ปี 2564 เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งบิ๊กดีลด้านการควบรวมกิจการอีกปีหนึ่ง ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างการเติบโตแก่กิจการในช่วงปีที่ภาพรวมเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดต่อเนื่องจากปี 2563 และเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว
ขณะที่แนวโน้มปี 2565 ผู้เชี่ยวชาญในตลาดทุนไทยระบุว่า กระแสการควบรวมกิจการจะมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการควบรวมกิจการข้ามธุรกิจ เพื่อสร้าง New S-Curve หลังจากธุรกิจดั้งเดิมเริ่มได้รับสัญญาณเตือนว่า หากไม่กลายพันธ์ุ ก็อาจสูญพันธุ์ได้
THE STANDARD WEALTH ประมวลภาพรวมบิ๊กดีลด้านการควบรวมกิจการในปี 2564 พบว่า มีดีลยักษ์ใหญ่อยู่หลายดีล แต่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากหนีไม่พ้นการขยับของ 6 กลุ่มทุนใหญ่ของประเทศไทย ดังนี้
- TRUE รวม DTAC โดยในปี 2565 จะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้น ซึ่งถูกประเมินมูลค่าอยู่ที่ราว 2.5 แสนล้านบาท
- CPN ซื้อ SF โดย CPN ใช้เงินประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้น SF ทั้งหมด 96.24% และจะดำเนินการนำ SF ออกจากตลาดหลักทรัพย์
- SCBX ซื้อหุ้นบริษัท บิทคับออนไลน์ จำกัด ในสัดส่วน 51% คิดเป็นมูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับเป็นการขยับเข้าสู่ตลาดคริปโตอย่างเต็มตัวของกลุ่ม SCB
- MAKRO รับโอนกิจการ Lotus ดีลนี้เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ภายในเครือซีพี เพื่อให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น ต่อเนื่องไปถึงการช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจลง
- GULF ซื้อ INTUCH ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการลงทุนข้ามธุรกิจที่แท้จริง โดย GULF เข้าซื้อหุ้น INTUCH 42.25% คิดเป็นมูลค่าลงทุน 4.86 หมื่นล้านบาท วัตถุประสงค์หลักคือการรับผลตอบแทนจากการลงทุน
- กลุ่ม BTS ซื้อกลุ่ม JMART นับเป็นอีกดีลที่เข้าลงทุนเพื่อสร้าง Synergy เพิ่มให้กับทั้งสองกลุ่มทุน โดยกลุ่ม BTS เข้าลงทุนในกลุ่ม JMART รวมมูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท
นอกจากดีลควบรวมกิจการแล้ว ปี 2564 ยังเป็นปีที่หลายกลุ่มธุรกิจประกาศจับมือตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อปูทางสู่ New Business Model ขึ้นมา ที่เห็นได้ค่อนข้างชัดคือ การร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการโซลาร์เซลล์และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เช่น GUNKUL และ ORI
รวมไปถึงเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์และผู้ให้บริการสินเชื่อ เช่น ADVANC และ SCB ที่ร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เอไอเอสซีบี (AISCB) ด้วยทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท เพื่อให้บริการสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม หวังสร้างแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต
นอกจากนี้ยังเห็นการร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เช่น OR ร่วมทุนกับ 500 Startups ตั้ง ‘ORZON VENTURES’ สำหรับลงทุนในสตาร์ทอัพ วางงบไม่เกิน 1,690 ล้านบาท และ TWZ-SOLAR ร่วมทุนตั้งบริษัทใหม่ พัฒนาสถานีชาร์จรถ EV พลังแสงอาทิตย์รายแรกไทย เป็นต้น คำถามคือ แล้วปี 2565 จะยังมีบิ๊กดีลหรือดีลร่วมทุนขนาดใหญ่ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่
‘3 เหตุผล’ ดันดีลควบรวม-ร่วมทุนปีหน้าท่วมตลาด
แหล่งข่าววงการตลาดทุนกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า แนวโน้มในปี 2565 การควบรวมกิจการและการร่วมทุนจะเกิดมากขึ้นต่อเนื่องจากปี 2564 แต่ดีลขนาดใหญ่อาจจะมีไม่มาก และน่าจะกระจุกอยู่ในรูปแบบของการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มทุนใหญ่ของประเทศ
สาเหตุของการควบรวมและร่วมทุนในปี 2565 เกิดจาก
- สภาพคล่องล้น เนื่องจากตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด ผู้ประกอบการล้วนสำรองเงินสดเพิ่มขึ้น เพื่อตั้งรับกับวิกฤติการณ์โควิด ซึ่งกดดันภาคธุรกิจมาต่อเนื่อง 2 ปี ส่งผลให้การลงทุนทางธุรกิจลดลง
- อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนทางการเงินของการควบรวมและซื้อกิจการดึงดูดใจ
- ต้องการสร้าง New Business Model เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ
แหล่งข่าวกล่าวว่า กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มจะเกิดการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการในปี 2565 คือกลุ่มพลังงานทดแทน กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และจะมีทั้งการควบรวมหรือซื้อกิจการระหว่างบริษัทไทย และการควบรวมและซื้อกิจการจากต่างชาติ
“ตอนนี้ต้องยอมรับภาคธุรกิจส่วนมาก ยังทำธุรกิจแบบดั้งเดิม ทำให้ขาดธุรกิจใหม่ๆ การสร้างการเติบโต หรือเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจจึงทำได้ค่อนข้างมาก แม้จะเป็นการควบรวมกิจการกันจะเป็นรายการลักษณะของการปรับโครงสร้างภายในกลุ่มทุนเดียวกัน อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะได้เห็นต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการในไทยเพิ่มในปีหน้า โดยเฉพาะธุรกิจที่ตลาดยังโตไม่มาก ผู้เล่นน้อยรายและยังขาดผู้ความเชี่ยวชาญ เช่น ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจ Asset Management”
ขณะเดียวกันเทรนด์การควบรวมธุรกิจที่ต่างกัน (Cross Sector) จะมีเพิ่มขึ้นในปีหน้า รวมถึงการเข้าลงทุนใน Tech Start Up เพื่อต่อยอดให้กับธุรกิจดั้งเดิมด้วย
โรงแรม-สายการบิน เป้าถูกซื้อกิจการปีหน้า
มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบีเอสที หรือ KTBST กล่าวว่า วิกฤตการณ์โควิดที่กดดันภาคธุรกิจมาต่อเนื่อง 2 ปีจะทำให้ราคาสินทรัพย์ถูกไปอีก 1-2 ปีจากนี้ จึงเป็นจังหวะที่จะมีดีลการควบรวมหรือซื้อกิจการเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเทกโอเวอร์และเป็นพันธมิตรร่วมทุน โดยธุรกิจที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายถูกเข้าซื้อกิจการมากที่สุดคือโรงแรมและสายการบิน เนื่องจากอิงกับภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ ทำให้ผู้ประกอบการใน 2 กลุ่มดังกล่าวประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่อง
ทั้งนี้ เริ่มเห็นสัญญาณการถูกซื้อกิจการของธุรกิจโรงแรมแล้วตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2564 เพราะการระบาดระลอกใหม่ (สายพันธุ์เดลตา) ทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ยาก แม้จะมีหลายมุมมองที่เชื่อว่าปี 2565 ภาคการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัว แต่ผู้ประกอบการกลุ่มโรงแรม โดยเฉพาะขนาดกลางและเล็กที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ประสบปัญหาสภาพคล่องเป็นอย่างมาก
Tech Start Up – EV เนื้อหอม
มงคลกล่าวว่า เทรนด์จากนี้ธุรกิจส่วนใหญ่จะเน้นกลยุทธ์ควบรวมกิจการ (M&A) มากกว่าสร้างเอง เพราะต้องการเติบโตเร็ว เห็นตัวอย่างได้ชัดจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์เข้าไปซื้อ Startup ด้าน Fontech และ Platform Delivery ขณะเดียวกันบางธุรกิจเองมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า เพราะคาร์บอนเครดิตถูกบังคับใช้มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจพลังงานดั้งเดิมจะต้องขยายลงทุนกิจการพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น จึงเชื่อว่าปี 2565 เทรนด์การเข้าซื้อกิจการ Tech Startup จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) น่าจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามามากขึ้น โดยเป็นผู้เล่นที่เกิดจากการเป็นพันธมิตรร่วมทุนกันระหว่างผู้ที่มองเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรม และมี Business Model ที่ส่งเสริมกัน
“เทรนด์ตอนนี้เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยลงทุนสร้างเองจะเปลี่ยนเป็นเข้าซื้อธุรกิจแทน เพราะร่นระยะเวลา ต้นทุนการลงทุนต่ำกว่า และได้เป็นเจ้าของนวัตกรรมที่จะสร้าง Synergy กับธุรกิจเดิม หรือผุดเป็นธุรกิจใหม่ๆ ได้ในทันที เทรนด์นี้จะทำให้ Startup มีโอกาสโตได้มาก เพราะการทำธุรกิจดิจิทัลต้องใช้ความรู้และทักษะสูง” มงคลกล่าว
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร