“โควิด-19 มันเร่งให้ Digital Disruption และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลกอนาคตให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 2 เดือน จากเดิมทีควรจะเป็น 2 ปี”
นี่คือคำกล่าวของ เรืองโรจน์ พูนผล ประธานบริษัท KBTG หรือบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ที่สะท้อนให้เห็นถึงไซด์เอฟเฟกต์ที่เกิดจากวิกฤตโรคระบาด และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กร ภายใต้วิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรรายนี้
ไม่มีใครปฏิเสธอีกต่อไปว่าธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ตกเป็นเป้านิ่งของ ‘การดิสรัปต์’ โดยเฉพาะในวันที่ข้อเท็จจริงต่างๆ ปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นภายใต้ข้อจำกัดจากการใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่ทำให้การทำธุรกรรมและไลฟ์สไตล์แบบเดิมๆ เต็มไปด้วยอุปสรรคและความไม่สะดวก
หลังก่อตั้งขึ้นในปี 2559 ภายใต้วิสัยทัศน์ของ บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ที่มองว่าโลกในวันข้างหน้าจะถูก ‘ขับเคลื่อน’ ด้วยเทคโนโลยี โดยมี ‘นวัตกรรม’ เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ปัจจุบัน KBTG สามารถสยายปีกความแข็งแกร่งในด้านการพัฒนานวัตกรรมและเป็นพาร์ตเนอร์ด้านเทคโนโลยีให้กับธนาคารกสิกรไทยได้อย่างต่อเนื่อง
แต่กับโจทย์ใหญ่ในแชปเตอร์ต่อไปของ KBTG พวกเขาตั้งเป้าว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของไทย ที่ก้าวขึ้นมายืนในสเกลระดับภูมิภาคได้อย่างภาคภูมิภายในปี 2568 หรืออีก 5 ปีต่อจากนี้
และทั้งหมดนี้คือหมุดหมายที่แม่ทัพเรืองโรจน์หวังจะพา KBTG ภายใต้การนำทัพของเขาก้าวขึ้นไปให้ถึง
อินเตอร์เฟซแอปพลิเคชัน MAKE by KBank
‘วิ่งให้เร็วขึ้น’ Empowered ลูกค้าและพาร์ตเนอร์ของกสิกรไทยให้สำเร็จ
ประธานบริษัท KBTG กล่าวในระหว่างงาน KBTG Beyond the Future Day 2020 ที่เปิดตัว ‘สามย่าน วัลเลย์’ หรือ K+ Building ออฟฟิศแห่งใหม่ใจกลางสามย่าน ที่จะถูกใช้งานเป็นพื้นที่จัดแสดงโชว์เคสนวัตกรรมทางการเงิน และ Co-Innovation Space เอาไว้ว่า ทุกวันนี้การทำงานของ KBTG ต้อง ‘วิ่งให้เร็วขึ้น’ เพื่อที่จะสามารถตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของกสิกรไทยในการ ‘มอบอำนาจ’ ให้กับลูกค้าและพาร์ตเนอร์ของธนาคารได้อย่างทันท่วงที
โดยเฉพาะในวันที่พฤติกรรมของลูกค้าและภูมิทัศน์ของตลาดเปลี่ยนไป ‘ความเร็ว’ ของ Digital Disruption จึงถูกย่นย่อให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืน จุดนี้เองจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับพวกเขาที่จะต้องมุ่งพัฒนานวัตกรรมออกมาสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าและผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไปให้ได้
“ทุกวันนี้เราต้องวิ่งให้เร็วขึ้น เนื่องจากเราดูแลโครงสร้างขั้นพื้นฐานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับกสิกรไทยทั้งหมด KBTG จึงหยุด ‘ทรานส์ฟอร์มตัวเอง’ ไม่ได้ ที่จะพัฒนาโครงสร้างเหล่านั้นให้กับกสิกรไทยให้ครบวงจร และทันความต้องการของตลาด
“ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 KBTG ได้ปรับตัวทรานส์ฟอร์ม พยายามสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงิน การทำธุรกรรมและไลฟ์สไตล์ ออกมาให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะในโลกยุคต่อไป นวัตกรรมจะเป็นแกนหลักสำคัญของทุกสิ่งทุกอย่าง”
เรืองโรจน์ พูนผล ประธานบริษัท KBTG
ด้านการตอบโจทย์ Empowered ลูกค้าทั้งรายย่อยและองค์กรให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย ไร้แรงเสียดทานในด้านต่างๆ นั้น ที่ผ่านมา KBTG ได้เปิดตัวนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลายมาอย่างต่อเนื่อง
เริ่มตั้งแต่แอปพิลเคชัน K PLUS ที่วันนี้มีผู้ใช้งานมากกว่า 14 ล้านคนแล้ว (เป้าหมายภายในปีนี้คือ 15 ล้านคน), Contactless Technology ลดการสัมผัส (Face Pay, Paperless และ Face Check-In เป็นต้น), ขุนทอง แชตบอตเหรัญญิกกลุ่ม LINE, Eatable แพลตฟอร์มโซลูชันด้านอาหารแบบครบวงจร ไปจนถึง MAKE by KBank แพลตฟอร์มด้านการเงิน
ซึ่งในอนาคต เรืองโรจน์บอกว่า KBTG จะไม่ได้มีแค่ผลิตภัณฑ์หรือบริการเท่านั้น แต่จะต้องนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ให้ได้ด้วย ความหมายคือ KBTG ต้องทำโรงงาน AI ของตัวเอง ซึ่งในอนาคต AI เหล่านี้ก็จะกลายเป็นเนื้อเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ KBTG ทุกตัว
‘คน’ สูตรลับเบื้องหลังความสำเร็จในการเพาะบ่มเทคโนโลยีและการทรานส์ฟอร์มองค์กร
แต่การจะทำเช่นนั้นได้ (ทรานส์ฟอร์ม) เรืองโรจน์รู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้พนักงานกว่า 1,500 คนในองค์กร เห็นถึงเป้าหมายเดียวของบริษัทร่วมกัน ดังนั้นในงานทาวน์ฮอลล์ในไตรมาสที่ 3 ของบริษัท KBTG จึงได้ประกาศวิสัยทัศน์ ‘ONE KBTG’ เพื่อมุ่งหล่อหลอมพนักงานทุกคนในการทรานส์ฟอร์มให้เกิดความโปรดักต์ทีฟ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานร่วมกันในแบบ One Step Ahead One Team และ One Goal
โดยเรืองโรจน์ย้ำว่า แม้องค์กรของเขาจะสเกลการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ KBTG จะไม่มีวันลืมเป็นอันขาดคือ การให้ความสำคัญกับ ‘บุคลากร’ และพนักงานในองค์กร เพื่อช่วยให้ทุกคนเกิด Productivity ให้ได้มากที่สุด ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา KBTG จึงได้สนับสนุนโปรแกรมการซื้ออุปกรณ์สำนักงานที่จำเป็นให้กับพนักงานในช่วง Work from Home รวมถึงการเทเลเมดีซีนทางไกล เพื่อให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแบบทางไกลให้กับพนักงานแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย
ปัจจุบัน KBTG มีจำนวนพนักงานทั้งสิ้นที่ประมาณ 1,500 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงปลายปี 2019 ที่มีประมาณ 1,200 คน ซึ่งต่อจากนี้พวกเขาวางแผนจะรับพนักงานเพิ่มอีกราว 400 คน เป็น 1,900 คนให้ได้ภายในปี 2025
“ความยากในการทำงานของ KBTG ณ วันนี้คือการดูแลคน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราจะต้องมีพนักงานที่เก่ง วัฒนธรรมองค์กรที่ดี โครงสร้างและกระบวนการที่เอื้อหนุนพนักงาน เพื่อเพิ่ม Productivity ด้วยการทรานส์ฟอร์มให้พวกเขาทำงานได้ดีขึ้น เพราะหัวใจสำคัญของ KBTG คือคน เรามีหน้าที่ต้องสนับสนุนให้เขาทำงานออกมาได้ดีที่สุด
“สิ่งที่เราทำคือการ Decentralization, Career Path และ Empower เราเอาจริงเอาจังเป็นอย่างมากในแง่การพัฒนาเส้นทางการทำงานและการเติบโตของพนักงานแต่ละคนด้วยแนวคิด ‘Customer at the Heart’”
แม่ทัพ KBTG กล่าวเพิ่มเติมว่า หากในอนาคตตัวเขาเกิดเป็นอะไรขึ้นมา แต่ KBTG ยังต้องเดินต่อไปได้ เนื่องจากเขาได้ปลูกฝังค่าความเชื่อที่ว่า องค์กรต้องเดินโดยพึ่งพาพนักงานเป็นหลัก ไม่ใช่ผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง
ขณะที่แนวทางในอนาคตต่อจากนี้ KBTG ยังเตรียมทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาหลักสูตรการสอนเชิงลึก เพื่อกรูมคนเข้าสู่องค์กรตั้งแต่ต้นทางอีกด้วย
อินเตอร์เฟซแอปพลิเคชัน Eatable และโชว์เคสการใช้งานจริง
สเตปถัดไปคือการขึ้นเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของประเทศ ยกระดับสู่การเป็น Innovation Hub ระดับภูมิภาค
ไม่ใช่แค่การเป็นพาร์ตเนอร์ด้านเทคโนโลยีให้กับกสิกรไทยเท่านั้น เพราะ KBTG มองถึงสเกลลิงยกระดับตัวเองขึ้นเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของไทยและผู้ผลิตนวัตกรรมในแถวหน้าของภูมิภาคอาเซียน
ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พวกเขาจึงได้ก่อตั้งบริษัท K-Tech ที่เมืองเซินเจิ้น ในฐานะ ‘ฟินเทค’ ด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,379 ล้านบาท โดยตั้งเป้าจะรับพนักงานประมาณ 300 คน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินสำหรับธนาคารกสิกรไทยในประเทศจีน ประเทศอื่น และพันธมิตรโดยเฉพาะ ก่อนจะขยายตลาดไปสู่ลูกค้ารายย่อยในการปล่อยสินเชื่อบุคคล ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่ยังมีช่องว่างในรูปแบบ ‘Digital Lending’ อีกด้วย
เท่ากับว่า Dev Hub หรือศูนย์เพาะบ่มนวัตกรรมทางการเงินในปัจจุบันของ KBTG นั้นจะมีทั้งหมด 3 แห่ง คือ เวียดนาม ไทย และเซินเจิ้น เพื่อทำงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขึ้นมาสอดรับการใช้งานครอบคลุมในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนประเทศอื่นๆ ที่กสิกรไทยวางแผนจะรุกตลาด
ยิ่งไปกว่านั้น เรืองโรจน์บอกว่าเร็วๆ นี้ (ไม่เกินเดือนมกราคม 2564) เราจะได้เห็นบริษัท KX หรือ KA X เปิดตัวในฐานะการเป็นบริษัทที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเป็น New S-Curve ให้กับองค์กรอีกด้วย
“ความฝันของ KBTG ในการปักหมุดตึก K+ คือการให้คนนึกถึงบริษัทเทคโนโลยีในไทยแล้วให้นึกถึง KBTG เป็นชื่อแรก ผมอยากให้คนนอกมองเราแล้วสัมผัสได้ถึงศักยภาพและความสามารถในมุมมองการพัฒนาเทคโนโลยีที่นอกเหนือจากการเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินและธนาคารที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย”
ในสถานการณ์ที่ท้าทายจากวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้ เรืองโรจน์ยอมรับว่า การแข่งขันของผู้ให้บริการธนาคารแต่ละเจ้ามีความดุเดือดและเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีกับตัวผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ดี KBTG จะมุ่งมั่นเฉพาะการแข่งขันกับตัวเองเท่านั้น
“ถ้าผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่คุณใช้ในทุกวันนี้เป็นของเราก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เราต้องการจะเป็นบริษัทที่ตอบโจทย์ด้านเทคโนโลยีให้ได้ เช่นเดียวกัน ในยามที่บุคลากรใหม่ๆ จบจากระบบการศึกษาและต้องการจะสมัครงานด้านเทคโนโลยี เราก็หวังว่าจะให้พวกเขานึกถึงเราเป็นอันดับแรก”
เขายังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงประเด็นการ Recruit คนเข้าองค์กรว่า KBTG ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะเติมบุคลากรเข้าสู่บริษัทอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่การเติบโตในระดับภูมิภาคตามเป้าหมายที่วางไว้ภายในปี 2025 ให้ได้
“ถ้าคุณต้องการทำงานที่มีความหมาย ท้าทาย เปลี่ยนแปลงชีวิต และเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค เราขอเชิญคุณร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราที่ KBTG”
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล