×

บริษัทเทคยักษ์ใหญ่หันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ เพื่อขับเคลื่อน AI ที่ใช้พลังงานสูงมาก

17.10.2024
  • LOADING...

บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลมากขึ้น เนื่องจากจำเป็นต้องใช้พลังงานสูงมากในการฝึกและรันโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งอยู่เบื้องหลังแอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) ในปัจจุบัน

 

Microsoft และ Google ทำข้อตกลงซื้อพลังงานนิวเคลียร์จากซัพพลายเออร์บางแห่งในสหรัฐอเมริกา เพื่อนำกำลังการผลิตพลังงานเพิ่มเติมมาใช้งานในศูนย์ข้อมูล โดยเมื่อไม่นานมานี้ Google กล่าวว่าจะซื้อพลังงานจาก Kairos Power ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเครื่องปฏิกรณ์โมดูลาร์ขนาดเล็ก เพื่อช่วยส่งมอบความก้าวหน้าของ AI

 

Michael Terrell ผู้อำนวยการอาวุโสด้านพลังงานและสภาพอากาศของ Google กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 ตุลาคม) ว่า บริษัทต้องการแหล่งพลังงานที่สะอาดและเชื่อถือได้ ซึ่งสามารถรองรับการสร้างเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ บริษัทเชื่อว่าพลังงานนิวเคลียร์สามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยตอบสนองความต้องการได้อย่างหมดจดและตลอดเวลา

 

Google กล่าวว่า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องแรกจาก Kairos Power จะพร้อมใช้งานภายในปี 2030 และจะมีเครื่องปฏิกรณ์อีกหลายเครื่องที่เปิดใช้งานจนถึงปี 2035

 

ทั้งนี้ Google ไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเพียงแห่งเดียวที่มองหาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้าน AI โดยเมื่อเดือนที่แล้ว Microsoft ลงนามข้อตกลงกับ Constellation บริษัทพลังงานของสหรัฐฯ เพื่อฟื้นคืนเครื่องปฏิกรณ์ที่เลิกใช้งานแล้วที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Three Mile Island ในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเครื่องปฏิกรณ์ดังกล่าวไม่ได้ใช้งานมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว

 

อนึ่ง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Three Mile Island เป็นสถานที่ที่เกิดการหลอมละลายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคม 1979 เมื่อน้ำหล่อเย็นที่สูญเสียไปจากวาล์วที่ชำรุดทำให้เครื่องปฏิกรณ์ร้อนเกินไป

 

ในขณะเดียวกัน Amazon ประกาศลงทุนครั้งใหญ่ในพลังงานนิวเคลียร์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (16 ตุลาคม) กับ Dominion Energy ด้วยข้อตกลงมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อสำรวจการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบแยกส่วนขนาดเล็กใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ North Anna 

 

บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ อยู่ภายใต้แรงกดดันในการหาแหล่งพลังงานเพื่อจ่ายไฟให้กับศูนย์ข้อมูล ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเบื้องหลังการประมวลผลบนคลาวด์และแอปพลิเคชัน AI ในปัจจุบัน นักพัฒนาจำนวนมากเช่าเซิร์ฟเวอร์ที่มี GPU ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีราคาแพงมากหากจะซื้อขาดจากบริษัทที่เรียกว่า ‘Hyperscaler’ บนคลาวด์ เช่น Amazon, Microsoft และ Google

 

บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากความสนใจที่เพิ่มขึ้นในแอปพลิเคชัน Generative AI เช่น ChatGPT ของ OpenAI แต่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวนำไปสู่ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ตามรายงานการวิจัยของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศคาดว่าการใช้ไฟฟ้าทั่วโลกจากศูนย์ข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ และภาคสกุลเงินดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากประมาณ 460 เทระวัตต์ชั่วโมง (TWh) ในปี 2022 เป็นมากกว่า 1,000 TWh ในปี 2026  

 

ความนิยมของแชตบอตยอดนิยมอย่าง ChatGPT ของ OpenAI กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เมื่อเดือนสิงหาคมมีผู้คนมากกว่า 200 ล้านคนส่งคำถามผ่านแชตบอตดังกล่าวในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากจำนวนผู้ใช้ 100 ล้านคนต่อสัปดาห์ที่ OpenAI รายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนคัดค้านการจัดหาพลังงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าว โดยอ้างถึงความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย และข้อเท็จจริงที่ว่าพลังงานดังกล่าวไม่ได้เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่แท้จริง 

 

โดยล่าสุด Greenpeace องค์กรการกุศลเพื่อสิ่งแวดล้อม ระบุว่า พลังงานนิวเคลียร์มีราคาแพงมากและเป็นอันตราย เรามักเรียกพลังงานนี้ว่าพลังงานสะอาด เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เมื่อผลิตไฟฟ้า แต่พลังงานนี้ไม่ใช่ทางเลือกที่สมเหตุสมผลสำหรับแหล่งพลังงานหมุนเวียน

 

ในทางกลับกัน Rosanne Kincaid-Smith ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Northern Data Group แสดงความเห็นว่า พลังงานนิวเคลียร์จะเป็นอนาคต หากนิวเคลียร์ถูกสร้างขึ้นและรักษาความปลอดภัยได้อย่างเหมาะสม  

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising