×

ประธานาธิบดีไบเดน จุดเปลี่ยนนโยบายสหรัฐฯ กระทบเศรษฐกิจ-การลงทุนหุ้นเอเชียอย่างไร

12.11.2020
  • LOADING...

เป็นที่ทราบกันทั่วโลกแล้วในขณะนี้ว่า ผู้ชนะการเลือกตั้งและจะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีท่านใหม่คนที่ 46 ของสหรัฐฯ คือ โจ ไบเดน และตลาดทั่วโลกได้ให้ผลตอบรับเชิงบวกต่อผลการเลือกตั้ง แม้จะยังมีความเสี่ยงจากประเด็นการไม่ยอมรับผลการนับคะแนนในบางรัฐของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ตลาดการเงินเชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลคะแนนการเลือกตั้งครั้งนี้ 

 

มองไปข้างหน้า การเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของไบเดนจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายทั้งในและนอกสหรัฐฯ อย่างมาก เนื่องจากแนวคิดของทรัมป์และไบเดน รวมไปถึงแนวนโยบายระยะหลังของพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตก็ค่อนข้างมีจุดยืนที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องงบประมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจ กฎหมายหลักประกันสุขภาพ มาตรการรับมือโควิด-19 รวมถึงกฎหมายภาษี ฯลฯ สำหรับทัศนคติและแนวนโยบายของไบเดนที่แตกต่างจากทรัมป์มี 3 นโยบายที่เป็นจุดสำคัญ ได้แก่ 

 

1) นโยบายกดดันจีนจะยังคงมีอยู่ แต่ด้วยท่าทีที่ไม่แข็งกร้าว ในประเด็นด้านการละเมิดเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา การค้าที่ไม่เป็นธรรม และการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจของจีน รวมถึงการนำการจ้างงานกลับมาสหรัฐฯ จากประวัติการทำงานสมัยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาในอดีต ไบเดนมีแนวโน้มใช้วิธีประนีประนอมมากขึ้นโดยอาศัยการเจรจา และแสวงหาประเทศพันธมิตรผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกดดันจีนในระยะยาว แทนการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างจากสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ที่ใช้มาตรการกีดกันทางการค้านำ

 

2) นโยบายการค้าที่เป็นมิตร ไบเดนอาจพิจารณายกเลิกภาษีนำเข้าบางส่วนกับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป เพื่อปรับความสัมพันธ์ และเสนอแรงจูงใจทางการเงินให้บริษัทสหรัฐฯ นำการจ้างงานกลับมาที่สหรัฐฯ แทนการขู่ด้วยมาตรการภาษีและการกีดกันทางการค้า 

 

3) นโยบายที่มองออกไปนอกสหรัฐฯ (Outward-looking) มากกว่าสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ที่สหรัฐฯ พยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเองสูงสุด แม้จะต้องอยู่โดดเดี่ยวก็ตาม (Inward-looking) ซึ่งการกลับมาของสหรัฐฯ ในเวทีโลกรอบนี้ มีแนวโน้มเน้นรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับยุโรปและพันธมิตรในประเทศอื่น เช่น กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือและเอเชีย เป็นสำคัญ และมีความเป็นได้ที่สหรัฐฯ จะกลับมาเข้าร่วม Paris Agreement ซึ่งเป็นข้อตกลงสากลในการลดภาวะโลกร้อน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงข้อตกลงทางการค้าที่ครอบคลุม และก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ด้วย

 

จากประธานาธิบดีทรัมป์สู่ประธานาธิบดีไบเดน จุดเปลี่ยนด้านนโยบายของสหรัฐฯ ของไบเดนในปี 2021 จะมีทิศทางเปลี่ยนไปอย่างมาก และ 3 นัยสำคัญสำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย มีดังนี้  

 

1) นโยบายด้านต่างประเทศและการค้า จะส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย  ไบเดนนิยมใช้แนวทางแบบพหุภาคี (Multilateral) ในการเจรจาแก้ไขความขัดแย้ง แทนที่จะใช้ภาษีนำเข้าทวิภาคี (Bilateral Tariffs) จึงส่งผลดีต่อการค้าโลกโดยรวม และประเทศที่พึ่งพาการส่งออก รวมถึงไทยด้วย 

 

