ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ประกาศกำหนดการเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 10 กันยายนนี้ โดยการเดินทางเยือนดังกล่าวจะมีขึ้นหลังจากที่ผู้นำสหรัฐฯ เสร็จสิ้นภารกิจเข้าร่วมการประชุมประเทศสุดยอดเศรษฐกิจชั้นนำ 20 ประเทศหรือ G20 ที่อินเดีย และจะใช้เวลาอยู่ที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนามเพียงหนึ่งวันเท่านั้น
รายงานระบุว่า การเดินทางเยือนเวียดนามครั้งนี้เป็นไปตามที่ไบเดนเคยเกริ่นไว้ก่อนหน้านี้มาสักพักแล้วกับบรรดากลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต โดยผู้นำสหรัฐฯ ชี้ว่า การเยือนเวียดนามเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศไปสู่การเป็นพันธมิตรหุ้นส่วนที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
หลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีไบเดนได้ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ได้รับโทรศัพท์จากรัฐบาลเวียดนาม ขอให้แวะเวียนมายังเวียดนามหลังประชุม G20 ที่อินเดีย เพื่อร่วมหารือกันในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการหารือเรื่องการยกระดับเวียดนามให้เป็นพันธมิตรรายใหญ่ เทียบเคียงกับจีนและรัสเซีย
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะพบปะกับบรรดาผู้นำระดับสูงของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งรวมถึง เหงียน ฟู้ จ่อง (Nguyen Phu Trong) เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม โดยประเด็นหารือหลักคือการยกระดับความสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือกันในด้านต่างๆ เช่น การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่ไม่จำเป็น และความเข้าใจผิด
Karine Jean-Pierre โฆษกทำเนียบขาวระบุในแถลงการณ์ว่า เหล่าผู้นำของทั้งสองประเทศจะพูดคุยแลกเปลี่ยนและหารือถึงโอกาสในการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเวียดนาม โดยรวมถึงการหาทางสนับสนุนเวียดนามที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ขยายความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนผ่านการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและโครงการพัฒนาแรงงาน การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และเสถียรภาพในภูมิภาค
โฆษกทำเนียบขาวเปิดเผยอีกว่า ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ จะแวะที่อะแลสการะหว่างทางกลับจากเวียดนาม เพื่อรำลึกครบรอบ 22 ปีเหตุโจมตีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 โดยไบเดนจะเข้าร่วมในพิธีรำลึกที่ฐานทัพร่วมเอลเมนดอร์ฟ-ริชาร์ดสัน (Joint Base Elmendorf-Richardson) ในแองเคอเรจ ( Anchorage) ร่วมกับเหล่าทหาร ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น และบรรดาสมาชิกครอบครัวของบุคลากรเหล่านั้น
ด้านบรรดานักเคลื่อนไหวและกลุ่มสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ ต่างออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับกรณีที่รัฐบาลเวียดนามลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ และการจับกุมผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหลายสิบคน รวมถึงสถานะของรัฐบาลเวียดนามที่ปกครองด้วยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งทางโฆษกทำเนียบขาวโต้ว่าผู้นำสหรัฐฯ ไม่เคยเกี่ยงที่จะคบหากับคนที่มีความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกัน อีกทั้งไม่เคยหลบเลี่ยงที่จะหยิบยกประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมาพูดคุยกับบรรดาผู้นำคนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้ใดก็ตาม
การตัดสินใจเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ยังสะท้อนให้เห็นนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโจ ไบเดน ที่มุ่งปรับปรุงและขยายความสัมพันธ์ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มทวีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับอิทธิพลทางการทหารและเศรษฐกิจของจีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค
ขณะที่ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปี แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนเวียดนามหลายสัปดาห์หลังจากวันครบรอบ 50 ปีของการถอนทหารของสหรัฐฯ ออกจากเวียดนาม ซึ่งถือเป็นการยุติการมีส่วนร่วมทางทหารโดยตรงของอเมริกาในเวียดนาม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อสงครามเวียดนาม โดยในครั้งนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ไปสู่ระดับใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางด้าน เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ อีกด้วย
ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนามได้รับการฟื้นฟูในปี 1995 เท่านั้น นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การค้าทวิภาคีก็เติบโตขึ้น โดยมีมูลค่าการค้าสินค้าสูงถึง 138 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนาม เพิ่งได้รับการฟื้นฟูในปี 1995 เท่านั้น กระนั้น นับตั้งแต่ฟื้นความสัมพันธ์เป็นต้นมา การค้าระดับทวิภาคีของทั้งสองฝ่ายก็ขยายตัวเติบโตขึ้น โดยมีมูลค่าการค้าสินค้าสูงถึง 1.38 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2022
ปัจจุบัน เวียดนามถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อส่งออกที่สำคัญสำหรับผู้ผลิตระดับโลก เช่น LG และ Samsung Electronics ของเกาหลีใต้ ซัพพลายเออร์ของ Apple, Inc. และผู้ผลิตรถยนต์ เช่น Honda และ Toyota ยิ่งไปกว่านั้น เวียดนามยังกลายเป็นดาวเด่นที่น่าจับตามอง หลังบรรดาผู้ผลิตต้องการเปลี่ยนการผลิตจากประเทศจีน เนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้หลายอุตสาหกรรมเดินหน้าผลักดันให้หลายอุตสาหกรรมเร่งกระจายห่วงโซ่อุปทานที่ตึงเครียดหลังวิกฤตโควิด
ประกาศการเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการยังมีขึ้นหลังจากที่ไบเดนได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับบรรดาผู้นำของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้สำหรับการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ที่แคมป์เดวิดของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อประสานข้อตกลงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงฉบับใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการกระทำของสหรัฐฯ ในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อรักษาอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
อ้างอิง: