×

ไบเดนเยือนยูเครน ส่งสัญญาณสำคัญอะไรต่อสงครามหลังจากนี้

21.02.2023
  • LOADING...

“ผมดีใจที่ได้กลับมาเยือนกรุงเคียฟอีกครั้ง” 

 

ถ้อยคำแรกของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ขณะย่างเท้าก้าวออกจากรถไฟ และแตะลงบนแผ่นดินยูเครน

 

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2023 กลายเป็นอีกวันหนึ่งที่ต้องถูกจารึกลงประวัติศาสตร์การเมือง เมื่อไบเดนสร้างเซอร์ไพรส์ใหญ่สะเทือนเกมภูมิรัฐศาสตร์โลก ด้วยการเดินทางเยือนยูเครนด้วยตนเองแบบที่ไม่ได้ประกาศล่วงหน้ามาก่อน 

 

แน่นอนว่าทริปที่เกิดขึ้นถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ทรงพลังจากสหรัฐฯ มากที่สุดนับตั้งแต่ที่สงครามเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 จนหลายฝ่ายกังวลว่า การกระทำดังกล่าวจะไปกระตุกหนวดเสืออย่างประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เข้าหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียจวนเจียนใกล้เวียนมาครบ 1 ปีเต็มเข้าทุกขณะ

 

เมื่อปีที่ผ่านมา ผู้นำรัสเซียได้เปิดฉากการกระทำที่ละเมิดอำนาจอธิปไตยของยูเครนอย่างมาก ด้วยการส่งกองกำลังทหารเข้ารุกรานยูเครนแบบสายฟ้าแลบ พร้อมกับกองรถถังที่มุ่งหน้าตรงเข้าสู่กรุงเคียฟ ด้วยความหมายมั่นว่าจะกำจัดรัฐบาลของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี อดีตนักแสดงตลกที่เปลี่ยนชะตาชีวิตของตัวเองเข้าสู่โลกแห่งการเมือง 

 

จุดมุ่งหมายของปูตินนั้นชัดเจน ซึ่งก็คือการบดขยี้ความฝันของยูเครนในการเข้าร่วมกับชาติตะวันตกในกลุ่มพันธมิตร NATO เพราะหวั่นเกรงว่าจะสูญเสียดินแดนกันชนไป และต้องการให้ยูเครนหวนกลับมาอยู่ใต้อำนาจของรัสเซียอีกครั้ง

 

หากย้อนกลับไปเมื่อปีก่อน หลายคนเคยคิดว่ายูเครนจะต้องยอมศิโรราบให้กับรัสเซียในเวลาอันสั้น โอกาสครบรอบ 1 ปีของสงครามที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้ คงเป็นภาพการสวนสนามของกองทัพรัสเซียในดินแดนยูเครน รวมถึงภาพของปูตินที่มาจับไม้จับมือกับผู้นำหุ่นเชิดที่เขาแต่งตั้งขึ้นมาเองภายใต้กำปั้นเหล็กของมอสโก

 

แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น ไม่มีใครคิดเลยว่าอดีตนักแสดงตลกอย่างเซเลนสกีจะแสดงภาวะผู้นำที่แข็งแกร่งจนประวัติศาสตร์โลกต้องจารึก เพราะเขาสามารถต้านทานการรุกรานของรัสเซียได้อย่างเหนียวแน่น ด้วยความช่วยเหลือจากพันธมิตรชาติ NATO ที่ส่งทั้งเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาช่วยหนุน 

 

แต่ภาพที่ทุกคนไม่น่าจะเคยจินตนาการมาก่อนคือ การที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้โผล่ไปเยือนยูเครนในวันที่สงครามใกล้เวียนมาครบ 1 ปี ท่ามกลางเสียงไซเรนเตือนภัยทางอากาศที่ดังกระหึ่มอยู่เหนือหัว แถมตัวไบเดนเองก็ยังเดินทางไปรอบกรุงเคียฟพร้อมกับเซเลนสกี

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นการส่งสารแบบแรงๆ ถึงปูตินโดยตรง และเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความมุ่งมั่น ตลอดจนความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อประชาชนชาวยูเครน อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำให้ภาพลักษณ์ของไบเดนเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งมากที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น ซึ่งสามารถรวบรวมชาติยุโรปให้เป็นปึกแผ่นเพื่อทานอำนาจของรัสเซียได้

 

🚩 ทริปลับ…ที่ไม่ลับ?

ทริปการเดินทางเยือนยูเครนของไบเดนนั้นเป็นความลับมาโดยตลอด ซึ่งวานนี้เจ้าหน้าที่ของทำเนียบขาวเพิ่งจะออกมาเปิดเผยว่า ไบเดนได้เดินทางไปยังฐานทัพอากาศแอนดรูว์ ซึ่งอยู่นอกกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และได้เดินทางออกจากสหรัฐฯ ในเวลา 04.15 น. ของวันอาทิตย์ ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยเครื่องบิน Air Force One พร้อมด้วยผู้ช่วยจำนวนหนึ่ง รวมถึงนักข่าวและช่างภาพอย่างละ 1 คน ทั้งที่ปกติจะมีกองทัพผู้ช่วยและสื่อมวลชนติดตามไปเป็นขบวน

 

หลังจากนั้นเครื่องบินได้ลงจอดที่ฐานทัพอากาศรัมชไตน์ (Ramstein Air Base) ของกองทัพสหรัฐฯ ในเยอรมนี เพื่อเติมเชื้อเพลิง ก่อนที่จะบินต่อไปยังเมืองเซสซูฟของโปแลนด์ จากนั้นไบเดนและคณะได้นั่งรถยนต์ต่ออีก 1 ชั่วโมงไปยังเมืองปแชมึชล์ ซึ่งเป็นเมืองชายแดนระหว่างโปแลนด์และยูเครน ภายหลังจากนั้นไบเดนได้นั่งรถไฟต่ออีก 10 ชั่วโมง เพื่อเดินทางไปยังกรุงเคียฟในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งมีการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา

 

เช้าวันถัดมารถไฟเดินทางถึงกรุงเคียฟในช่วงเวลาประมาณ 08.00 น. พื้นที่ชานชาลาถูกเคลียร์เพื่อต้อนรับผู้นำสหรัฐฯ จนเกิดเป็นโมเมนต์ประวัติศาสตร์อย่างที่เราได้เห็นกันวานนี้

 

“ผมดีใจที่ได้กลับมาเยือนกรุงเคียฟอีกครั้ง” ไบเดนกล่าวขณะที่ก้าวลงจากรถไฟ

 

อย่างไรก็ตาม เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ระบุในภายหลังว่า แม้ข่าวดังกล่าวจะถูกเก็บเป็นความลับต่อสาธารณชน แต่สหรัฐฯ ได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของรัสเซียชัดเจนว่าไบเดนจะเดินทางเยือนเคียฟอยู่หลายชั่วโมง ก่อนที่ผู้นำสหรัฐฯ จะบินออกจากประเทศ โดยระบุว่า ‘เพราะต้องการลดความขัดแย้ง’ กับรัสเซีย และการเดินทางของผู้นำสหรัฐฯ ก็อยู่ภายใต้การรักษาความปลอดภัยและการบริหารจัดการที่มีความรัดกุม ผ่านการวางแผนของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดมานานหลายเดือน เพื่อให้สามารถจัดการกับทุกความเสี่ยงได้

 

หากย้อนกลับไปในช่วงสงครามตะวันออกกลางของอเมริกาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลาดังกล่าวชาวอเมริกันมักจะคุ้นเคยกับภาพที่ประธานาธิบดีของพวกเขาเดินทางออกจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กลางดึก และไปปรากฏตัวในกรุงแบกแดดหรือกรุงคาบูล เพื่อเยี่ยมกองทหารสหรัฐฯ และผู้นำที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นยุคของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช, บารัก โอบามา หรือ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแม้การเดินทางเยือนดังกล่าวจะมีภาพของความกล้าหาญและความอันตรายในแบบฉบับของมันเอง แต่ทริปของไบเดนครั้งนี้ถือเป็น ‘ขั้นกว่า’ เพราะเป็นการก้าวไปตามถนนบนเมืองหลวงอย่างกรุงเคียฟ ซึ่งมักถูกโจมตีทางอากาศอยู่บ่อยครั้ง แถมไม่ได้ขนกองทัพและเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ไปรักษาความปลอดภัยแบบชุดใหญ่ 

 

นักวิเคราะห์มองว่า แม้ทริปที่เกิดขึ้นจะเป็นสถานการณ์ที่มีความหมิ่นเหม่และดูอันตรายอยู่ไม่น้อย แต่หากเวลาผ่านไปวันแล้ววันเล่า ไบเดนไม่ตัดสินใจเยือนยูเครนเสียที ก็อาจเป็นการยอมรับไปโดยปริยายว่า ‘สหรัฐฯ เป็นชาติที่อ่อนแอ’ และไบเดนเองก็กลัวอำนาจของปูติน นี่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เขาจำเป็นต้องตัดสินใจทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้

 

🚩 รำลึกถึงค่ำคืนอันมืดมน ณ จุดเริ่มต้นของสงคราม

เมื่อวานนี้ไบเดนได้กล่าวถึงความรู้สึกของตนเอง โดยเปรียบเทียบกันระหว่างช่วงเวลาที่สงครามได้เริ่มต้นขึ้น และในวันนี้ที่สงครามยืดเยื้อยาวนานมาเกือบหนึ่งปี

 

“ในค่ำคืนอันมืดมิดเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว โลกต่างกำลังเตรียมรับมือกับการล่มสลายของเคียฟอย่างแท้จริง” ไบเดนกล่าวกับเซเลนสกี ณ การแถลงข่าวในห้องโถงโอ่อ่า ขนาบข้างด้วยธงชาติสีฟ้า-เหลืองสดใสของยูเครน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญ เพราะทั้งสองผู้นำไม่ได้อยู่ในสถานที่หลบภัย แต่กลับยืนอย่างภาคภูมิในห้องที่หรูหรา เหมือนกับการแถลงข่าวของผู้นำโลกอื่นๆ ไม่มีผิด

 

“หนึ่งปีต่อมากรุงเคียฟยังคงอยู่ และยูเครนยังยืนหยัดอย่างแข็งแกร่ง ประชาธิปไตยยังมั่นคง” ไบเดนกล่าว “ชาวอเมริกันทุกคนขอยืนหยัดเคียงข้างคุณ และทั่วโลกก็ยืนอยู่เคียงข้างคุณ”

 

ทริปนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า สหรัฐฯ ยืนหยัดเคียงข้างชาติพันธมิตรตะวันตกเพื่อให้มีชัยเหนือรัสเซีย ซึ่งสื่อตะวันตกมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นการฉายภาพซ้ำในอดีต ดังเช่นที่อดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี และ โรนัลด์ เรแกน เคยสร้างทริปประวัติศาสตร์ด้วยการเดินทางเยือนเยอรมนีในช่วงสงครามเย็น เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ว่า สหรัฐฯ พร้อมแก้ปัญหาที่เกิดจากสหภาพโซเวียต (หรือรัสเซียในปัจจุบัน)

 

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังมองว่า การเดินทางเยือนพื้นที่สงครามอย่างลับๆ ของไบเดนก็เป็นผลดีกับเซเลนสกีด้วย เพราะการที่ผู้นำสหรัฐฯ ออกหน้าด้วยตัวเอง จะทำให้ยูเครนสามารถรักษาการสนับสนุนจากชาติตะวันตก เพื่อช่วยเหลือประชาชนหลายล้านคนในประเทศ รวมถึงการจัดส่งอาวุธและความช่วยเหลือต่างๆ อีกมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า อีกนัยหนึ่งการเดินทางครั้งนี้เป็นการส่งสารไปยังประชาคมโลกว่า สหรัฐฯ ไม่ได้อ่อนแอหรือกลัวปูติน ซึ่งแน่นอนว่ายูเครนเข้าใจวัตถุประสงค์นี้ดีกว่าใคร

 

“จุดพลิกผันของสงครามนี้จะไม่เกิดขึ้น หากเราได้รับอาวุธเพิ่มอีกชุด แต่เมื่อไรก็ตามที่ชาติพันธมิตรของเราลดบทบาท มันก็คงเกิดขึ้นได้แน่นอน” คิรา รูดิก สมาชิกรัฐสภายูเครน เปิดเผยกับสำนักข่าว CNN

 

“ประธานาธิบดีไบเดนกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ และพรุ่งนี้ปูตินจะต้องตอกกลับถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้” รูดิกกล่าว

 

🚩 ผลลัพธ์ที่มากกว่าการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์?

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองจะบรรลุวัตถุประสงค์ก็ต่อเมื่อมันสามารถสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้ เช่น นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบาย หรือพลิกสถานการณ์ให้เปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวก ซึ่งการเดินทางของไบเดนอาจไร้ความหมายหากท้ายที่สุดรัสเซียเป็นฝ่ายที่คว้าชัยชนะ

 

แม้ภาพลักษณ์ของไบเดนในการเยือนเคียฟครั้งนี้จะดูน่าประทับใจอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่สามารถปกปิดข้อกังขารวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวทางของสหรัฐฯ ที่มีต่อสงครามที่เกิดขึ้นได้ ตลอดจนประเด็นอื่นๆ ที่สหรัฐฯ เห็นต่างกับยูเครน หนึ่งในประเด็นสำคัญสุดคือเรื่องของชนิดอาวุธ เพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้เน้นมอบอาวุธที่ใช้สำหรับป้องกัน ขณะที่ยูเครนได้เรียกร้องให้มีการส่งอาวุธที่ช่วยในการต่อสู้เชิงรุกมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ ‘ทางลง’ ของสงครามที่ทั้งสองประเทศอาจมีแนวคิดที่ต่างกัน ส่วนการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พูดว่าจะช่วยยูเครน ‘ตราบเท่าที่ต้องใช้เวลา’ ก็สามารถตีความได้หลายอย่างตามที่แต่ละฝ่ายจะคิดกันไป 

 

อีกทั้งยังปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า มีสัญญาณที่สงครามนี้จะดำเนินต่อไปอีกหลายปี ขณะที่ปูตินก็แพ้ไม่ได้ และโลกตะวันตกเองก็ไม่อยากแพ้ด้วย

 

ขณะเดียวกันท่าทีของไบเดนที่ออกโรงตำหนิปูตินนั้นก็มีเปอร์เซ็นต์ที่จะไปกระตุกหนวดเสือเข้าให้ด้วย ในกรณีเลวร้ายคือ ทริปของไบเดนอาจกระตุ้นให้คำกล่าวของปูตินที่ว่า ‘เขากำลังทำสงครามกับโลกตะวันตก มากกว่าที่จะเป็นชาติใดชาติหนึ่ง’ กลายเป็นจริงขึ้นมา แน่นอนว่านั่นเป็นสถานการณ์ที่ไบเดนอยากจะเลี่ยงมากที่สุด เพราะเขาไม่ต้องการให้สหรัฐฯ เข้าไปมีส่วนพัวพันในความขัดแย้งอย่างเต็มตัว

 

🚩 ความหวังของยูเครนที่จะได้ครอบครอง F-16?

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ความเห็นที่ต่างแตกกันประเด็นหนึ่งของไบเดนและเซเลนสกีคือ เรื่องของอาวุธที่ผู้นำสหรัฐฯ จัดหาให้ โดยฝ่ายรัฐบาลยูเครนได้พยายามเรียกร้องให้ชาติตะวันตกส่งเครื่องบินรบ F-16 มาให้ยูเครน เพื่อหวังจะเข้ามาเสริมทัพในสมรภูมิรบ หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากการร้องขอรถถังไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งในขณะเดียวกันสมาชิกสภาคองเกรสบางส่วนก็เห็นด้วยที่จะส่งเครื่องบินรบให้กับยูเครน

 

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไบเดนได้ปฏิเสธคำขอดังกล่าว ก่อให้เกิดคำถามที่ว่า คำมั่นของเขาที่บอกไว้ว่าจะช่วยยูเครนนั้น ท้ายที่สุดแล้วจะ ‘ช่วยได้’ แค่ไหน หากใจหนึ่งก็ต้องการให้ยูเครนได้รับชัยชนะ แต่อีกใจหนึ่งก็ต้องพยายามเลี่ยงไม่ให้พาสหรัฐฯ และชาติสมาชิก NATO เข้าไปปะทะกับรัสเซียแบบจังๆ

 

ไมค์ แมคคอล ส.ส. จากรัฐเท็กซัส สังกัดพรรครีพับลิกัน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร เคยออกมาวิจารณ์กรณีดังกล่าวผ่านรายการ State of the Union ของ CNN เมื่อวันอาทิตย์ว่า ในอดีตสหรัฐฯ เคยตัดสินใจผิดพลาดจากการที่ใช้เวลานานเกินไปกว่าที่จะส่งอาวุธไปช่วยยูเครน และในวันนี้เราก็ไม่ควรทำผิดพลาดซ้ำรอยเดิมด้วยการลังเลไม่ส่งเครื่องบินรบไปให้เสียที

 

เมื่อนักข่าวถามเขาว่า ฝ่ายบริหารของไบเดนกำลังพิจารณาที่จัดส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 หรือไม่ เขาตอบว่า “ผมก็หวังว่าจะเป็นแบบนั้น” และเสริมว่า “ผมคิดว่าโมเมนตัมตอนนั้นน่าจะเอื้อไปทางนั้น”

 

นักวิเคราะห์มองว่า การส่งเครื่องบินรบสัญชาติอเมริกันไปยังยูเครน อาจเป็นประเด็นที่อ่อนไหวกว่าการจัดส่งรถถังที่ได้มีการตกลงกันไปก่อนหน้านี้ เพราะหากยูเครนได้เครื่องบินรบไป ก็จะเพิ่มโอกาสให้กองทัพยูเครนสามารถโจมตีเครื่องบินรบของรัสเซียได้โดยตรง รวมถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศที่อยู่ในรัสเซียด้วย นอกจากนี้การใช้เครื่องบินรบของ NATO ในสงคราม (แม้คนขับจะเป็นนักบินยูเครนก็ตาม) ก็อาจทำให้รัสเซียสรุปเอาได้ว่า ชาติพันธมิตรเข้ามาแทรกแซงในสงครามโดยตรง เพิ่มความเสี่ยงที่จะขยายวงความขัดแย้งจากเดิมที่อยู่แค่สองชาติ กลายเป็นสงครามของสิบๆ ชาติ ซึ่งเป็นสถานการณ์อันน่าปวดหัวที่ไบเดนก็ไม่อยากเห็น

 

อย่างไรก็ตาม บางส่วนก็มองว่า ทริปเยือนยูเครนของไบเดนคืออีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของสงคราม

 

พลจัตวา สตีฟ แอนเดอร์สัน ซึ่งเกษียณจากกองทัพสหรัฐฯ ไปแล้วนั้น ได้เปิดเผยกับ CNN ว่า ไบเดนได้แสดงภาวะผู้นำที่เข้มแข็งให้โลกได้เห็นว่า ผู้นำที่ดีต้องเดินไปหาต้นตอของเสียงปืน อย่างไรก็ตาม “สหรัฐฯ จำเป็นต้องตัดสินใจ เราเข้าร่วมในความขัดแย้งเพื่อหลักประกันว่ายูเครนจะไม่แพ้ หรือเราเข้าร่วมเพราะต้องการทำให้ยูเครนเป็นผู้ชนะจริงๆ”

 

🚩 เพื่อโลกหรือเพื่อการเมืองในประเทศ?

แม้การเดินทางเยือนยูเครนของไบเดนจะสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันเป็นการสร้างนัยบางอย่างสำหรับภาคการเมืองในประเทศด้วย

 

การเดินทางด้วยเส้นทางที่แสนทรหดและอันตราย ซึ่งต้องใช้พลังงานและความอดทนอย่างมหาศาล ก็อาจเป็นการตอบคำถามไปถึงคนที่เคยตั้งคำถามกับไบเดนว่า ชาย (สูง) วัย 80 ปีผู้นี้จะยังไหวในศึกเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยหน้าหรือไม่ 

 

อย่างไรก็ตาม ในโลกการเมืองของสหรัฐฯ ก็มีกระแสการโจมตีจากสมาชิกพรรครีพับลิกันด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น มาร์จอรี เทย์เลอร์ กรีน ส.ส. จากรัฐจอร์เจีย ที่ออกมาจวกไบเดนอย่างทันควันเกี่ยวกับการเดินทางไปยูเครน รวมถึงสมาชิกพรรคคนอื่นๆ ที่ออกมาวิจารณ์ว่า ไบเดนดูแลคนในยูเครนดีกว่าคนในประเทศตัวเองเสียอีก

 

กรีนทวีตข้อความสุดดุเดือดว่า “นี่เป็นการดูถูกกันอย่างไม่น่าเชื่อ วันนี้ซึ่งตรงกับวันประธานาธิบดี (President’s Day) โจ ไบเดน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ กลับเลือกยูเครนก่อนอเมริกา อีกทั้งยังบังคับให้คนอเมริกันจ่ายเงินให้กับรัฐบาลและสงครามของยูเครนอีก ฉันบรรยายไม่ถูกเลยว่าคนอเมริกันเกลียด โจ ไบเดน มากแค่ไหน” 

 

ปัจจุบันมีชาวอเมริกันฝ่ายขวาหลายคนที่ไม่ปลื้มกับการบริหารประเทศของไบเดน เพราะเขามองว่าไบเดนยังดำเนินการรักษาความปลอดภัยทางชายแดนได้ไม่ดีพอ และปัญหาดังกล่าวก็ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ไบเดนจะถูกโจมตีหนักในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีหน้า 

 

แต่ถึงเช่นนั้นหลายคนก็ชื่นชมไบเดน ในฐานะที่เขาเป็นประธานาธิบดีที่ยืนหยัดในรากฐานสำคัญที่อเมริกายึดมั่นมาตลอด นั่นคือเสรีภาพและประชาธิปไตย รวมถึงสิทธิของประชาชนที่จะขับไล่เผด็จการที่ใช้ปลายกระบอกปืนกดขี่ประชาชน

 

ภาพ: Presidency of Ukraine / Handout / Anadolu Agency via Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X