ด้านมาตรการกีดกันทางการค้ามีแนวโน้มไม่รุนแรง โดยเฉพาะไทยน่าจะยังได้ต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในสินค้าหมวดที่เหลือ คาดสินค้าที่จะได้ประโยชน์เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง ได้แก่ หมวดเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น นอกจากนี้ นโยบายปักหมุดในเอเชีย (Pivoting to Asia) ตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีโอบามาในช่วงปี 2009-2017 มีโอกาสสูงที่จะถูกรื้อฟื้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีน และการกลับเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์จากการค้าการลงทุนที่เพิ่มขึ้น และการให้ความสำคัญกับประเทศในทวีปเอเชียมากขึ้นในเชิงภูมิรัฐศาสตร์

 

2) นโยบายการคลัง แม้ไบเดนมีแผนการขึ้นภาษีในสหรัฐฯ หลายหมวด ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่การขึ้นภาษีเหล่านี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสหรัฐฯ และถูกนำไปใช้ในแผนกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศที่ส่งออกสินค้าทุนไปยังสหรัฐฯ และเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวต่อเนื่อง และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง จะส่งผลดีต่อเงินทุนที่จะไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย

 

3) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การผลักดันนโยบายพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนของไบเดน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของหลายประเทศหลักทั่วโลก ที่ผลักดันเรื่องนี้อยู่แล้ว เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี ฯลฯ

 

จากมาตรการกระตุ้นทางการคลังขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ และนโยบายด้านการค้าที่มีแนวโน้มประนีประนอมมากขึ้น จะช่วยหนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ (EM) โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย (EM Asia) ที่จะได้อานิสงส์โดยตรง นอกจากนี้ แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับสกุลเงินหลักในเอเชีย จะช่วยสนับสนุนกระแสเงินทุนไหลเข้า และการเพิ่มขึ้นของทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ในตลาด EM ในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งช่วยให้ต้นทุนทางการเงินทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของไบเดน และแนวนโยบายที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะช่วยลดความไม่แน่นอนเชิงนโยบายของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคเอเชียลงได้ ในอีกทางหนึ่ง จะช่วยให้ตลาดเอเชียเปิดรับความเสี่ยงได้มากขึ้น และดัชนีสะท้อนความผันผวนมีแนวโน้มเฉลี่ยต่ำลง และจากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว จะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงในระยะกลาง-ยาว ซึ่งตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐโดยตรง จากแรงกดดันที่ลดลงด้านความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศคืนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในช่วงที่การก่อหนี้ในภูมิภาคเร่งตัวขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 และหากผนวกกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน และความหวังเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในปี 2021 ด้วยแล้ว แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และนโยบายเศรษฐกิจในยุคของไบเดนจะยิ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนกระแสเงินทุนให้ไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียจากภาพการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น 

 

หลายงานศึกษาด้านตลาดทุนในอดีตบ่งชี้ว่าตลาด EM รวมถึงตลาดเอเชียมีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนโดยเฉลี่ยได้ดีกว่าตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ในช่วงที่เศรษฐกิจและการค้าโลกฟื้นตัวดี และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า นอกจากนี้ จากความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ต่อภูมิภาคเอเชียที่ลดลง เมื่อเทียบกับสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้คาดว่า EM Credit Spread (ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนระหว่างพันธบัตร EM และพันธบัตรสหรัฐฯ) จะมีแนวโน้มแคบลง (สะท้อนความเสี่ยงของพันธบัตร EM ที่ลดลง) ในช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าอีกด้วย 

 

นอกจากนี้ ข้อมูลในอดีตยังชี้ให้เห็นว่า EM Credit Spread มักมีความสัมพันธ์ผกผันกับการแข็งค่าของสกุลเงิน EM และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย (ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อน ค่าเงินสกุล EM แข็งค่าโดยเปรียบเทียบจะทำให้ EM Credit Spread ลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้น) ด้วยเหตุนี้ จากการที่ผู้นำสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่าน และแนวนโยบายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย และค่อนไปในทางที่เป็นมิตรต่อตลาด EM โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งประสานกับภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าของภูมิภาคเอเชียในระยะข้างหน้า การขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโจ ไบเดน จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนภาวะตลาดการเงินในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียที่จะเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้นต่อเนื่องในปี 2021

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising