไปแบบเดิม

 

อรยา สูตะบุตร

 

เป้าหมายต่อไปยังมีมิติอื่นอีกไหม

 

เราตั้งเป้าเรื่องเชิงโครงสร้างและเรื่องอาชีพ สมมติเราแก้โครงสร้าง คือพูดง่ายทำยากนะ บอกว่าต่อไปต้นไม้ทุกต้นในพื้นที่สาธารณะก่อนก็ได้ในไทย ต้องมีรุกขกรอาชีพที่มีใบรับรองดูแลเท่านั้น มือหนึ่งเราบอกแบบนี้ อีกมือเราเลยต้องไปสร้าง เรียกคนเหล่านี้เข้ามาฝึกอบรมให้มีตัวไปช่วยงานตามจังหวัดต่างๆ มากขึ้น ซึ่งอีกเหมือนกัน ถ้าพูดถึง 10 ปีที่แล้ว ทั่วประเทศเราน่าจะมีไม่เกินสิบกว่าคน แต่ 10 ปีผ่านไปน่าจะเกิน 100 คนแล้ว

 

ตอนนี้เห็นน้องคนหนึ่งที่มาฝึกอบรมด้วยกัน เหมาดูแลแถวเขาใหญ่ ปากช่องไปเลย เป็นเอกชนนะ แต่เริ่มเป็นที่รู้จักแล้วว่าคนนี้ไปดูแล แค่ว่ายังเข้าไม่ถึงพวกหน่วยงานของรัฐ แต่เราเชื่อว่าถ้าเชียงใหม่ กทม. และนครศรีธรรมราชขยับ ที่อื่นก็อาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรทำบ้าง

 

 

 

10 ปีข้างหน้าของ Big Trees อยากเห็นอะไร

 

อยากเห็นกฎหมาย ข้อบังคับเกี่ยวกับต้นไม้ที่เกิดขึ้นมาเป็นรูปธรรม ถูกนำไปใช้จริง อีกอย่างก็คือคนที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กร ประชาชน หรือของรัฐ ก็อยากให้มีมากขึ้น มีความรู้ เข้าใจ ใส่ใจเรื่องต้นไม้มากขึ้น ยิ่งทำงานใกล้ชิดกันกว่าเดิมอีก โดยที่เน้นคนที่เป็นมืออาชีพ อยากให้มีคนแบบนี้เยอะๆ ไม่ใช่แค่ใน กทม. แต่ในหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลต้นไม้

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X