เมื่อวันพุธที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ มีประเด็นที่น่าจับตาเป็นอย่างมากเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี กับกรณีการให้การในประเด็น ‘การผูกขาดการค้า’ ต่อคณะกรรมาธิการด้านการยุติธรรมแห่งสภาผู้แทนราษฎร (House Judiciary Committee) โดยผู้บริหารระดับสูงของ 4 บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ประกอบด้วย Amazon (เจฟฟ์ เบโซส์), Apple (ทิม คุก), Facebook (มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก) และ Google (ซันดาร์ พิชัย)
ซึ่งข้อหาการดำเนินธุรกิจที่ผูกขาด (Anti-Trust Law) ที่ 4 ยักษ์จักรพรรดิเศรษฐกิจออนไลน์ของสหรัฐฯ ต้องเผชิญก็มีความแตกต่างกันออกไป เริ่มที่ Amazon ซึ่งถูกกล่าวหาว่านำข้อมูลของผู้ค้าทั่วๆ ไปกลุ่ม Third-party มาสร้างประโยชน์ให้กับร้านค้าของตัวเอง รวมถึงใช้กลยุทธ์การตัดราคาร้านค้าอิสระบนแพลตฟอร์ม
ด้าน Apple ถูกโจมตีในประเด็นการผูกขาดแพลตฟอร์ม App Store การออกมาตรการนโยบายที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงข้อกล่าวหาที่ระบุว่าพวกเขานำข้อมูลของผู้พัฒนามาต่อยอดสร้างแอปฯ ของตัวเอง เป็นต้น
ส่วนรายที่หนักที่สุดหนีไม่พ้น ‘Facebook’ ซึ่งถูกเพ่งเล็งในประเด็นการไล่กว้านซื้อกิจการของบริษัทเทคโนโลยีเจ้าอื่นๆ โดยเฉพาะกรณีของการซื้อกิจการ Instagram เมื่อปี 2012 ด้วยเงินลงทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เคยส่งอีเมลให้กับพนักงานในบริษัท และนิยาม Instagram ว่ามีแนวโน้มจะดิสรัปต์ Facebook ได้
ฟาก Google ถูกกล่าวหาในประเด็นการผูกขาดแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ ควบคุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จทั้งในเชิงการซื้อ-ขายโฆษณา อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาของการให้การ ซีอีโอบริษัทเทคโนโลยีทั้ง 4 แห่งได้ยืนกรานปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เข้าข่ายการ ‘ผูกขาด’ ทั้งยังยืนยันอีกด้วยว่าสิ่งที่พวกเขาทำในฐานะบริษัทเทคโนโลยีคือการช่วยเพิ่มแต้มต่อในการแข่งขันด้านนวัตกรรมให้กับสหรัฐฯ และสร้างงานสร้างอาชีพให้กับพลเมืองในประเทศ
ขณะที่ เดวิด ซีซิลลิน ประธานที่ประชุมในครั้งนี้กล่าวปิดท้ายการให้การ โดยระบุว่าเขาเล็งเห็นถึงปัญหาการผูกขาดของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จริง และหลังจากนี้ก็จะต้องมีกระบวนการดำเนินการแก้ไขปัญหา
“บริษัทเทคฯ เหล่านี้มีอำนาจในการผูกขาดจริง ซึ่งบางบริษัทก็ต้องได้รับการดำเนินการจัดการ แต่ทุกเจ้าจะต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมายอย่างเหมาะสม การเป็นผู้ที่มีอำนาจในการควบคุมตลาดทำให้พวกเขาอยากจะทำอะไรก็ได้ จะบดขยี้ธุรกิจรายเล็ก บริษัทอิสระ หรือขยายอำนาจของพวกเขาก็สามารถทำได้ ซึ่งมันจะต้องยุติลงได้แล้ว”
สำหรับประเด็นดังกล่าว มุมมองความเห็นจาก SCBS ระบุว่าการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปี 2020 นี้จะส่งผลกระทบต่อทิศทางของบริษัทเทคโนโลยีพอสมควร โดยชี้ว่าหาก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการโหวตเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยก็จะส่งผลดีต่อยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เนื่องจากทรัมป์ให้ความสำคัญในประเด็นการย้ายฐานการผลิตกลับมาตั้งในประเทศและการจ้างงานพลเมืองสหรัฐฯ มาโดยตลอด
ในทางตรงกันข้าม หาก โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ก็จะส่งผลเสียต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยี เนื่องจากไบเดนต้องการเดินหน้าจัดระเบียบบริษัทเทคโนโลยีในหลายประเด็นสำคัญ เช่น การจัดเก็บภาษี, การปกป้องข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน และความโปร่งใส่ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: