×

เปิด Big Data ตัวเจ็บพรีเมียร์ลีก อาการไหนยอดฮิต มูลค่าความเสียหายเท่าไร?

20.11.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • เบน ดินเนอรี นักวิเคราะห์สถิติผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ดังกล่าวได้เปิดเผยว่า จนถึงปัจจุบันมีจำนวนนักฟุตบอลที่ได้รับบาดเจ็บในพรีเมียร์ลีกแล้วถึง 196 อาการ ในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือนนับตั้งแต่เปิดฤดูกาล
  • เทียบกับ 4 ฤดูกาลหลังสุดนั้นจะพบว่ามีอาการบาดเจ็บแฮมสตริงเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 55 เปอร์เซ็นต์ โดยฤดูกาลที่มีคนบาดเจ็บจุดนี้มากที่สุดคือฤดูกาล 2020/21 (ช่วงโควิด) ที่มีอาการบาดเจ็บ 40 ราย
  • ในภาพรวม พรีเมียร์ลีก, ลาลีกา, เซเรียอา, บุนเดสลีกา และลีกเอิง มีมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้น 27.3 เปอร์เซ็นต์ จาก 485.2 ล้านปอนด์ เป็น 617.8 ล้านปอนด์

ในเกมที่นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เสียท่าโดนบอร์นมัธเอาชนะได้ 2-0 หลังจบเกมดังกล่าวได้เกิดภาพการปะทะคารมกันระหว่าง คีแรน ทริปเปียร์ กับแฟนบอลทูน อาร์มี ผู้ผิดหวังกับผลการแข่งขัน ทั้งๆ ที่อุตส่าห์ดั้นด้นเดินทางตามลงมาเชียร์ถึงทางใต้

 

“เราเจ็บกี่ตัวรู้หรือเปล่า” ทริปเปียร์ตะเบ็งเสียงถามแฟนบอลจอมโวย

 

สำหรับคำตอบต่อคำถามของทริปเปียร์นั้น ตามข้อมูลปัจจุบันคือ นิวคาสเซิลฯ มีจำนวนผู้เล่นที่ได้รับบาดเจ็บและยังไม่หายทั้งสิ้น 11 คน (ข้อมูลถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน) เป็นจำนวนมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก ซึ่งก็ไม่แปลกที่มันจะกระทบต่อผลงานในสนามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

แต่ยังมีตัวเลขสถิติอีกหลายอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องของอาการบาดเจ็บผู้เล่น ที่ชวนมาลองศึกษาตัวเลขกัน

 

เจ็บแบบไหนเยอะสุด และเจ็บครั้งหนึ่งมีมูลค่าความเสียหายคิดเป็นเงินเท่าไร?

 

ตามข้อมูลที่มีการบันทึกและรวบรวมเอาไว้โดย premierinjuries.com มีสิ่งที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลนี้ (2023/24)

 

เบน ดินเนอรี นักวิเคราะห์สถิติผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ดังกล่าวได้เปิดเผยว่า จนถึงปัจจุบันมีจำนวนนักฟุตบอลที่ได้รับบาดเจ็บในพรีเมียร์ลีกแล้วถึง 196 อาการ ในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือนนับตั้งแต่เปิดฤดูกาล

 

คิดแล้วมีคนเจ็บเพิ่มขึ้นมากขึ้นกว่าในช่วง 4 ฤดูกาลที่ผ่านมาถึง 15 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากอย่างมีนัยสำคัญ

 

 

โดยในบรรดาจำนวน 20 ทีมพรีเมียร์ลีกนั้น ทีมที่ประสบปัญหาอาการบาดเจ็บมากที่สุดคือนิวคาสเซิลฯ ที่เวลานี้มีนักเตะบาดเจ็บและยังกลับมาลงสนามไม่ได้มากถึง 11 ราย และหากนับรวมอาการบาดเจ็บทั้งหมดในฤดูกาลนี้จะสูงถึง 14 คน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นทีมที่มีนักเตะเจ็บมากสูงที่สุดเท่ากับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

 

สิ่งที่ชวนให้คิดคือ ปัญหาอาการบาดเจ็บจำนวนมากขนาดนี้เกิดขึ้น เพราะทั้งนิวคาสเซิลฯ และแมนฯ ยูไนเต็ด ได้กลับไปเล่นในรายการยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ซึ่งเป็นรายการที่การแข่งขันเข้มข้นสูงหรือไม่ หรือเป็นเพราะมีจำนวนเกมที่ต้องลงเล่นเพิ่มหรือเปล่า

 

เพราะเมื่อฤดูกาลที่แล้ว นิวคาสเซิลฯ เป็นทีมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาตัวผู้เล่นบาดเจ็บน้อยที่สุดเพียงแค่ 15 รายตลอดทั้งฤดูกาล (เรียกได้ว่าฤดูกาลนี้เปิดมา 3 เดือน ก็จะทุบสถิติแซงหน้าแล้ว)

 

มันทำให้ชวนตั้งข้อสงสัยอยู่ว่าการที่ เอ็ดดี ฮาว จัดทีมเต็มสูบลงสนามต่อเนื่องตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้ว กำลังส่งผลตามมาถึงฤดูกาลนี้หรือไม่?

 

“นิวคาสเซิลฯ เป็นทีมเดียวใน 5 ลีกระดับท็อปของยุโรปที่มีผู้เล่นในสนาม (Outfield Player) ลงเล่นจำนวนเกมในระดับภายในประเทศขั้นต่ำมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ถึง 9 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดถึงมาก่อน” ดินเนอรีเผยข้อมูลที่น่าสนใจ

 

เพียงแต่เรื่องนี้ยังไม่สามารถตอบแบบชี้ชัดได้ว่าการลงเล่นในเกมยุโรปจะส่งผลจริง เพราะทีมที่ได้ผ่านเข้าไปเล่นในรายการสโมสรยุโรปเหมือนกันอย่างเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่ได้ลงเล่นในยูฟ่ายูโรปาลีก กลับเป็นทีมที่มีปัญหาอาการบาดเจ็บรบกวนน้อยที่สุดในบรรดา 20 ทีมพรีเมียร์ลีก

 

โดยทีม ‘ขุนค้อน’ ของเดวิด มอยส์ มีตัวเจ็บแค่ 5 คนเท่านั้นตั้งแต่เปิดฤดูกาลมา และตอนนี้ไม่มีใครในทีมที่ได้รับบาดเจ็บเลย

 

 

แฮงก์จากฟุตบอลโลก?

 

หนึ่งในปัจจัยที่ถูกมองว่าอาจมีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาอาการบาดเจ็บของผู้เล่นมากมายในฤดูกาลนี้ เป็นผลมาจากการกรำศึกหนักของนักฟุตบอล ซึ่งมีภาระใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมา

 

ภาระที่ว่าคือ ‘ฟุตบอลโลก 2022’ ที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในช่วงฤดูหนาว คั่นกลางฤดูกาลปกติ และทำให้โปรแกรมการแข่งขันที่ปกติก็แน่นเอี๊ยดเหมือนปลากระป๋องอยู่แล้วยิ่งแน่นขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในช่วงก่อนที่จะถึงรายการ

 

เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น ในฤดูกาลนี้เราเพิ่งผ่าน MATCHWEEK 12 กันไปในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน แต่ในฤดูกาลที่แล้ว MATCHWEEK ที่ 11 และ 12 มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม หรือร่วม 3 สัปดาห์ก่อนหน้าเลยทีเดียว

 

ข้อมูลที่น่าสนใจคือใน MATCHWEEK 11 ของฤดูกาลที่แล้ว (2022/23) มีจำนวนผู้เล่นบาดเจ็บ 151 ราย ซึ่งน้อยกว่าในฤดูกาลนี้ถึง 45 ราย ซึ่งดูเหมือนจะดีสำหรับฤดูกาลก่อน แต่ก็มีการพูดกันว่าที่จำนวนน้อยเป็นเพราะนักเตะเองก็ ‘ถนอมตัว’ ​เอาไว้สำหรับฟุตบอลโลกด้วย

 

แต่เมื่อฟุตบอลโลกจบแล้ว ทุกอย่างที่ ‘อั้น’ ไว้ก็ไล่ตามมา

 

ตามข้อมูลจากกลุ่มบริษัทประกัน Howden ที่รวบรวมข้อมูลการบาดเจ็บของนักฟุตบอลในยุโรปเช่นกัน ระบุว่า จำนวนค่าเฉลี่ยตัวเลขของนักเตะที่ต้องพักเพราะบาดเจ็บในลีกท็อป 5 อย่างพรีเมียร์ลีก, ลาลีกา, เซเรียอา, บุนเดสลีกา และลีกเอิง นั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญระหว่างก่อนและหลังฟุตบอลโลก

 

โดยก่อนฟุตบอลโลกมีจำนวนค่าเฉลี่ยนักเตะที่ต้องพักแค่ 11.35 วัน

 

ส่วนหลังฟุตบอลโลกจบจำนวนค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 19.41 วัน​ (เริ่มนับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา)

 

ลีกที่ได้รับผลกระทบสูงสุดคือพรีเมียร์ลีกและบุนเดสลีกา ซึ่งตรงนี้ก็น่าสนใจอีก เพราะพรีเมียร์ลีกนั้นแทบจะกลับมาทันทีหลังจบนัดชิงฟุตบอลโลก โดยกลับมาเตะลีกคัพหลังนัดชิงที่สนามลูเซล (และการได้แชมป์โลกของอาร์เจนตินา) แค่ 2 วัน ส่วนบุนเดสลีกาให้พักต่อแทบจะเป็นเดือน

 

แปลว่าระยะเวลาในการพักอาจไม่ได้เกี่ยวกับการบาดเจ็บโดยตรง

 

ในรายงานของ Howden ระบุว่า ‘เกมที่เร็วขึ้น’ ของพรีเมียร์ลีกและบุนเดสลีกา คือปัจจัยที่ส่งผลต่ออาการบาดเจ็บผู้เล่นที่สูงกว่าลีกที่เล่นช้ากว่าอย่างอิตาลี สเปน และฝรั่งเศส

 

ข้อมูลอาการบาดเจ็บของผู้เล่นพรีเมียร์ลีก

 

เจ็บแบบไหนมากที่สุด?

 

ท่ามกลางอาการบาดเจ็บมากมายนี้ อาการบาดเจ็บที่มาแรงที่สุดตลอดกาลคืออาการบาดเจ็บที่บริเวณกล้ามเนื้อด้านหลังโคนขา หรือที่เรียกกันว่าแฮมสตริง ซึ่งเป็นอาการที่คุ้นตากันมากที่สุดสำหรับแฟนฟุตบอล

 

อาการที่กล้ามเนื้อจุดนี้เกิดขึ้นได้ง่าย มีนักเตะที่วิ่งแล้ว ‘ปึ้ด’ ให้เห็นกันแทบทุกเกม ซึ่งในฤดูกาล 2023/24 มีนักฟุตบอลที่ได้รับบาดเจ็บอาการนี้มากถึง 53 คน ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของฤดูกาลที่แล้วที่มีคนเจ็บอาการนี้แค่ 26 คน ถึง 96 เปอร์เซ็นต์

 

และหากนำมาเทียบกับ 4 ฤดูกาลหลังสุดนั้นจะพบว่ามีอาการบาดเจ็บแฮมสตริงเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 55 เปอร์เซ็นต์ โดยฤดูกาลที่มีคนบาดเจ็บจุดนี้มากที่สุดคือฤดูกาล 2020/21 (ช่วงโควิด) ที่มีอาการบาดเจ็บ 40 ราย

 

โดยนักเตะระดับสตาร์ที่เจ็บอาการนี้ตั้งแต่นัดเปิดฤดูกาลเลยคือ เควิน เดอ บรอยน์ จอมทัพทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งบาดเจ็บในระดับรุนแรงมาก (แฮมสตริงมีการฉีกขาดหลายระดับ) จนต้องเข้ารับการผ่าตัดและพักรักษาตัวยาว คาดว่ากว่าจะได้เห็นลีลาการนำทัพแบบเท่ๆ อีกครั้งต้องรอถึงปีใหม่เลย

 

สำหรับอาการยอดฮิตรองลงมาคืออาการบาดเจ็บที่เข่า ที่มีจำนวน 28 คน ต่อด้วยข้อเท้าหรือเท้าอีก 21 คน

 

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการต้องทำหน้าที่ในสนามของนักฟุตบอลในปัจจุบันว่า มันอยู่ในจุดที่ร่างกายนักฟุตบอลไม่สามารถที่จะรับไหวแล้วหรือไม่

 

ไม่ใช่แค่เพียงการมีฟุตบอลโลกมาแทรกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเกมที่เร็วและหนักหน่วง ไปจนถึงในฤดูกาลนี้ที่มีการปรับเปลี่ยนระบบการคำนวณเพิ่มเวลา (Added Time) เพื่อต่อต้านการถ่วงเวลา ที่ทำให้มีหลายเกมที่นักเตะต้องลงสนามเกินกว่า 100 นาที ซึ่งมีการมองว่ากระทบต่อเรื่องของสวัสดิภาพนักฟุตบอลอย่างชัดเจน

 

 

มูลค่าของความเจ็บปวด

 

เรื่องที่ไม่ค่อยมีใครรู้สักเท่าไรเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บของผู้เล่นคือ ‘มูลค่าความเสียหาย’ ที่เกิดขึ้น

 

ในการศึกษาของ Howden ซึ่งได้รับข้อมูลจาก Sporting Intelligence มาช่วยคำนวณมูลค่าความเสียหายของอาการบาดเจ็บของนักฟุตบอล โดยวิธีการคำนวณก็คือ ‘จำนวนเงินที่จ่ายให้นักฟุตบอลในระหว่างที่พวกเขาต้องพัก ไม่สามารถลงสนาม’

 

พบว่าตัวเลขมูลค่าความเสียหายที่รวบรวมได้จากฤดูกาล 2022/23 นั้นเพิ่มสูงขึ้นจากฤดูกาลก่อนหน้า โดยตัวเลขมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 255.4 ล้านปอนด์ เพิ่มจากฤดูกาล 2021/22 ถึง 70.8 ล้านปอนด์

 

ทั้งนี้ แม้จำนวนอาการบาดเจ็บของนักฟุตบอลใน 5 ลีกท็อปของยุโรปจะลดลงจากเดิม 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ในรายงานระบุว่า “ความรุนแรงของอาการบาดเจ็บที่สูงขึ้น” เป็นเหตุผลที่ทำให้มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

ในภาพรวม พรีเมียร์ลีก, ลาลีกา, เซเรียอา, บุนเดสลีกา และลีกเอิง มีมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้น 27.3 เปอร์เซ็นต์ จาก 485.2 ล้านปอนด์ เป็น 617.8 ล้านปอนด์

 

เฉพาะในพรีเมียร์ลีก ทีมแชมป์อย่างแมนฯ ซิตี้ ที่มีตัวเจ็บ 40 รายในฤดูกาลที่แล้ว คิดมูลค่าความเสียหายได้ 11.9 ล้านปอนด์

 

ส่วนทีมที่เจ็บตัวเยอะที่สุดคือเชลซี ที่มีอาการบาดเจ็บ 68 รายตลอดฤดูกาล 2022/23 แต่เมื่อทีมจบฤดูกาลด้วยอาการเป็นอันดับที่ 12 ทำให้มีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 40.1 ล้านปอนด์ มากที่สุดในอังกฤษ มากยิ่งกว่าทีมที่ตัวเจ็บเยอะสุดอย่างแมนฯ ยูไนเต็ด และน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ (เจ็บทีมละ 69 ราย)

 

 

ทุกอย่างจะยิ่งเลวร้ายขึ้น

 

อ่านชุดข้อมูลมาเรื่อยๆ ก็น่าจะพอจับได้ว่า ‘เทรนด์’ ของการบาดเจ็บในเวลานี้กำลังไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

 

เอาแค่เดือนหน้าพรีเมียร์ลีกจะเข้าช่วงโปรแกรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งแม้จะมีการยืนยันว่าจะไม่มีสโมสรไหนที่ต้องลงเล่นต่อเนื่องภายในเวลา 60 ชั่วโมง (2 วันครึ่ง)​ แต่โปรแกรมนี้ก็รู้กันดีว่าไม่ได้ดีต่อสุขภาพเหมือนกัน

 

เพราะตามหลักแล้ว ขั้นต่ำที่สุดของการฟื้นฟูสภาพร่างกายนักฟุตบอลอยู่ที่ 72 ชั่วโมง

 

ทั้งนี้ แม้เรื่องอาการบาดเจ็บจะ ‘ต่างกรรมต่างวาระ’ เป็นเรื่องยากที่จะสามารถชี้ชัดได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุกันแน่ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญอย่างดินเนอรีคาดการณ์ไว้คือ ทุกอย่างจะยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีกอย่างแน่นอนหลังจากนี้

 

เพราะอะไร?

 

  • ตั้งแต่ฤดูกาลหน้าเป็นต้นไป แชมเปียนส์ลีก และยูโรปาลีก จะเพิ่มจำนวนทีมเป็น 36 ทีม มีการเพิ่มจำนวนเกมขั้นต่ำจาก 6 เป็น 8 เกม และลากยาวถึงเดือนมกราคม ไม่นับเกมเพลย์ออฟสำหรับบางทีมอีก 2 นัด
  • จะมี 12 ทีมจากยุโรปที่จะต้องเข้าร่วมแข่งรายการชิงแชมป์สโมสรโลก (คลับเวิลด์คัพ) ที่สหรัฐอเมริกาในปี 2025 ซึ่งจะแข่งในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม โดยตอนนี้แมนฯ ซิตี้, เชลซี และเรอัล มาดริด ต้องเข้าร่วมแน่นอนแล้ว และจะไปรวมกับแชมป์แชมเปียนส์ลีกฤดูกาลนี้ กับอีก 8 ทีมที่มีค่าสัมประสิทธิ์สูงสุดของยุโรป

 

เรียกว่าจำนวนเกมที่ต้องลงเล่นมีแต่จะเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ในจุดที่ควรวิตกกับการลงสนามจำนวนมากขนาดนี้ของนักฟุตบอลได้แล้ว

 

แว็งซองต์ กอมปานีย์ ผู้จัดการทีมเบิร์นลีย์ เคยเสนอความคิดเรื่องของ ‘Appearance Cap’ หรือการจำกัดจำนวนการลงสนามของนักฟุตบอล ที่ไม่ควรเกิน 65 นัดต่อฤดูกาล (รวมทุกรายการ) แต่ไอเดียนี้ยังเป็นแค่วุ้นและต้องมีการศึกษาหารืออีกมากว่าจำนวนเกมเฉลี่ยที่นักฟุตบอล ‘รับได้’ นั้นอยู่ที่กี่นัดกันแน่ และจะต้องเอาปัจจัยอะไรมาพิจารณาบ้าง เช่น ความแข็งแรงของร่างกาย อายุ ประวัติการบาดเจ็บ ฯลฯ

 

ระหว่างนี้นักเตะก็คงต้องตะบี้ตะบันเตะกันแบบนี้ต่อไป…

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X